รีเซต

ย้ำหลักเกณฑ์! "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ยังยึดตามเดิม ไม่จ่ายประโยชน์ซ้ำซ้อน

ย้ำหลักเกณฑ์! "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ยังยึดตามเดิม ไม่จ่ายประโยชน์ซ้ำซ้อน
TNN ช่อง16
2 กันยายน 2565 ( 12:12 )
59
ย้ำหลักเกณฑ์! "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ" ยังยึดตามเดิม ไม่จ่ายประโยชน์ซ้ำซ้อน

วันนี้ (2 กันยายน 2565) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ได้มีการส่งต่อข้อความในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุว่าขณะนี้ได้มีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กลุ่มผู้ได้รับบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษหรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันจากรัฐ สามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อีกทางหนึ่งด้วยนั้น


รัฐบาลขอชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง ปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุยังยึดหลักเกณฑ์ตามระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุ (กผส.) และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่เพิ่มเติม พ.ศ. 2561 ที่กำหนดไม่ให้มีการจ่ายเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับประโยชน์อื่น


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้เกิดกรณีที่ผู้สูงอายุที่รับบำนาญ หรือเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน เช่น การรับบำนาญต่อจากบุตรที่เสียชีวิตแล้ว ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย กระทั่งเกิดกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฟ้องร้องเรียกเบี้ยยังชีพคืนเนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย  แต่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้สูงอายุจากกรณีดังกล่าว คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 65 ที่ผ่านมา ได้มีมติให้คืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่รับประโยชน์ซ้ำซ้อนที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 245.24 ล้านบาท รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีกรณีที่ได้มีการดำเนินคดีเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยทั้งหมดให้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ ครม.มีมติ


น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า จากปัญหาข้างต้น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จึงอยู่ระหว่างการนำเสนอแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุ(กผส.) เพื่อให้เกิดความชัดเจน เมื่อมีระเบียบของ กผส. ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะได้ปรับปรุงระเบียบให้สอดคล้องกัน และประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป


ดังนั้น ในระหว่างระเบียบการจ่ายเบี้ยยังชีพยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงให้เกิดความชัดเจน การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ณ ปัจจุบันจึงยังต้องยึดหลักเกณฑ์เดิมนั่นคือ ต้องเป็นผู้ มีสัญชาติไทย อายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใจจากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่  ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่รวมถึงผู้พิการหรือผู้ป่วยเอดส์ หรือผู้ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติ ครม.


“ขณะนี้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการวางแนวนโยบายและกฎระเบียบให้มีความชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบกับผู้สูงอายุอีก เมื่อมีความชัดเจนแล้วจะประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป จึงขอให้ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุติดตามตรวจสอบประกาศระเบียบที่เป็นทางการ ไม่หลงเชื่อข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์โดยง่าย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว





ภาพ TNN Online 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง