รีเซต

“ล่าเพื่ออยู่รอด” เมื่อมนุษย์ต้องล่าช้าง เพื่อบรรเทาวิกฤตความหิวโหย

“ล่าเพื่ออยู่รอด” เมื่อมนุษย์ต้องล่าช้าง เพื่อบรรเทาวิกฤตความหิวโหย
TNN ช่อง16
3 ตุลาคม 2567 ( 21:01 )
23
“ล่าเพื่ออยู่รอด” เมื่อมนุษย์ต้องล่าช้าง เพื่อบรรเทาวิกฤตความหิวโหย

บนโลกนี้ มีสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์นับล้านที่อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยแต่ละสายพันธุ์ต่างก็มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ขณะเดียวกัน บางสายพันธุ์ก็ต้องล่าสายพันธุ์อื่น เพื่อความอยู่รอดและความปลอดภัยของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น เสือ สิงโต หมี ฉลาม หรือแม้กระทั่งมนุษย์เอง


ท่ามกลางภาวะโลกร้อนที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  ทรัพยากรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายค่อย ๆ หายไป บางสายพันธุ์ถึงขั้นสูญสิ้นไปจากโลกใบนี้ ส่วนสายพันธุ์ที่เหลืออยู่ต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อให้ตนเองมีชีวิตรอด แม้จำเป็นต้องคุกคามสายพันธุ์อื่นก็ตาม 


เช่นเดียวกับที่มนุษย์ในบางประเทศ อย่างแอฟริกา เริ่มหันมาล่าสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น หลังภูมิประเทศต้องเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก จนไม่เกิดวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงหลายประเทศในแอฟริกาส่วนใหญ่ เป็นประเทศยากจน ทำให้ประชาชนนับล้านไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ง่าย 


รัฐบาลหลายประเทศจึงออกนโยบายคัดเลือกสัตว์ป่านานาชนิด เพื่อนำเนื้อของพวกมันมาแจกจ่ายให้ประชาชน หวังบรรเทาวิกฤตความหิวโหยที่กำลังเผชิญอยู่ ขณะเดียวกัน นโยบายนี้กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักอนุรักษ์ พร้อมกับเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหันมาแก้ปัญหาด้วยวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ 


---จำเป็นต้องล่า เพื่อให้มนุษย์อยู่รอด--- 


ประเทศล่าสุดที่ออกมาประกาศว่า จะทำการล่าสัตว์ป่า เพื่อบรรเทาความอดอยากให้กับประชาชน คือ “ซิมบับเว” เพราะรัฐบาลเตรียมล้มช้างจำนวนราว 200 ตัว เพื่อนำเนื้อของพวกมันมาแจกจ่ายประชาชนทั่วประเทศ หลังภัยแล้งคุกคามทั่วภูมิภาคแอฟริกาใต้ จนทำให้น้ำ อาหาร ไม่มีเหลือเพียงพอกับประชากรในพื้นที่ 


เราจะนำเนื้อไปให้กับกลุ่มเปราะบาง และผมแน่ใจว่า คุณก็รู้ว่า รัฐบาลมีการจัดตั้งระบบอยู่แล้ว ถ้าคุณไปที่กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพียงแค่คลิกเดียว คุณก็จะรู้ได้ว่าใครอยู่ที่ไหน, ใครเป็นกลุ่มเปราะบาง, ผู้สูงอายุ, ผู้ด้อยโอกาส, เด็ก ผู้หญิง และจำนวนฐานข้อมูลมากมายอยู่ที่นั่นหมดแล้ว” ทินาเช ฟาราโว หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กร หน่วยงานจัดการอุทยานและสัตว์ป่าซิมบับเว กล่าว 


การประกาศครั้งนี้มีขึ้น หลังนามิเบียก็ประกาศจะคัดเลือกสัตว์ป่าจำนวน 723 ตัว ประกอบไปด้วย ม้าลาย 300 ตัว, ละมั่ง และบลูไวลเดอร์บีส อย่างละ 100 ตัว, ช้าง 83 ตัว, ควาย 60 ตัว, อิมพาลา 50 ตัว และฮิปโป 30 ตัว เพื่อแจกจ่ายเป็นอาหารให้ประชาชนเกือบครึ่งประเทศ ที่กำลังเผชิญวิกฤตความอดอยาก 


แม้ทั้ง 2 ประเทศ จะถูกตั้งคำถามถึงวิธีการแก้ไขปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร แต่ท่ามกลางประชาชนราว 30 ล้านคนทั่วภูมิภาคแอฟริกาใต้เผชิญความหิวโหย วิธีการนี้ อาจจะเป็นทางออกที่ดีสุดสำหรับประเทศพวกเขา


ขณะเดียว มีรายงานว่า มีประชาชนเสียชีวิตคิดเป็น 2 ต่อ 10,000 คน จากวิกฤตความหิวโหยในทุกวัน 


“ผมไม่คิดว่า เราต้องฟังอะไร เพราะตอนนี้ ผมได้รับรายงานเหล่านี้ค่อนข้างเยอะมาก บางคนถึงกับให้คำมั่นว่า “เราจะให้เงินคุณนะ ฉะนั้นอย่าฆ่าช้างเลย” จำนวนพวกนี้ไม่ใช่ความยั่งยืน ในฐานะประเทศ เราเชื่อในการใช้อย่างยั่งยืน แต่เพราะแรงกดดันเหล่านี้จากหน่วยงานทั่วภูมิภาค เราไม่สามารถที่จะทนดูได้อีกต่อไป” ฟูลตัน แมนกวันยา อธิบดีกรมอุทยานและการจัดการสัตว์ป่าซิมบับเว กล่าว 


---หลายประเทศยากจน ประชาชนไม่มีเงินแม้จะซื้อเนื้อสัตว์---


ข้ามมายังประเทศซูดานใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคแอฟริกาตะวัน หนึ่งในประเทศที่ยากจนข้นแค้น และเผชิญความความอดอยากขั้นวิกฤต ประชาชนมากกว่า 82% มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า 1.9 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 62 บาท ขณะที่ เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มากกว่า 1.6 ล้านคน ต้องทนทุกข์ทรมานจากภาวะทุพโภชนาการ


ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรในประเทศที่ต่ำ การจะซื้อเนื้อ เพื่อมาทำอาหาร เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก พวกเขาไม่มีทางเลือก จึงต้องตัดสินใจล่าสัตว์ป่า เพื่อนำมาเป็นอาหารให้แก่ครอบครัว 


ไมเคิล อาลิเออร์ ชาวซูดาน วัย 28 ปี เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเดินทางเข้าป่า เพื่อหาอาหาร เขาบอกว่า เนื้อวัวและเนื้อแพะมีไว้เพื่อขาย แต่ราคาเนื้อพวกนี้แพงมาก เงินเดือนพนักงานรักษาความปลอดภัยแค่ 166 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5,500 บาทของเขา ไม่เพียงพอที่จะซื้อได้ 


“ชีวิตบังคับให้เราต้องออกไปและล่า” อาลิเออร์ กล่าว 


เนื้อที่เขาได้มาจากป่า จะต้องเลี้ยงคนในครอบครัว 9 คน หากเขากลับมามื้อเปล่า นั่นหมายความว่า พวกเขาจะอดอาหารในบางมื้อ ฉะนั้น เขาต้องออกล่าสัตว์ป่าอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 


การออกไปล่าสัตว์ของเขาแต่ละครั้ง ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ เนื่องจากจะมีแก๊งติดอาวุธคอยออกล่าละมั่งบ่อยครั้ง เพื่อนำไปขาย เปลี่ยนพื้นที่ล่าสัตว์ให้เต็มไปด้วยความอันตราย แม้อาลิเออร์จะรับรู้ถึงความเสี่ยงนี้ แต่เขารู้สึกว่า เขาไม่มีทางเลือก 


“ถูกแก๊งติดอาวุธฆ่าตายยังดีกว่าต้องอดอาหารตายอยู่ที่บ้าน” เขา กล่าว 


ด้านซิมบับเว สหประชาชาติ หรือ UN ประมาณการไว้ว่า ประชาชนในประเทศราว 42% ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ความยากจน ผู้คนประมาณ 6 ล้านคนต้องการความช่วยเหลือทางอาหารระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อาหารขาดแคลน  


“เราไม่สามารถทิ้งประชาชนให้ตายไปพร้อมกับความหิวโหยได้ เรามีประชากรช้างมากเกินไป และช้างเหล่านี้ ก็ทำลายที่อยู่อาศัยของพวกเขา และยังทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์อื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดการกัดกร่อน ช้างทำลายทุกอย่าง รวมถึงฆ่าคนด้วย” แมนกวันยา กล่าว 


