รีเซต

บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ความหวัง “ยกระดับสิทธิ” ผู้ประกันตน

บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่ ความหวัง “ยกระดับสิทธิ” ผู้ประกันตน
TNN ช่อง16
26 ธันวาคม 2566 ( 15:00 )
43

“เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประกันสังคมไทยนับตั้งแต่มี พ.ร.บ.ประกันสังคม เมื่อปี 2533 ที่มีการเปิดให้มีเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมสัดส่วนจากตัวแทนนายจ้าง และ ตัวแทนผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน เพื่อให้มีส่วนยึดโยงกับผู้ประกันตน และเป็นความคาดหวังในการยกระดับสิทธิผู้ประกันตน โดยเฉพาะสิทธิการรักษา สวัสดิการการช่วยเหลือ และเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ”


โดยการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม หรือ บอร์ดประกันสังคม เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 24 ธันวาคม 2566 มีนายจ้างมาใช้สิทธิ จำนวน 1,465 คน จากผู้ลงทะเบียน จำนวน 3,129 คน คิดเป็นร้อยละ 46.82 และผู้ประกันตนมาใช้สิทธิ จำนวน 156,870 คน จากผู้ลงทะเบียน จำนวน 854,414 คน คิดเป็นร้อยละ 18.36 

ผลการเลือกตั้ง ผู้ได้รับการเลือกตั้งฝ่ายนายจ้าง 7 คน ได้แก่ 

1.ดร.มนตรี ฐิรโฆไท 

2.นางวิภาวรรณ มาประเสริฐ 

3.นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง 

4.นายสมพงศ์ นครศรี 

5.นายสุวิทย์ ศรีเพียร 

6.นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ 

7.น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล 

ส่วนผู้ได้รับการเลือกตั้งฝ่ายผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) 7 คน พบว่าทีมประกันสังคมก้าวหน้าชนะไปเกือบยกทีม ได้แก่ 

1.รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 

2.นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน 

3.นายชลิต รัษฐปานะ 

4.นายศิววงศ์ สุขทวี 

5.น.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ 

6.นางลักษมี สุวรรณภักดี 

และ 7.นายปรารถนา โพธิ์ดี 


นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยอมรับ รู้สึกผิดหวังกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่น้อยกว่าร้อยละ 50 จากจำนวนผู้ประกันตนที่ลงทะเบียนกว่า 8.5 แสนคน แต่มาใช้สิทธิเพียง 1.5 แสนรายเท่านั้น สำนักงานประกันสังคมจะต้องนำไปเป็นบทเรียนในการจัดการเลือกตั้งครั้งต่อไป ที่จะมีขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า


สำหรับพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาตรา 8 กำหนดให้มี (บอร์ดประกันสังคม) ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทน 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายราชการ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง  ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสํานักงบประมาณ  ส่วนกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งโดยผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้าง  7 คน  และ ฝ่ายผู้ประกันตน 7 คน


จากรายงานของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่า ในเดือนพฤศจิกายน 2566 ประเทศไทยมีผู้ประกันตนทั้งสิ้น 24.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมด ที่มีอยู่ 40.69 ล้านคน แต่ผู้ประกันตนที่มีสิทธิในการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม มีจำนวนประมาณ 12 ล้านคน และมีการลงทะเบียนและแจ้งความประสงค์ไปใช้สิทธิกว่า 850,000 คน


โดยผู้ประกันตนแต่ละอาชีพจะมีสิทธิในการประกันตนที่แตกต่างกันตามกฎหมาย 3 รูปแบบ คือ

1.ผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีนายจ้าง จำนวน 11.7 ล้านคน 

2.ผู้ประกันตน มาตรา 39 หรือ เคยเป็นประกันตนมาตรา 33 มาก่อน จำนวน  1.8 ล้านคน

3.ผู้ประกันตน มาตรา 40 หรือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 10.9 ล้านคน

สำหรับบทบาทสำคัญของบอร์ดประกันสังคม จะต้องเข้าไปทำหน้าที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของนายจ้างและผู้ประกันตนในทุกมาตรา 

1.เสนอความคิดเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการประกันสังคม

2.พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตรา พระราชกฤษฎีกา การออกกฎกระทรวง และระเบียบต่างๆ

3.วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการรับเงินการจ่ายเงิน และการ เก็บรักษาเงินของกองทุน

4.วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน

5.พิจารณางบดุลและรายงานการรับจ่ายเงินของกองทุนและรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคม

6.ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน

7.ปฏิบัติการอื่นตามที่กฎหมายหรือตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอบหมาย

โดยการบริหารเงินกองทุนประกันสังคม มูลค่ากว่า 2.27 ล้านล้านบาท ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2566 กองทุนประกันสังคม มูลค่ากว่า 2.27 ล้านล้านบาท มาจาก 

1.นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลสมทบ 1.46 ล้านล้านบาท 

2.มาจากผลตอบแทนสะสมจากการลงทุน 8.1 แสนล้านบาท โดยที่ผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยต่อปี (ข้อมูลตั้งแต่ 2558 – 2565) อยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท สูงกว่างบประมาณเฉลี่ยต่อปีของกระทรวงแรงงาน ซึ่งอยู่ที่ 4.9 หมื่นล้านบาท

โดยกองทุนประกันสังคม ลงทุนในกองทุน 4 กรณี

1.กรณี เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 3.7

2.กรณี สงเคราะห์บุตรและชราภาพ มูลค่า 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 88.6

3.กรณีว่างงาน มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 6.7

4.กองทุนมาตรา 40 มูลค่า 2 หมื่นล้านบาทคิดเป็น ร้อยละ 1.0


บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่จะมีวาระ 2 ปี ในการทำหน้าที่ นับเป็นการท้าทายและเป็นที่จับจ้องว่า จะสามารถเข้าผลักดันเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาลที่พยายามผลักดันให้ครอบคลุมโรคร้ายแรง สิทธิกรณีว่างงานรวมถึงสวัสดิการอื่นๆ โดยเฉพาะเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพ ที่มีกระแสข่าวว่ากองทุนประกันสังคม มีความเสี่ยงอาจไม่มีเงินจ่ายเบียชราภาพให้ผู้ประกันตนที่กำลังจะเข้าสังคมผู้สูงอายุจำนวนมาก







เรียบเรียงโดย 

มัชรี ศรีหาวงศ์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง