เปิดตัวแนวคิดใหม่วางกังหันขนาดเล็กในคลองเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
บริษัท เอ็มอาร์จี (Emrgy) บริษัทผลิตเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกา เสนอวิธีการแก้ปัญหาด้านพลังงานด้วยการวางกังหันขนาดเล็กในคลองส่งน้ำบริเวณนอกเมืองเดนเวอร์ (Denver) ความยาว 9 ไมล์ หรือประมาณ 15 กิโลเมตร คลองนี้จะส่งน้ำไปยังโรงบำบัดน้ำในท้องถิ่น กังหันจะเริ่มหมุนเมื่อมีน้ำไหลผ่าน และในขณะที่กังหันหมุนจะทำให้เกิดการผลิตพลังงานไฟฟ้าป้อนกลับไปยังโรงบำบัดน้ำ จึงเป็นการลดการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าให้น้อยลง
การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำครั้งนี้ แตกต่างจากการผลิตด้วยเขื่อนแบบดั้งเดิม ซึ่งบริษัทผลิตเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอย่างเอ็มอาร์จี (Emrgy) ต้องการนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาการผลิตพลังที่สามารถปรับใช้ได้อย่างรวดเร็ว และทำได้ดีไม่แพ้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งบริษัทได้ทำการระดมทุนได้แล้วกว่า 18.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6,239 ล้านบาท
เนื่องจากเขื่อนสร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก บริษัท เอ็มอาร์จี (Emrgy) จึงหันมาพัฒนาวางกังหันขนาดเล็กในแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำหรือลำธารทดแทน ซึ่งในช่วงเริ่มต้นได้เน้นไปที่การวางกังหันขนาดเล็กในคลองชลประทานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม
นอกจากบริเวณนอกเมืองเดนเวอร์แล้ว ยังมีการติดตั้งกังหันลมอีกแห่งอยู่ในคลองชลประทานเพื่อการเกษตรในเซ็นทรัลวัลเลย์ (Central Valley) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ทั้งนี้โครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำถือเป็นพื้นที่สีน้ำตาล หรือที่ดินบราวน์ฟิลด์ (Brownfield) หรือพื้นที่ที่เคยใช้ประโยชน์ด้านอุตสาหกรรมมาก่อน จึงได้รับการอนุญาตให้ติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว โดยพื้นที่บนฝั่งกังหันลมจะเชื่อมต่อกับอินเวอร์เตอร์ทั่วไปที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์
ประมาณเกือบ 20% ของไฟฟ้าของรัฐในแคลิฟอร์เนียถูกนำไปใช้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ดังนั้นอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าเหล่านี้จึงจะเข้ามาช่วยชดเชยความต้องการพลังงานบางส่วนได้ โดยกังหันแต่ละตัวมีกำลังไฟฟ้าอยู่ระหว่าง 5 ถึง 25 กิโลวัตต์ ขึ้นอยู่กับความลึก และความเร็วของน้ำ ซึ่งอุปกรณ์หนึ่งเครื่องสามารถผลิตพลังงานได้เท่ากับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ขนาดมาตรฐานจำนวน 60 หรือ 70 แผง
แม้ว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยระบบนี้อาจยังไม่สามารถครอบคลุมการจ่ายไฟฟ้าได้ตามความต้องการทั้งหมด แต่การนำกังหันขนาดเล็กหลายตัวมาใช้ในคลองสามารถสร้างความแตกต่างได้ โดยสามารถใช้งานร่วมกับแผงโซลาร์เซลล์แบบลอยน้ำในลำคลอง ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สร้างจากกระแสน้ำที่มีการไหลอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าต้นทุนในการติดตั้งกังหันขนาดเล็กในลำคลองจะสูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์ แต่เทคโนโลยีนี้สามารถผลิตพลังงานได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นกังหันขนาดเล็กจึงสามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้ในปัจจุบัน และกังหันยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเหนือกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ
ที่มาของข้อมูล Fast Company
ที่มาของรูปภาพ Emrgy