---ภัยแล้งคุกคามแอฟริกาใต้หนัก กระทบแหล่งอาหาร---


ทั่วภูมิภาคแอฟริกาใต้เผชิญกับภภัยแล้งที่รุนแรงสุดในรอบ 40 ปี ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2023 อุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลให้ผลตกน้อยลงกว่าเดิม จากแต่เดิมฝนก็ตกน้อยอยู่แล้ว โดยภูมิภาคนี้ได้รับปริมาณน้ำฝนที่ต้องการน้อยกว่า 20%


ผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญ กอปรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรง หลายประเทศอย่าง นามิเบีย, ซิมบับเว, มาลาวี และแซมเบีย ต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยแล้ง 


UN เผยว่า ภัยแล้งในปัจจุบันมีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน และในบางกรณีก็ส่งผลถึงแก่ชีวิต โดยเฉพาะกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี 


นอกจากนี้ ภัยแล้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้หญิงจะถูกทำร้ายมากขึ้น เนื่องจากพวกเธอจะมีหน้าที่ไปคอยตักน้ำจากบึงต่าง เพื่อเอามาไว้ใช้ในบ้าน เมื่อภัยแล้งคุกคามหนัก ทำให้น้ำแห้งเหือด พวกเธอจึงต้องเดินทางไกลออกไปอีก เพื่อตามหาแหล่งน้ำ เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายเพิ่มขึ้น 


---นักอนุรักษ์ท้วงรัฐบาล ยกเลิกแผนล่า--- 


แผนการคัดเลือกช้าง เพื่อลดวิกฤตความหิวโหยของซิมบับเวและนามิเบีย ถูกกลุ่มนักอนุรักษ์ออกมาประท้วงอย่างหนัก และเรียกร้องให้ยกเลิกแผนดังกล่าว 


องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก มองว่า การดำเนินนโยบายนี้ เป็นปัญหาและขัดขวางความพยายามอนุรักษ์ช้างที่เพิ่มมากขึ้นในซิมบับเวตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา 


“ในขณะที่เราตระหนักรู้ถึงความรุนแรงของภัยแล้ง แต่การล่าช้างไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาวิกฤตอาหารอันเร่งด่วนได้มากพอ นอกจากนี้ การคัดเลือกช้างไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุของการเกิดภัยแล้ง การตัดสินใจนี้ เสี่ยงจุดชนวนการรุกรานขึ้นอีกครั้ง รวมถึงการฆ่างาช้างที่ผิดกฎหมายด้วย” เทนนีซัน วิลเลียมส์ ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประจำแอฟริกา กล่าว 


ทั้งนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก ได้เสนอคำแนะนำแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ถึงการแก้ปัญหาวิกฤตความอดอยาก ดังนี้ 


1.ระยะสั้น: ยกเลิกแผนล่าช้าง และทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง 


2.ระยะยาว: ระดมทรัพยากร เพื่อวางโครงสร้างที่เหมาะสม เพื่อให้แน่ใจว่า มีการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำชลประทาน เพื่อใช้ในเกษตรกรรม มากกว่าจะทำการเกษตรแบบพึ่งพาฝนเพียงอย่างเดียว เพื่อทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน


3.ขอรับเงินสนับสนุนช่วยเหลือ เพื่อย้ายถิ่นฐานของช้างจากพื้นที่ที่มีประชากรล้น ไปยังพื้นที่ที่เหมาะสม 


“องค์กรพิทักษ์สัตว์โลก เชื่อว่าความยั่งยืนที่แท้จริงขึ้นอยู่กับการหาวิธี เพื่อช่วยเหลือทั้งผู้คนและโลก โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งมีชีวิตใดชีวิตหนึ่งต้องเสียสละ” วิลเลียมส์ กล่าว 


แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:


Zimbabwe defends elephant cull to ease drought driven hunger - AFP 

https://www.theguardian.com/world/2024/sep/14/zimbabwe-orders-cull-of-200-elephants-amid-food-shortages-from-drought

https://www.worldanimalprotection.org/latest/press-releases/zimbabwes-government-elephant-cull/

https://www.un.org/unispal/wp-content/uploads/2024/03/IPC_Famine_Factsheet.pdf

https://www.aljazeera.com/features/2024/10/3/in-south-sudan-hunger-complicates-plans-to-end-wildlife-poaching

https://www.aljazeera.com/news/2024/8/30/why-is-namibia-culling-elephants-and-hippos-for-meat

ข่าวที่เกี่ยวข้อง