รีเซต

เมื่อ "สังคมสูงวัย" ไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของ "คนทุกวัย"

เมื่อ "สังคมสูงวัย" ไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของ "คนทุกวัย"
TNN ช่อง16
17 สิงหาคม 2566 ( 15:08 )
102
เมื่อ "สังคมสูงวัย" ไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของ "คนทุกวัย"

 เมื่อ "สังคมสูงวัย" ไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของ "คนทุกวัย" เตรียมพร้อมตัวเองก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุ


ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสข่าวประเด็นร้อนในสังคมไทยที่มีการพูดถึง และนำมาถกเถียงกัน คงหนีไม่พ้น "การปรับเกณฑ์ใหม่จ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ" ภายหลังจากกรณีที่กระทรวงมหาดไทย ได้มีการออกระเบียบ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 โดยประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้ทันที ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา


ใจความสำคัญของประกาศดังกล่าวได้มีการปรับเกณฑ์ การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ คือ "ผู้ได้รับเบี้ยยังชีพต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด" 

ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวนี้สร้างความกังวลใจต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแค่นั้นยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากหลายๆ ฝ่าย ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยและคัดค้านกับเรื่องดังกล่าวเพราะมองว่าจะเป็นการทำลายหลักการรัฐสวัสดิการแบบถ้วนหน้า 


ประเทศไทย กับ "สังคมสูงวัย"


ถ้าหากพูดถึง "สังคมสูงวัย" เห็นได้ชัดเลยว่า สัดส่วนของผู้สูงอายุหรือประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง

กรมกิจการผู้สูงอายุ ได้เผยแพร่ข้อมูลของ United Nations World Population Ageing ประชากรที่อยู่ในวัยพึ่งพิง ที่ไม่สามารถใช้แรงงานตนเองเพื่อสร้างรายได้เลี้ยงตัว ซึ่งก็คือเด็กและผู้สูงอายุ 


สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป


สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) จะเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน และมีอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน  อัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป


และนี่จึงเป็นเหตุผลที่คนไทยจะต้องตระหนักและรับรู้เกี่ยวกับสภาพการณ์นี้ ตามสถิติต่างๆ คนไทยจะต้องเตรียมการรับมือในสถานการณ์นี้อย่างเร่งด่วน 

ไม่ว่าจะเป็น อายุของคนไทยที่จะยืนยาวขึ้น ค่าครองชีพ โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลง ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้สำคัญอย่างมากเพราะจะกระทบต่อเงินเก็บสำหรับผู้สูงวัยมากที่สุด หรือแม้กระทั่งเงินเก็บหลังจากเกษียณจากการทำงานแล้วก็อาจจะไม่เพียงพอ


จากข้อมูลสถิติผู้สูงอายุไทย ปี 2565 โดยกลุ่มนโยบายและยุทธศาสตร์ กรมกิจการผู้สูงอายุ ได้มีการระบุไว้ว่า โดยอ้างอิงที่มาจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565


สถิติผู้สูงอายุไทย ปี 2565


ประชากรทั้งประเทศ ปี 2565 จำนวน 66,090,475 คน

- ชาย จำนวน 32,270,615 คน

- หญิง จำนวน 33,819,860 คน


สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 มีมากถึง 12,698,362 คน คิดเป็น 19.21% 

- ชาย จำนวน 5,622,074 คน (44.27%)

- หญิง จำนวน 7,076,288 คน (55.73%)


จำนวนผู้สูงอายุแบ่งตามช่วงอายุ


ช่วงอายุ 60-69 ปี

- จำนวนผู้สูงอายุ 7,120,271 คน (56.07%)

- ชาย 3,258,558 คน หญิง 3,861,713 คน

ช่วงอายุ 70-79 ปี

- จำนวนผู้สูงอายุ 3,743,466 คน (29.48%)

- ชาย 1,635,323 คน หญิง 2,108,143 คน

ช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป

- จำนวนผู้สูงอายุ 1,834,625 คน (14.45%)

- ชาย 728,193 คน หญิง 1,106,432 คน



ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบบูรณาการการทำงานเชิงรุกในการรองรับสังคมสูงวัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อปี 2564


"ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม"


แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ "ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม"  โดยมีวัตถุประสงค์คือ

1. เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง 

2.เพื่อเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ 

3.เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ 

4. เพื่อรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 – 59 ปี 


เตรียมพร้อมการใช้ชีวิตที่ดีในยามสูงอายุ 


ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุในอีก 1 - 35 ปีข้างหน้า ให้ได้ตระหนักและเตรียมพร้อมการใช้ชีวิตที่ดีในยามสูงอายุ สำหรับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุฯ ฉบับนี้ จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนใน 5 ปีแรก (พ.ศ.2566-2570) และแผนปฏิบัติการระยะ 15 ปี (พ.ศ.2566-2580) ซึ่งประกอบด้วยแผนปฏิบัติการย่อย 4 แผน ดังนี้


แผนปฏิบัติการย่อยที่ 1 

เตรียมความพร้อมของประชากรก่อนสูงวัย ประกอบด้วย 5 มาตรการ ดังนี้ 

1. ส่งเสริมให้ประชากรอายุ 25 - 59 ปี  เตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่วัยสูงอายุในมิติทางเศรษฐกิจ เช่น ส่งเสริมการออมเพื่อยามชราภาพ พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติแบบหลายชั้น เป็นต้น 

2. เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจถึงกระบวนการชราภาพ ตระหนักถึงคุณค่า ศักดิ์ศรีและมีความรับผิดชอบต่อผู้สูงอายุ 

3.ส่งเสริมการพัฒนาความรู้และศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง รู้เท่าทันและสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากสื่อสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัล 

4.เร่งเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ 

5.ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุ


แผนปฏิบัติการย่อยที่ 2 

ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุทุกมิติอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้ 

1. ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านเศรษฐกิจ เช่น ปฏิรูปหลักประกันยามชราภาพ เป็นต้น 

2.ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสุขภาพ เช่น พัฒนาระบบสุขภาพรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุกที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุแต่ละกลุ่ม เป็นต้น 

3. ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสังคม 

4.ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุด้านสภาพแวดล้อม เช่น ปรับสภาพที่อยู่อาศัยทั้งภายในและภายนอก


แผนปฏิบัติการย่อยที่ 3 

ปฏิรูปและบูรณาการระบบบริหารเพื่อรองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ ประกอบด้วย 8 มาตรการ ดังนี้ 

1. แปลงแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุสู่การปฏิบัติและผลักดันให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนแผนอย่างมีบูรณาการตั้งแต่ระดับชาติสู่ระดับท้องถิ่น 

2.ติดตามและประเมินผลนโยบายและแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ 

3.ปฏิรูประบบกฎหมาย เพื่อรองรับการดำเนินงานของทุกภาคส่วน  

4.วางระบบกำลังคนด้านผู้สูงอายุทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในระดับชาติและระดับพื้นที่ 

5.เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและการจัดการงานด้านผู้สูงอายุ 

6.พัฒนาระบบพิทักษ์และคุ้มครองสิทธิ์ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง 

7.พัฒนาระบบปกป้องและฟื้นฟูผู้สูงอายุและครอบครัวในยามเกิดวิกฤต 8)ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ


แผนปฏิบัติการย่อยที่ 4 

เพิ่มศักยภาพการวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้ 

1.ส่งเสริมการผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ  

2. ส่งเสริมการพัฒนาระบบข้อมูลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านผู้สูงอายุที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐในการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ


รัฐบาลได้เตรียมแผนรองรับสังคมสูงวัยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสังคมสูงวัยไม่ใช่เพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัย โดยต้องสร้างความตระหนักในกลุ่มคนวัยทำงานถึงความสำคัญของการออมเงิน 

การเตรียมตัวเองสู่การเป็นผู้สูงอายุและอยู่ในสังคมสูงอายุ อีกทั้งสร้างทัศนคติใหม่ให้มองผู้สูงอายุเป็นทุนทางสังคมและเป็นผู้มีศักยภาพหากได้รับการส่งเสริมโอกาส




อ้างอิงข้อมูลจาก กรมกิจการผู้สูงอายุ / กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย / Thaigov

ภาพจาก TNN ONLINE




ข่าวที่เกี่ยวข้อง