สรุป! กรกฎาคม 2564 9 วันแรก...เราเจออะไรบ้าง?
"จากนี้ไปเราจะมีแต่ รอยยิ้มให้กันนะจ๊ะ" คำกล่าวขอบคุณของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเข้ารับพระบรมราชโองการฯ เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของไทย เมื่อปี 2562 ซึ่งถือเป็นปีที่แรกของการเข้ารับตำแหน่ง หลังจากก่อรัฐประหารในประเทศไทย ปี 2557 และเป็นคณะรัฐประหารที่ปกครองประเทศไทยในปี 2557 เมื่อย้อนดูนโยบายเร่งด่วนที่เคยให้ไว้กับประชาชนอย่างเรา ๆ จะจับต้องได้ ทำได้จริง ทำได้ทันที เป็นประโยชน์ ภายใน 1 ปีนั้น มีนโยบาย ดังนี้
1. การสานต่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
2. นโยบายมารดาประชารัฐ
3. การจ่ายเงินอุดหนุนให้กับเด็กแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ
4. การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กวัยเรียนให้ได้เข้าเรียนตามศักยภาพทุกคน
5. การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ พร้อมกับปรับทักษะให้สามารถทำงานและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า มีความสุข ตลอดจนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
6. การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน
7. การยกระดับ อสม.ประจำหมู่บ้าน
8. ยกระดับระบบการแพทย์ทางไกล เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงในทุกพื้นที่
9. การปรับปรุงระบบโครงสร้างอัตราภาษีและระบบการให้สินเชื่อทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถวางแผนในการจัดหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ตามความพร้อมทางการเงิน
10. การลดต้นทุนและยกระดับรายได้เกษตรกร ด้วยการจัดให้มีระบบเครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่
11. การให้ความสำคัญกับพืชเศรษฐกิจ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์ม และยางพารา
12. การพักหนี้กองทุนหมู่บ้าน
จากนโยบายเร่งด่วนดังกล่าวดำเนินมาเรื่อย ๆ กระทั่ง ปี 2563 เกิดโรคอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยกับโรคระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นรูปแบบใหม่ ต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาและให้ถูกต้อง ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อลดเชื้อเพื่อชาติ รวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่ทยอยออกมารับมือกับโรคโควิด เช่น มาตรการล็อกดาวน์ประเทศ แบ่งพื้นที่สี มาตรการเยียวยาในสถานการณ์วิกฤต เป็นต้น
แต่สงคราม "โรค" อย่างโควิดทวีความรุนแรงตั้งแต่ระลอก 1 ระลอก 2 และระลอก 3 จนถึงปี 2564 ตั้งแต่ต้นปีโควิดยกระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ภาครัฐออกโรงว่า "เอาอยู่ ๆ" ทว่าเหมือนจะ "เอาไม่อยู่" หลังเริ่มมีปัญหาการเลื่อนฉีดวัคซีน วัคซีนที่ดิวไว้เริ่มส่งล่าช้าด้วยปัจจัยสารพัด ปัญหาไวรัสกลายพันธุ์อยู่ในไทยครบทุกตัว แถมอาจจะมีสายพันธุ์ แลมบ์ด้า เพิ่มมาอีก เตียงไม่พอเพียง บุคคลกรทางการแพทย์ พยาบาล ด่านหน้าเริ่มติดเชื้อ ทั้งผู้ติดเชื้อปกปิดไทม์ไลน์ ผุ้ป่วยเริ่มล้น ฯลฯ ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม เดือนมิถุนายนเริ่มขยับเพิ่มขึ้น กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2564 พุ่งสูงขึ้นจนถึงวันนี้ 9 ก.ค.64 แตะ 9 พันราย ตายกว่า 70 ราย
และเดือนนี้ TrueID สรุปเหตุการณ์ 1 - 9 กรกฎาคม 2564 9 วันนี้ วันสำคัญเราเจออะไรกันบ้าง? อาจเป็นประโยชน์เพื่อให้เห็นว่า สิ่งที่เราต้องรับมือนั้น ต้องรับมืออย่างไร ใช้ชีวิตกันอย่างไรต่อไป
เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนโควิดวายร้ายทำตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 - 9 กรกฎาคม 2564 พบว่า
- 1 ก.ค +5,533 ตาย 57
- 2 ก.ค +6,087 ตาย 61
- 3 ก.ค +6,230 ตาย 41
- 4 ก.ค +5,916 ตาย 44
- 5 ก.ค +6,166 ตาย 50
- 6 ก.ค +5,420 ตาย 57
- 7 ก.ค +6,519 ตาย 54
- 8 ก.ค +7,058 ตาย 75
- 9 ก.ค +9,276 ตาย 72
โดยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และจำนวนผู้เสียชีวิต 9 วันแรกของเดือนกรกฎาคม 2564 เพิ่มจำนวนมากขึ้น
5 ก.ค. ระเบิดโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ซ้ำเติม
โดยเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวสร้างความสุญเสียมหาศาล รวมทั้ง การสูญเสียฮีโร่อาสากู้ภัย "พอส" จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานหมิงตี้ ทั้งนี้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. สรุปความเสียหาย ดังนี้
- บ้านเรือน ปชช. 73 หลัง
- รถยนต์เสียหาย 15 คัน
- ปชช.บาดเจ็บ 50 ราย
- อาสาสมัครบาดเจ็บ 12 ราย
- เสียชีวิต 1 ราย
อีกทั้ง ระเบิดกิ่งแก้วไฟไหม้ ไม่เพียงกระทบประชาชนเท่านั้น แต่สัตว์เลี้ยง หรือสัตว์จรต่าง ๆ ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม เกิดคำถามในสังคมว่า "ทำไมผังเมืองถึงให้ก่อสร้างโรงงานใกล้ชุมชน" และเหตุการณ์ครั้งนี้ยืดเยื้อจนถึงวันที่ 7 กรกฎาคมกว่าจะควบคุมเพลิงให้สงบลงได้
6 ก.ค. โรงงานลาดกระบังไฟไหม้
ขณะที่ เย็นวันที่ 6 ก.ค. เวลา 17.40 น. โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ เกิดไฟที่ปะทุขึ้นมาอีกรอบ มีกลุ่มควันขึ้นมาเล็กน้อย ยังไม่ทันจะได้ดีใจ เกิดโรงงานไฟไหม้อีกที่ คือ โรงงานลาดกระบังไฟไหม้ และเวลา 19.45 น. โครงสร้างเริ่มมีการทรุดตัว แต่โชคดีที่เจ้าหน้าที่ควบคุมได้ทัน
ยังไม่ทันข้ามคืน เกิดเหตุลอบวางระเบิด ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ส่งผลให้เจ้าหน้าที่บาดเจ็บ จำนวน 3 ราย และข่าวร้ายคือ วันที่ 7 ก.ค. มีรายงานถึงความสูญเสีย เมื่อทหารกล้า "ส.อ.นิติพจน์ เพชรรัตน์" เสียชีวิตจากเหตุ ระเบิดจะนะ จ.สงขลา
7 ก.ค. เปิดประเทศไม่ทันไร พบนักท่องเที่ยวติดโควิด
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม วันแรกของ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เปิดประเทศอ้าแขนรับให้นักท่องเที่ยว แต่ดูเหมือนว่ากลับพบจุดเสี่ยง ต้องเฝ้าระวังอีก หลังพบนักท่องเที่ยวติดโควิดแล้ว 1 ราย
8 ก.ค. กระแสการล็อกดาวน์สนั่น
หลังจากตัวเลัขผุ้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น เกิดกระแสล็อกดาวน์ออกมาเป็นระลอก ผสมกับเรื่องวัคซีน เข็ม 3 จะให้ไม่ให้แพทย์ พยาบาล ด่านหน้าที่เสี่ยงการติดเชื้อมากที่สุด กลายเป็นข่าวที่เกิดการวิพากษวิจารณ์อย่างหนัก หลายฝ่ายต่างเสนอมาตรการคุมเข้ม รวมทั้ง สธ. ชง ศคบ. ล็อกดาว์เทียบเท่ามาตรการก เม.ย.63
9 ก.ค.ล็อกดาวน์ 14 วัน นายกฯ ประกาศไม่รับเงินเดือน ช่วยโควิด-19
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 9/2564 ผ่านระบบ Video Conference ในเวลา 10.00 น. หลังจากวันนี้มียอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 9,276 ราย มีผู้เสียชีวิตถึง 72 ราย โดยยอดผู้ติดเชื้อถือว่าเป็นนิวไฮสูงสุดของประเทศตั้งแต่มีการแพร่ระบาด
และพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการแก้สถานการณ์โควิด-19 ซึ่ง
เงินเดือนนายก เท่าไหร่?
- เงินของนายกฯ อยู่ที่เดือนละ 75,590 บาท
- มีเงินประจำตำแหน่งต่อเดือน 50,000 บาท
- 75,590 + 50,000 = 125,590 บาท
เมื่อไม่รับเงินเดือน จำนวน 3 เดือน จะรวมเป็นเงินที่ช่วยโควิด-19 เท่ากับ 376,770 บาท
- นายกฯ ประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน แก้ปัญหาโควิด
- เปิดรายชื่อ 'รัฐมนตรี' ขานรับนายกฯประกาศไม่รับเงินเดือน 3 เดือน
และนี่คือการเริ่มต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่เกิดเหตุการณ์สารพัดในประเทศไทย ทั้งโควิดที่ต้องรับมือ สารเคมีอันตรายที่สุดยังต้องระวัง ความสูญเสียชีวิตของประชาชน เจ้าหน้าที่ ที่ถัดจากนี้คงต้องระวังการใช้ชีวิตโดยเฉพาะสถานการณ์โควิดที่ไม่ลดละคร่าชีวิตผู้คนที่อาจเป็นไปได้ที่จะทยอยเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น เมื่อวัคซีนยังไม่มา การป้องกันที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง ตลอดเวลา ล้างมือบ่อย ๆ เว้นระยะห่าง และไม่ไปพื้นที่เสี่ยงกันนะ
เราจะจับมือผ่านเรื่องเลวร้ายนี้ไปด้วยกัน