จีนทดสอบต้นแบบ Hyperloop สำเร็จครั้งแรกตั้งเป้า 1,000 กม./ชม.
บริษัท การบิน อวกาศ วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม หรือ China Aerospace Science and Industry Corporation (CASIC) ประเทศจีนประสบความสำเร็จพัฒนาต้นแบบไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ระบบขนส่งความเร็วสูงที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางของมนุษย์ในอนาคต
การทดสอบต้นแบบไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) มีขึ้น 3 ครั้ง ในเมืองต้าถง มณฑลชานซี ไฮเปอร์ลูป สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ที่ 31 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากเป็นเวอร์ชันต้นแบบจึงเริ่มจากการทำความเร็วในระดับนี้ก่อนเพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายการทำความเร็วมากกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อุโมงค์สุญญากาศและรางแม่เหล็กด้านในมีความยาว 1.24 ไมล์ หรือประมาณ 2 กิโลเมตร บริษัทมีเป้าหมายขยายระยะทางการทดสอบเป็น 37 ไมล์ หรือประมาณ 60 กิโลเมตรในอนาคต
พื้นฐานของเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงทำให้จีนสานต่อไปพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ในช่วงเวลา 20 ปี ที่ผ่านมาประเทศจีนกลายเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงโดยปัจจุบันมีความยาวของรางรถไฟความเร็วสูงรวมกันทั้งประเทศกว่า 42,000 กิโลเมตร นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังมีแผนการระยะยาวที่ต้องการเพิ่มความเร็วรถไฟความเร็วสูงเป็น 248 ไมล์ต่อชั่วโมง หรือประมาณ 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในอนาคต
เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ได้รับการพัฒนามานานแล้วนับจากอดีต แต่สำหรับเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปสมัยใหม่และที่ได้รับการยอมรับถูกนำเสนอขึ้นในปี 2012 โดยอีลอน มัสก์ ผู้บริหารบริษัท เทสลา (Tesla) และสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่ได้รวมทีมวิศวกรของบริษัทสร้างเอกสารอธิบายการทำงานของเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูปสมัยใหม่ขึ้นมาชื่อว่าเอกสารไฮเปอร์ลูปอัลฟา (Hyperloop Alpha) เพื่อแจกจ่ายให้บริษัทอื่น ๆ ที่สนใจนำไปพัฒนาต่อยอดได้ฟรี ๆ
เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ใช้หลักการนำรถไฟพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าไปวิ่งในอุโมงค์สุญญากาศ เมื่อในอุโมงค์ไม่มีอากาศรถไฟพลังงานแม่เหล็กจึงสามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูง เนื่องจากไม่มีแรงต้านของอากาศเกิดขึ้น โดยหลักการแล้วรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งในท่อสุญญากาศอาจสามารถทำความเร็วได้มากกว่า 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังไม่มีบริษัทไหนสามารถพัฒนาไฮเปอร์ลูปให้สามารถทำความเร็วไปถึงระดับนั้น
ที่มาของข้อมูล Interestingengineering.com
ที่มาของรูปภาพ cccme.cn