สศค.ชี้ "ทรัมป์" ขึ้นภาษีสะเทือนเศรษฐกิจโลก

ดร. พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า นโยบายภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือเป็นแผ่นดินไหวในระดับรุนแรงของเศรษฐกิจโลก
เพราะการส่งสัญญาณที่สู้กันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น มีความเข้มข้นเห็นได้จากการขึ้นภาษีล่าสุดสหรัฐฯ ขึ้นภาษีจีนไปแล้วรวมกว่า 104% และขึ้นภาษีประเทศอื่นๆ มีผลในวันที่ 9 เม.ย.นี้
สิ่งสำคัญ คือ สหรัฐฯ พยายามจะดึงการผลิตกลับไปที่สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดดั้งเดิมของดาวิด ริคาร์โด นักเศรษฐศาสตร์ที่มีแนวคิดในการแบ่งงานการผลิตระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ กลับไปผลิตที่สหรัฐฯ มากที่สุด
เพื่อลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 2,000 ล้านดอลลาร์ เป็น 3,000 ล้านดอลลาร์ และมีหนี้สาธารณะสูงมากประมาณ 36 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 120% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตามผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการปรับขึ้นภาษีที่สูงมากของสหรัฐฯ สศค.คาดว่า จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงจากที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ลดลงเหลือร้อยละ 2.8
ส่วนประเทศที่พึ่งพาการส่งออกอย่างประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมาก และอาจทำให้ไทยจีดีพีติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกันได้ ซึ่งถือเป็นการที่เศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิคหรือ Technical Recession ได้ในช่วงที่เศรษฐกิจเจอผลกระทบมากจากการขึ้นภาษีของทรัมป์ โดย สศค.มีการแถลงตัวเลขภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2568 ในวันที่ 28 เม.ย.นี้
สำหรับแนวทางของประเทศไทย คือ ร่วมมือกับสหรัฐฯ แบบที่เกาหลีใต้ ที่เราสามารถต่อรองและเจรจาได้ ซึุ่งกำหนดยุทธศาสตร์ เป็น 5 เสาหลัก ได้แก่ 1. ลดการเกินดุลการค้าที่สหรัฐฯ
2.ลดภาษีที่เราตั้งไว้แต่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น เนื้อสัตว์ ข้าวโพด ที่นำมาผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ
3.ดูการอำนวยความสะดวกที่ไม่ใช่ภาษี การทบทวนกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคกับสหรัฐฯ
4.การดูแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งต้องทำใบกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าให้ชัดเจน ว่าไม่ใช่สินค้าที่มาสวมสิทธิ์ในไทย
5.สนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