รีเซต

‘ตัดเบี้ยผู้สูงอายุ’ กับโจทย์อนาคตไทยผู้สูงวัยเพิ่มเท่าตัว จาก 'ถ้วนหน้า' เป็น 'พุ่งเป้า'

‘ตัดเบี้ยผู้สูงอายุ’ กับโจทย์อนาคตไทยผู้สูงวัยเพิ่มเท่าตัว จาก 'ถ้วนหน้า' เป็น 'พุ่งเป้า'
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2566 ( 07:58 )
122

‘ตัดเบี้ยผู้สูงอายุ’ กับโจทย์อนาคตไทยผู้สูงวัยเพิ่มเท่าตัว


เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน ‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดย ‘พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยประเด็นสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ การแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ จากเดิม ที่ต้องมีสัญชาติไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยมีการปรับเงื่อนไขจากเดิม "ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ" มาเป็น "ผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด" ส่งผลให้จากระบบให้แบบถ้วนหน้าไปเป็นสังคมสงเคราะห์เฉพาะคน


รบ.แจงไม่กระทบผู้ที่เคยได้อยู่แล้ว ระบุนโยบายแบบพุ่งเป้า ลดงบประมาณ


ขณะที่ ‘รัชดา ธนาดิเรก’ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะออกมายืนยันว่า ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป โดย รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังยกเรื่องปัญหาทางงบประมาณโดยอ้างว่า วันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ 50,000 ล้านบาทต่อปี เพิ่มเป็น 80,000 ล้านบาท และแตะ 90,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯ แก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง คือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว 


ปี 83 ‘ผู้สูงอายุ’ จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว


อย่างไรก็ตามผู้ที่จะเข้าเกณฑ์ผู้สูงอายุรายใหม่หรือมีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ที่จะเข้าถึงสวัสดิการส่วนนี้รายใหม่ต้องเป็น "ผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด" ด้วยถึงได้รับเงินเบี้ยยังชีพ ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” 


ข้อมูลจาก สถิติประชากร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 31 ธ.ค.2565 ที่กรมกิจการผู้สูงอายุ นำมาเผยแพร่ต่อนั้นพบว่า  ประชากรที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวน 12,698,362 คน หรือคิดเป็น 19.21% ของประชากรทั้งหมด 66,090,475 คน  โดยกลุ่มที่มากที่สุดประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 7.1 ล้านคน คือ กลุ่มอายุ 60-69 ปี 


จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ย้อนไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในปี 2513 ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเพียง 1.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น ปัจจุบันประชากรไทยกำลังเพิ่มช้าลงอย่างต่อเนื่องและในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าอัตราการเพิ่มประชากรไทยจะยิ่งช้าลงจนถึงขั้นติดลบ แต่ในขณะเดียวกันประชากรสูงอายุกลับจะเพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่สูงมากผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.5 ต่อปี โดยเฉพาะประชากรรุ่นเกิดล้าน หรือเกิดปีละกว่า 1 ล้านคน ที่เกิดระหว่างปี 2506 -2526 กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุ คนที่เกิดปี 2506 จำนวนเกินล้านคนเป็นปีแรก กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุในปี 2566 โดยอัตราผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.4 ในปี 2583 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจาก 12 ล้านคน เป็น 20.5 ล้านคน 


ปัญหา “แก่ก่อนรวย” กับนโยบายเพิ่มรายได้ของ “เพื่อไทย”


ไม่เพียงแค่โจทย์ผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขั้นทุกปีนั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องรายได้ที่น้อยหรือแก่ก่อนรวยด้วย ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกร เมื่อเม.ย.64 ระบุสอดคล้องกันว่าไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 อีก 9 ปีถัดไปจะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper-Aged Society) ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าญี่ปุ่น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ 80% ของประชากรสูงอายุ จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีระดับกลางลงล่าง แต่ค่าใช้จ่ายจะมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งประเด็นปลายเปิดอยู่ที่ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงกับความเจ็บป่วยด้วย


ประเด็นนี้ ‘ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ  รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงทั้งเรื่องการปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุและที่สำคัญคือสถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นว่า ประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกในโลก ที่ต้องรับมือกับภาวะแก่ก่อนรวย โดย 1 ใน 5 ของคนไทยเป็นผู้สูงอายุ และในอีก 20 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 โดย 63% อยู่ในภาคเกษตร และ 87% เป็นแรงงานนอกระบบ และมีปัญหาร่วมกันคือรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ไม่มีเงินเก็บ


ดังนั้น นโยบายของพรรคเพื่อไทย จึงทำเพื่อตอบโจทย์การสร้างรายได้ เพื่อแก้ปัญหาระดับโครงสร้างในทุกมิติผ่าน ‘ชุดนโยบายของพรรคเพื่อไทย’  เพื่อรองรับสังคมสูงวัย  ประกอบด้วย  (1) กระเป๋าเงินดิจิทัล กระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาความเดือนร้อนให้ทุกคน (2) 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ softpower สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านตำแหน่ง ผู้สูงอายุคนเกษียณก็ยังสามารถทำงาน สร้างรายได้ มีศักดิ์ศรี  (3) เพิ่มรายได้ภาคเกษตร เพิ่มรายได้ 3 เท่าตัว เพราะผู้สูงอายุและกำลังจะเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ อยู่ในภาคเกษตร (4) อัพเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทั่วไทย ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลจากผู้ช่วยพยาบาลทั้งที่บ้านและศูนย์ชีวาภิบาลของรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลูกหลานสามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติโดยไม่ต้องลางาน  (5) Learn to Earn เรียนเพื่อสร้างรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต จับคู่สมรรถนะของคนเข้ากับงานที่ใช่ เพื่อช่วยให้มีงานทำเร็วที่สุด ตรงกับสมรรถนะของตนเองมากที่สุด และสร้างรายได้ที่ดีที่สุด 


“สวัสดิการจำเป็นสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้  เพื่อไทยมุ่งเป้าให้คนไทยยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง การปรับเบี้ยผู้สูงอายุ ให้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่การให้ถ้วนหน้าแบบเดิม  ต้นเหตุมาจาก ‘รัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอ’  ซึ่งเพื่อไทยเห็นปัญหานี้มาโดยตลอด เราจึงเป็นพรรคเดียว ที่พูดถึงการสร้างรายได้ เพื่อมีรายได้มาจัด ‘สวัสดิการโดยรัฐ’ สำหรับกลุ่มผู้เปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ให้ครอบคลุมและทั่วถึงในรูปแบบต่างๆ  เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึง” รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าว


นอกจากนี้ ‘วราวิชญ์ โปตระนันทน์’ นักวิจัยนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ชี้ว่า “กับดักแก่ก่อนรวย” โดยพุ่งเป้าไปที่ปัญหาคนไทยออมไม่พอ เนื่องมาจากมีอคติเชิงพฤติกรรมหรือการคิดการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลตามหลักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์จริง ส่งผลต่อความเปราะบางทางการเงิน และกลุ่มเปราะบางนี้เองก็เป็นกลุ่มที่ออมไม่พอ แล้วแนวทางแก้ปัญหาใดคือทางออกของเรื่องนี้ ข้อเสนอในเบื้องต้นต่อการเพิ่มการออมเพื่อการเกษียณ คือ ภาครัฐและเอกชนควรมีมาตรการที่ทำให้คนไทย (ก) เริ่มออม (ข) เพิ่มการออม และ (ค) เพิ่มอัตราผลตอบแทนจากการออม โดยคำนึงถึงการมีอยู่ของอคติเชิงพฤติกรรมเหล่านี้ในหมู่คนไทย มาตรการตัวอย่างประกอบด้วย การสนับสนุนการออมภาคบังคับ การออมผ่านเงินทอนระหว่างจำนวนเงินที่จ่ายกับราคาสินค้า การเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้วรัฐนำส่วนเพิ่มไปเก็บออมแทนผู้ใช้จ่าย เป็นต้น


ข้อมูลอ้างอิง :


ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/140D192S0000000000300.pdf

ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552  https://www.pakkretcity.go.th/pdf/allowance1.pdf

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล  https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/71271

สถิติผู้สูงอายุไทย ปี 2565 โดยกลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ กรมกิจการผู้สูงอายุ https://www.dop.go.th/th/know/side/1/1/1962

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2563 https://thaitgri.org/?p=39772&fbclid=IwAR0pCopDX2ZdTb3LCTbsdhV1JSJ-Llcs5KBhK-Su6Z6KU-HDYWjCTQPmdwc

ศูนย์วิจัยกสิกร, สังคม สูงอายุ...แบบสมบูรณ์ คนไทยพร้อมแล้วหรือยัง? https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Aging-society-FB-30-04-21.aspx

ratchakitcha.soc.go.th

https://tdri.or.th/2023/03/behavioral-finance-biases/


ข่าวที่เกี่ยวข้อง