จีนใช้รถบรรทุกเหมืองพลังไฟฟ้าไร้คนขับ 100 คัน ในมองโกเลียใน เชื่อมต่อ 5G และ AI จาก Huawei

ประเทศจีนได้เริ่มใช้งานรถบรรทุกทำเหมืองถ่านหินไร้คนขับขนาดใหญ่จำนวน 100 คันในพื้นที่เหมืองเปิด ยีมิน (Yimin) เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน โดยเป็นยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เชื่อมต่อผ่านเครือข่าย 5G-Advanced (5G-A) ที่มีความเร็วในการอัปโหลดสูงถึง 500 Mbps และค่าความหน่วงเพียง 20 มิลลิวินาที ระบบนี้ได้รับการสนับสนุนโดย Huawei ซึ่งให้บริการคลาวด์และโซลูชันด้านการขับขี่อัตโนมัติแบบเรียลไทม์สำหรับยานพาหนะเชิงพาณิชย์
โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท Huaneng Group ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีน และบริษัทในเครือ Huaneng Ruichi ซึ่งระบุว่านี่คือฝูงรถขุดไฟฟ้าไร้คนขับที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยานพาหนะแต่ละคันสามารถบรรทุกถ่านหินได้ถึง 90 เมตริกตัน และสามารถปฏิบัติงานได้ในอุณหภูมิที่ต่ำถึง -40 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่พบได้ในพื้นที่ทำเหมืองของมองโกเลียใน
หัวเว่ย (Huawei) เปิดเผยว่า รถบรรทุกของ Huaneng Ruichi นับเป็นยานเหมืองไร้คนขับรุ่นแรกของจีนที่ไม่มีห้องโดยสารสำหรับคนขับ ซึ่งออกแบบมาเพื่อลดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของบุคลากร โดยให้มนุษย์อยู่ห่างจากอันตรายที่เกิดจากเครื่องจักรขนาดใหญ่ ฝุ่นละออง และสภาพอากาศเลวร้าย เช่น หิมะ ฝนตกหนัก หรือระดับความสูงที่รุนแรง
จากข้อมูลของตัวแทน Huaneng Group ยานเหล่านี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเหมืองได้ถึง 20% และโครงการนี้ยังนับเป็น “เหมืองเปิดแห่งแรกของโลก” ที่ดำเนินการด้วยเทคโนโลยี 5G-A โดยมีแผนขยายกองยานในอนาคตเพิ่มเป็น 300 คัน
แม้ว่าถ่านหินจะเป็นแหล่งพลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังคงถูกใช้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย จากรายงานของ Enerdata บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านพลังงานจากประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า อัตราการเติบโตของการใช้ถ่านหินทั่วโลกลดลงจากราว 6% ในปี 2022 เหลือ 2.2% ในปี 2023 แต่ในจีน อินเดีย และเวียดนามกลับมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 6.9%, 9.9% และ 25% ตามลำดับ
ปัจจุบัน จีนและอินเดียรวมกันบริโภคถ่านหินถึง 71% ของทั้งโลก โดยจีนเพียงประเทศเดียวกำลังพัฒนากำลังการขุดใหม่ถึง 1,280 ล้านตันต่อปี ซึ่งคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตที่เสนอทั่วโลก
ท่ามกลางความต้องการพลังงานที่ยังคงสูง จีนจึงมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้การทำเหมืองมีความปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านแรงงานและทรัพยากร