รีเซต

โลกร้อนน้ำทะเลสูง กทม.-สมุทรปราการเสี่ยงจมน้ำ

โลกร้อนน้ำทะเลสูง กทม.-สมุทรปราการเสี่ยงจมน้ำ
TNN ช่อง16
23 กรกฎาคม 2568 ( 16:46 )
21

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย เตือนว่าโลกร้อนส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.8 มม. ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ และสมุทรปราการทรุดตัวลงปีละ 1–2 ซม. ซึ่งอาจนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงที่ทั้งสองพื้นที่อาจจมอยู่ใต้น้ำภายในปี 2050 หากไม่มีการรับมืออย่างจริงจัง 



โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้แหล่งน้ำหรือพื้นที่ที่มีการสูบน้ำบาดาลเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ดินยุบตัวเร็วกว่าปกติ ปัจจัยหลักมาจากการใช้น้ำบาดาลเกินขนาด การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ และการถมที่ดินบนชั้นดินเหนียวอ่อน ซึ่งมีคุณสมบัติทรุดตัวได้ง่ายเมื่อรวมกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.8 มิลลิเมตร ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำทะเลท่วมสูงและการกัดเซาะอย่างรุนแรง


องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) รายงานว่า ในช่วงปี 2025–2029 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้นระหว่าง 1.2–1.9 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (ค.ศ.1760–1825) โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกในปัจจุบันได้แตะ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว ซึ่งเป็นระดับที่ถูกเตือนว่าเป็น "ขีดอันตราย" ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งละลาย รวมถึงน้ำทะเลเกิดการขยายตัว ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นเฉลี่ย 21–24 เซนติเมตร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราเร่ง ประมาณ 3.6 มิลลิเมตรต่อปี

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนของผลกระทบคือ “วัดขุนสมุทรจีน” ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในอดีตเคยมีพื้นที่กว่า 76 ไร่ ปัจจุบันเหลือเพียง 5 ไร่ เนื่องจากถูกน้ำทะเลกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นวัดที่ตั้งอยู่กลางทะเล และถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งมากที่สุดในประเทศไทย


ด้วยแนวโน้มโลกร้อนที่ยังคงทวีความรุนแรง หากประเทศไทยไม่เร่งปรับตัวและวางแผนป้องกันอย่างจริงจัง กรุงเทพฯ และสมุทรปราการอาจเผชิญกับน้ำท่วมถาวรภายในปี 2050 ซึ่งไม่ใช่แค่ภัยธรรมชาติ แต่คือภัยจากน้ำมือมนุษย์ที่เร่งให้ทุกอย่างเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง