รีเซต

Quasi Stagflation เศรษฐกิจกึ่งๆซบเซา

Quasi Stagflation เศรษฐกิจกึ่งๆซบเซา
TNN Wealth
1 พฤศจิกายน 2564 ( 12:39 )
245
Quasi Stagflation เศรษฐกิจกึ่งๆซบเซา
 
ความกังวลหลักของตลาดทุนโลกที่ผมได้ยินและได้อ่านเจอบ่อยที่สุดตอนนี้คือ สภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน Stagflation ดูเหมือนว่าคำๆนี้ กำลังหลอกหลอนและสร้างความหวาดกลัวให้กับตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ
.
.
Stagflation คืออะไร มันเป็นคำรวมระหว่าง Stagnation (สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว) และInflation (ภาวะเงินเฟ้อ) ผสมเข้าด้วยกัน ตีเป็นคำไทยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ ข้าวยากหมากแพง โดยลักษณะเด่นของ Stagflation คือ ภาวะเงินเฟ้อสูง การว่างงานสูง และเศรษฐกิจคงที่หรือถดถอย
.
.
สถานการณ์ปัจจุบันคือ สหรัฐกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อเพิ่มสูงยืดเยื้อกว่าคาด ดัชนีpersonal consumption expenditure price index (PCE) ซึ่ง Fed ใช้เป็นมาตรฐานในการวัดเงินเฟ้อเดือน ส.ค.64 พุ่ง 4.3% และดัชนี consumer price index (Core CPI) เดือน ก.ย.64 5.4% สุงที่สุดในรอบ 12 ปี ขณะที่ producer price index (PPI) ที่เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต เดือน ก.ย.64 พุ่งขึ้น 8.6% ถือเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์
.
.
แต่อัตราการว่างงานกำลังปรับลดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เดือน ก.ย.64 4.8% โดย Goldman Sachs คาดว่าสิ้นปี 2021 อัตราว่างงานจะลงสู่ 3.5% ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าตลาดคาด 2 เดือนติดต่อกัน เดือน ก.ย.64 เพิ่มขึ้นเพียง 1.94 แสนตำแหน่ง ตลาดมองเป็นเพราะแรงงานบางส่วนยังไม่อยากกลับเข้าสู่ระบบการทำงาน เนื่องจากต้องการรับสวัสดิการชดเชยจากผลกระทบโควิดของรัฐบาล และบางส่วนมีเงื่อนไขการทำงาน work from home กันมากขึ้น
.
.
จะเห็นได้ว่า ในภาวะเงินเฟ้อสูง แต่การจ้างงานในสหรัฐยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง สภาวะนี้จึงยังไม่ใช่ Stagflation อย่างที่หลายคนกังวลกันมากนัก โดยเฉพาะเมื่อไปเทียบกับการเกิด Stagflation เมื่อปี 1970 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว อัตราว่างงานสูงเกือบ 9% -ขณะที่ราคาน้ำมันทะยานกว่า 400% จากการที่กลุ่ม OPEC ประกาศขึ้นราคาน้ำมันครั้งใหญ่ในช่วงปี 1971-1974 และ 1979-1980 ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงในช่วงปี 1980-1982
.
.
การเกิด Stagflation ใน ทศวรรษ 1970 – 1980 จึงเป็นสภาวะที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นก่อนแล้วไปกดดันเศรษฐกิจ ซึ่งตรงกันข้ามกับในปัจจุบันที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวจาก COVID19 ความต้องการและกำลังซื้อหรือ Demand พุ่งสูง แต่การผลิต Supply ตามไม่ทันรวมไปถึงปัญหาในการขนส่ง จนทำให้เกิดปัญหาคอขวด Supply Bottleneck ทำให้ราคาสินค้าและบริการมีการปรับเพิ่มขึ้นเร็วผิดปกติ
.
.
บวกกับการเตะถ่วงของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ในการค่อยๆปรับเพิ่มกำลังการผลิต ซึ่งผลผลิตที่ออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ที่สูงขึ้น โดยมีการประเมินว่าผลผลิตน้ำมันที่ออกมาน้อยกว่าความต้องการใช้ถึง 5 ล้านลาร์เรลต่อวัน ทำให้สต็อกน้ำมันดิบของโลกปรับลดลงจนแทบไม่เหลือสต็อกแล้ว จึงทำให้ราคาน้ำมันกลับมาอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบ 7 ปี
.
.
สภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยการตื่นตัวของเศรษฐกิจ (Economic Restart) จึงน่าจะเป็นแค่เรื่องชั่วคราว เมื่อ Supply เริ่มตาม Demand ทัน ความสมดุลจะเกิดขึ้น ระดับเงินเฟ้อจะลดลง สอดคล้องกับความคิดเห็นของ รมต.คลังสหรัฐ เจเนตเยลเลน และประธาน Fed เจโรม พาวเวล เชื่อว่าเงินเฟ้อจะยังคงดำเนินต่อจนถึงปีหน้า ก่อนที่สถานการณ์ Supply ตึงตัวจะคลี่คลายและเงินเฟ้อจะอ่อนตัวลงมาใกล้ 2% อีกครั้ง
.
.
Goldman Sachs วาณิชธนกิจใหญ่ของโลก ปรับคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐ core PCE ปี 2021 เป็น +4.3% และกลางปี 2022 +3.0% ก่อนที่ปลายปี 2022 จะเหลือ +2.15%
.
.
เพราะฉะนั้น แรงกดดันจากสภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจที่อาจฟื้นตัวไม่ได้ตามความคาดหมายจากการแพร่ระบาดของ COVID ระลอกใหม่ มันน่าจะเป็นเพียงแค่สภาวะชั่วคราว ด้วยศักยภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังมีโอกาสเติบโต สถานการณ์ในปัจจุบันจึงยังไม่น่าใช่ Stagflation อย่างเต็มตัว อย่างมากก็น่าจะเป็นได้แค่ Quasi Stagflation หรือ เศรษฐกิจกึ่งๆ เกือบๆ จะซบเซา

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง