รีเซต

ครั้งแรกของไทย เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ปกป้องสิทธิ รักษาผลประโยชน์แรงงาน

ครั้งแรกของไทย เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ปกป้องสิทธิ รักษาผลประโยชน์แรงงาน
TNN ช่อง16
14 พฤศจิกายน 2566 ( 20:23 )
68
ครั้งแรกของไทย เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ปกป้องสิทธิ รักษาผลประโยชน์แรงงาน

“นับตั้งแต่มีพระราชบัญญัติประกันสังคม ผ่านมาแล้วกว่า 33 ปี ได้พบจุดอ่อนว่าคณะกรรมการประกันสังคม  หรือ บอร์ดประกันสังคมในอดีตขาดความสามารถในการปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนหลายล้านคน และนี่จะเป็นครั้งแรกที่มีการเลือกตั้ง บอร์ดประกันสังคม เข้าไปบริหารงานกองทุนประสังคม กว่า 2.3 ล้านล้านบาท ให้มีเสถียรภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด”


จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่าในเดือนมิถุนายน ปี 2566 ประเทศไทยมีผู้ประกันตนทั้งสิ้น 24.5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมด ที่มี 40.69 ล้านคน 

ในจำนวน 24.5 ล้านคน แยกเป็นผู้ประกันตน 3 รูปแบบ ได้แก่



1.ผู้ประกันตนตาม ม. 33 มีจำนวน 11.7 ล้านคน โดยเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีนายจ้าง จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยหักร้อยละ 5 ของเงินเดือน (สูงสุด 750 บาท) ซึ่งนายจ้างจะช่วยสมทบในอัตราเดียวกัน ขณะที่รัฐบาลสมทบเพิ่มอีกร้อยละ 2.75 (สูงสุด 413 บาท) ทุกคนจะได้รับเงินอุดหนุนเป็นสิทธิประโยชน์สูงสุด 7 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ ว่างงาน และเสียชีวิต


2.ผู้ประกันตนตาม ม.39 มีจำนวน 1.8 ล้านคน โดยเป็นอดีตลูกจ้างตาม ม. 33 ที่เคยส่งเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 12 เดือน และลาออกมาได้ไม่เกิน 6 เดือน และประสงค์จะส่งต่อในอัตราเดียวกัน คือ 432 บาท (รัฐบาลช่วยสมทบอีก 120 บาท) ทุกคนจะได้รับเงินอุดหนุนเป็นสิทธิประโยชน์สูงสุด 6 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และเสียชีวิต (ไม่มีเงินอุดหนุนเมื่อว่างงาน)


3.ผู้ประกันตนตาม ม. 40 หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีจำนวน 10.9 ล้านคน โดยกลุ่มนี้สามารถเลือกส่งเงินประกันสังคมได้ 3 อัตรา ได้แก่ 70, 100, และ 300 บาท/เดือน บนหลักการ ยิ่งส่งมาก ยิ่งได้รับสิทธิประโยชน์มาก หากส่งในอัตรา 70 บาท/เดือน จะได้รับเงินอุดหนุน 3 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต หากจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน จะได้รับเงินชราภาพเพิ่มเป็น 4 กรณี และถ้าจ่าย 300 บาท/เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร รวมเป็น 5 กรณี


จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2560 พบว่า จำนวนผู้ประกันตนแต่ละมาตรามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้กองทุนประกันสังคมมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น พร้อมกับภาระในการเบิกจ่ายสิทธิที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย และเพื่อให้การบริหารกองทุนเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตอบโจทย์ผู้ประกันตน จึงเป็นที่มาทำไมต้องเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม



พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 มาตรา 8 กำหนดให้มีคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ซึ่งประกอบไปด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ รวมไปถึง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน สัดส่วนระหว่างหญิงและชายรวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส


สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 12 ล้านคน จากจำนวนผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา กว่า 24 ล้านคน โดย 12 ล้านคน ต้องมีคุณสมบัติ คือ มีสัญชาติไทย ต้องส่งเงินเข้ากองทุนอย่างน้อย 3 เดือน และ ต้องเป็นผู้ประกันตนอย่างน้อย 6 เดือน และนายจ้างกว่า 4.4 แสนแห่งทั่วประเทศ 



นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการเปิดระบบให้นายจ้างและผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง 12 ตุลาคม ถึง 10 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ลงทะเบียน ฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 945,609 ราย ฝ่ายนายจ้าง จำนวน 4,209 ราย รวมจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 949,818 ราย ส่วนผู้สมัครผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน มีจำนวน 247 ราย และผู้สมัครผู้แทนฝ่ายนายจ้าง จำนวน 69 ราย โดยจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้งในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 และประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมายเลขผู้สมัครในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 ทางเว็บไซต์ www.sso.go.th และที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ทั่วประเทศ สามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในเวลา 08.30 - 16.30 น. (ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ)



และในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจะมีสิทธิเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นบอร์ดประกันสังคม เพื่อไปทำหน้าที่เสนอความเห็นและนโยบายในการดูแลจัดการบริหาร กองทุนประกันสังคม ที่มีเงินทุนมากกว่า 2.3 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ  เพื่อให้การบริหารกองทุนมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงรักษาผลประโยชน์ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกันตนให้สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนไปทั้งสถานการณ์การว่างงาน สวัสดิการ การรักษาโรค และเงินชราภาพที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ


เรียบเรียงโดย   มัชรี ศรีหาวงศ์ 

ข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง