รีเซต

ข่าวนี้จริงไหม... อย่าชะล่าใจ “อายุน้อย” เสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบได้ ?

ข่าวนี้จริงไหม... อย่าชะล่าใจ “อายุน้อย”  เสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบได้ ?
TNN ช่อง16
6 พฤศจิกายน 2567 ( 13:30 )
24


ผศ.นพ.เกรียงศักดิ์ ฟูนิลกุล ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ม.นวมินทราธิราช เปิดเผยกับ TNN Exclusive ว่าเป็นเรื่องจริง ที่คนอายุน้อย เสี่ยงเป็นเส้นเลือดหัวใจตีบได้ และพบได้มากขึ้นด้วยในปัจจุบัน เนื่องจากมีเรื่องของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ที่แพร่หลายมากขึ้น ตั้งแต่ในคนอายุน้อยจนถึงวัยรุ่น 


โรคของหลอดเลือดหัวใจตีบ ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดขึ้นได้ อันดับ 1. ไขมันโลหิตสูง ที่อาจมาจากกรรมพันธุ์ จะทำให้ผู้ป่วยมีไขมันสูงตั้งแต่เด็ก นำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและหลอดเลือดหัวใจตีบได้ อันดับ 2. การสูบบุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้านำไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้เร็วกว่าปกติ อันดับ 3. ภาวะเครียด จะส่งผลทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีน ซึ่งอาจจะกระตุ้นทำให้หลอดเลือดอักเสบ เกิดรอยแผลเป็น นำไปสู่การตกตะกอน และทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตัน หากทั้ง 3 ปัจจัยนี้ เกิดขึ้นพร้อมกัน จะทำให้เสี่ยงเส้นเลือดหัวใจตีบได้เร็วกว่าปกติ

ทั้งนี้ เส้นเลือดหัวใจตีบ มีความอันตราย เสี่ยงถึงชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีสัญญาณเตือนถึงโรคนี้ คือ อาการเจ็บหรือแน่นบริเวณหน้าอก รู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ เช่น ทำอะไรเล็กน้อยก็รู้สึกเหนื่อย บางรายนอนกลางคืนแต่ต้องลุกขึ้นมานั่งหอบเหนื่อย ถึงจะนอนต่อได้ เป็นต้น หากใครมีอาการเหล่านี้ แพทย์แนะนำให้รีบตรวจวินิจฉัย เพื่อป้องกันและตรวจดูว่าสุขภาพตัวเองแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ 

แพทย์แนะนำเพิ่มเติมว่า การจะห่างไกลจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือการหลีกเลี่ยง 3 ปัจจัยเสี่ยง รวมถึงดูแลสุขภาพด้วยการกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ แต่ไม่ใช่ปริมาณมากเกินไป เน้นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างเช่น low carb ผัก ผลไม้ ร่วมกับการออกกำลังกาย งดการสูบบุหรี่ หากสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ก็จะส่งผลดีต่อร่างกาย และควรทำจิตใจให้แจ่มใส เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเครียดด้วย


เรียบเรียงโดย : ธัญญาพร สุวรรณรัตน์
ผู้สื่อข่าว คอลัมน์ ข่าวนี้จริงไหม ?

ภาพจาก
Canva

#TNN #TNNThailand #TNNLIVE #TNNช่อง16 #ทันโลก #ทันเศรษฐกิจ #ทันทุกความจริง #ข่าวนี้จริงไหม #วชิรพยาบาล #อายุน้อย #โรคหลอดเหลือดหัวใจตีบ #หัวใจตีบ #ใจขาดเลือด #เครียด #ไขมันโลหิตสูง #สุขภาพ #ออกกำลังกาย #บุหรี่ #บุหรี่ไฟฟ้า #ภัยบุหรี่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง