รีเซต

สดร.ชวนชม "Micro Full Moon" ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี

สดร.ชวนชม "Micro Full Moon" ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี
TNN ช่อง16
19 ธันวาคม 2564 ( 17:45 )
52
สดร.ชวนชม "Micro Full Moon" ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี

วันนี้ (19 ธ.ค.64) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สดร. ชวนคนไทยติดตาม ปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ "Micro Full Moon" เป็นคืนจันทร์เต็มดวงที่ดวงจันทร์จะโคจรอยู่ในระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี หรือเรียกว่า “ไมโครฟูลมูน” 

 

โดยมีระยะห่างจากโลกประมาณ 405,924 กิโลเมตร เราจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กสุดในรอบปี เริ่มสังเกตดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.00 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า

 

ความพิเศษของปรากฏกาณณ์ Micro Full Moon คือ “ต้องเป็นช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น” แล้วอยู่ในระยะห่างเฉลี่ยมากกว่า 406,000 กิโลเมตร เท่านั้น ซึ่งการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นวงรีนั้น ถึงแม้ในแต่ละเดือนจะมีช่วงที่อยู่ใกล้โลกน้อยกว่า 357,000 กิโลเมตร หรืออยู่ไกลโลกมากกว่า 406,000 กิโลเมตร แต่ก็มักไม่ใช้ช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวง เพราะสิ่งที่นักดาราศาสตร์ให้ความสำคัญและให้ความสนใจก็คือ เฉพาะช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงเท่านั้น

 

ดังนั้น จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดบ่อยครั้งนัก ปีหนึ่งๆ จะมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเฉลี่ย 1-2 ครั้ง เท่านั้น

 

ตัวอย่างแผนภาพแสดงตำแหน่งจุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) และจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee)

เทคนิคการถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงอย่างง่าย

1. ใช้เลนส์เทเลโฟโต้ความยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 มม. ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่ ยิ่งถ่ายภาพผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีความยาวโฟกัสสูง จะยิ่งได้ภาพดวงจันทร์ขนาดใหญ่และมีรายละเอียดที่ดีกว่า 

 

2. ใช้ค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 400 ขึ้นไป เนื่องจากดวงจันทร์ในช่วงเต็มดวงจะมีความเข้มแสงมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ค่าความไวแสงสูงๆ แต่การใช้ค่าความไวแสงสูง จะทำให้ได้ความเร็วชัตเตอร์ที่สูงขึ้นด้วย ช่วยทำให้ภาพไม่สั่นไหว

 

3. การปรับโฟกัสภาพ แนะนำใช้ระบบ Live View บนจอหลังกล้อง เลือกโฟกัสบริเวณหลุมอุกกาบาตบนผิวดวงจันทร์ จะช่วยให้สามารถโฟกัสได้คมชัดและง่ายมากที่สุด

 

4. ปรับชดเชยแสงไม่ให้สว่างหรือมืดจนเกินไป อาจทดลองถ่ายภาพแล้วตรวจสอบภาพดูว่าเห็นรายละเอียดของหลุมบนดวงจันทร์ชัดเจนหรือไม่  

 

5. ใช้โหมดการถ่ายภาพแบบแมนนวล (M) เนื่องจากสามารถปรับการตั้งค่าได้ทั้งรูรับแสงและความเร็วชัตเตอร์ได้สะดวก

 

6. ความเร็วชัตเตอร์ ควรสัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 มม. ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600 วินาที หากภาพที่ถ่ายออกมามืดเกินไปให้เพิ่มค่าความไวแสง (ISO) ขึ้นจนได้แสงที่พอดี

 

7. รูรับแสง เลือกใช้ในช่วงประมาณ f/4.0 – f/8.0 เพื่อให้ได้ภาพที่คมชัดทั่วทั้งภาพ

 

8. ปิดระบบกันสั่นของเลนส์

 

9. ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องที่มั่นคง

 

10. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นในการปรับภาพในภายหลัง

 

ข้อมูลและภาพจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง