รีเซต

สรุปมหากาพย์ Sam Altman และ OpenAI ใครไปใครอยู่ ใครสู้ใครถอย

สรุปมหากาพย์ Sam Altman และ OpenAI ใครไปใครอยู่ ใครสู้ใครถอย
TNN ช่อง16
24 พฤศจิกายน 2566 ( 23:39 )
60
สรุปมหากาพย์ Sam Altman และ OpenAI ใครไปใครอยู่ ใครสู้ใครถอย

แซม อัลท์แมน (Sam Altman) ผู้ร่วมก่อตั้งโอเพ่นเอไอ (OpenAI) โดนปลดออกจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) แบบฟ้าฝ่าในวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายนตามเวลา และกลับมาเป็น CEO อีกครั้งในอีก 5 วัน ให้หลังเท่านั้น มหากาพย์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ TNN Tech ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้ว


OpenAI องค์กรไม่แสวงหากำไร สู่องค์กรแสวงหากำไร

ในปี 2015 นักธุรกิจ นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่รวมถึงแซม อัลท์แมน และมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีอย่าง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) และปีเตอร์ ทีล (Peter Thiel) ผู้บริหารเพย์แพล (PayPal) ได้ร่วมกันลงขันตั้งโอเพ่นเอไอ (OpenAI) ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทั่วไป (Artificial General Intelligence: AGI) หรือ AI ที่ฉลาดทัดเทียมกับมนุษย์ แต่เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ ด้วยเงินทุนรวมกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 35,000 ล้านบาท แบบไม่แสวงหากำไร


ต่อมาในปี 2017 บริษัทได้พัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของ AI ที่ชื่อว่า GPT (Generative Pre-trained Transformers) ซึ่งสามารถทำงานคล้ายกับสมองมนุษย์ที่เข้าใจข้อมูลมหาศาลและเรียนรู้เพื่อตอบคำถามมนุษย์ได้ ซึ่งการพัฒนาต่อจากนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาล ก่อนที่ในปี 2019 OpenAI จะผันตัวเป็นบริษัทโฮลดิ้ง (Holding company) ที่ถือหุ้นในบริษัทใหม่ที่เรียกว่า OpenAI Global LLC ที่ตั้งมาเพื่อหารายได้โดยเฉพาะ


และหลังจากนั้นไม่นาน ไมโครซอฟต์ (Microsoft) ก็ได้ลงทุนกับ OpenAI กว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยแลกกับสิทธิ์ในการใช้นวัตกรรม AI บางตัวของ OpenAI และเปิดตัวแชตจีพีที (ChatGPT) บริการถามตอบกับปัญญาประดิษฐ์ชื่อดังในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในบริการที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลกในปัจจุบัน และยังทำให้ไมโครซอฟต์เพิ่มเงินลงทุนอีก 10 เท่า เป็น 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 350,000 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาอีกด้วย


จุดแตกหักของ OpenAI ก็ไม่พ้นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ

จากการทำงานเพื่อมนุษยชาติ สู่การพัฒนาเพื่อการค้า ทำให้ อิลยา ซุทซ์เคเวอร์ (Ilya Sutskever) ผู้ร่วมก่อตั้ง OpenAI จากอิสราเอล เชื่อว่าแซม อัลท์แมนไม่ได้บริหาร OpenAI เพื่อมนุษยชาติอีกต่อไป และด้วยตำแหน่งคณะกรรมการของบริษัท (บอร์ด) ของเขาทำให้เขามองว่าเทคโนโลยีที่ OpenAI มีในตอนนี้ กำลังกลายเป็นภัยต่อมนุษยชาติ


เขาจึงได้โน้มน้าวให้อดัม ดีแอนเจโล (Adam D’Angelo) CEO แพลตฟอร์มฟอรัมถามตอบโควรา (Quora), นักลงทุน ทาชา แมกเคาลีย์ (Tasha McCauley) และเฮเลน โทนเนอร์ (Helen Toner) นักวิจัยด้านความปลอดภัยของ AI รวมหัวกัน “รัฐประหาร” โดยการเรียกประชุมเพื่อปลดแซม อัลท์แมนออกจากตำแหน่ง CEO และผ่านมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ เนื่องจากเสียงฝั่งอัลท์แมนมีไม่เพียงพอ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน


ทั้งนี้มีรายงานจากสื่อที่ชื่อว่าดีคริปต์ (Decrypt) ว่าผู้เชี่ยวชาญด้าน AI หลายคนตั้งทฤษฎีว่า OpenAI อาจค้นพบความสามารถของ AI ที่สำคัญถึงขั้นไม่สามารถเปิดเผยออกสู่สาธารณะได้ ซึ่งอาจเป็นทางแยกสำคัญระหว่างการทำต่อเพื่อมนุษยชาติหรือการเดินหน้าสู่องค์กรเพื่อกำไรเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตาม OpenAI ไม่ได้ให้ความเห็นกับรายงานชิ้นนี้แต่อย่างใด


สิ่งที่บอร์ด OpenAI ว่าดี ไม่ได้แปลว่าคนอื่นจะเห็นว่าดีตามไปด้วย

แต่ไม่ถึง 24 ชั่วโมง ให้หลังจากที่ปลดแซม อัลท์แมนจากเก้าอี้แบบสายฟ้าแลบ พนักงานกว่า 500 คน จากทั้งหมด 770 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงบอร์ดเพื่อกดดันให้บอร์ดทั้งหมดลาออก พร้อมกับแสดงเจตจำนงลาออกหาก OpenAI ไม่มีแซม อัลท์แมนอีกต่อไป จนบอร์ดต้องหารือเพื่อหาทางนำอดีต CEO ที่เพิ่งไล่ไปกลับมานั่งรักษาบริษัทเอาไว้


ในขณะเดียวกัน วันที่ 19 พฤศจิกายน แซม อัลท์แมนก็ถูกเชิญให้เป็นผู้บริหารคนใหม่ของแผนก AI ที่ไมโครซอฟต์ จะตั้งเพื่อรองรับเจ้าตัวโดยเฉพาะ และทำให้พนักงานเกือบทั้งหมด พร้อมลาออกมาทำงานกับแซม อัลท์แมนด้วยในวันที่ 20 พฤศจิกายน ทำให้สถานการณ์ภายใน OpenAI ระส่ำระสายเป็นอย่างมาก


ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ตามเวลาท้องถิ่น อัลท์แมน บรรลุข้อตกลงในการกลับมานั่งเก้าอี้ CEO แลกกับการที่เขาจะเข้ามาตั้งบอร์ดเอง ซึ่งในรายชื่อยังคงเก็บอดัม ดีแอนเจโล เอาไว้ แต่ไม่มีชื่อของอิลยา ซุทซ์เคเวอร์ อีกต่อไป โดยสัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) CEO ของไมโครซอฟต์ กล่าวว่า “นี่เป็นก้าวแรกที่สำคัญในการกำกับทิศทางของบริษัทที่มั่นคง มีแบบแผน และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”


การกลับมาของ Sam Altman ที่อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของปัญหาครั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์จากการ์ทเนอร์ (Gartner) บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา มองว่าการกลับมาในครั้งนี้อาจเป็นการกลับมาที่น่ากลัว เพราะทุกย่างก้าวต่อจากนี้ของอัลท์แมนจะมีสายตาจากทุกมุมคอยจับจ้อง พร้อมกล่าวว่า “อัลท์แมนจะไม่สามารถทำผิดอะไรได้อีกต่อไป” 


ปัจจุบัน OpenAI ได้รับการประเมิน (Valuation) ว่าบริษัทในส่วนที่เน้นการทำกำไร (OpenAI Global LLC) มีมูลค่ามากกว่า 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 2.88 ล้านล้านบาท ทำให้ไมโครซอฟต์ในฐานะนักลงทุนรายใหญ่ของ OpenAI ไม่สามารถอยู่เฉยได้ตลอดเรื่องราวทั้งหมดที่ผ่านมา โดยต่อจากนี้ OpenAI อาจกลายเป็นบริษัทที่กำหนดทิศทางของการใช้ AI โดยมีไมโครซอฟต์กุมบังเหียนอยู่ก็เป็นได้


ที่มาข้อมูล Jagran JoshThe Indian ExpressDecryptCBCWIO News


ข่าวที่เกี่ยวข้อง