รีเซต

นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานใหม่ ไดโนเสาร์อาจสูญพันธุ์เพราะ "ฝุ่นซิลิเกต"

นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานใหม่ ไดโนเสาร์อาจสูญพันธุ์เพราะ "ฝุ่นซิลิเกต"
TNN ช่อง16
6 พฤศจิกายน 2566 ( 12:33 )
59
นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐานใหม่ ไดโนเสาร์อาจสูญพันธุ์เพราะ "ฝุ่นซิลิเกต"

หนึ่งในทฤษเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง คือ มีดาวเคราะห์น้อยขนาดยักษ์พุ่งชนโลกเมื่อ 66 ล้านปีก่อน แต่งานวิจัยล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์ อาจจะพบหลักฐานใหม่ที่เชื่อมโยงไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต นั่นก็คือ "ฝุ่นซิลิเกต" ซึ่งเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากการที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก


อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติม นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าเมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อน มีดาวเคราะห์น้อยขนาดความกว้างอย่างน้อย 10 กิโลเมตร พุ่งชนโลก ทำให้เกิดพลังทำลายล้างประมาณ 4,700 เท่าของระเบิดที่ทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแน่นอนว่าวันที่ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนนั้นถือเป็นวันอันเลวร้ายของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใกล้จุดตก โดยมีบันทึกฟอสซิลแสดงให้เห็นว่าในระยะ 3,000 กิโลเมตรนั้น สิ่งมีชีวิตตายเป็นจำนวนมาก สัตว์ทะเลเช่นปลาถูกคลื่นกระแทกซัดขึ้นฝั่ง ก่อนจะถูกฝังด้วยโคลน ซ้ำร้ายยังมีเศษหินที่เกิดจากการพุ่งชน กระเด็นขึ้นไปถึงชั้นบรรยากาศโลกและตกกลับลงมาด้วยความเร็ว กลายเป็นลูกไฟจำนวนมาก เศษหินร้อนนี้ยังก่อให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ 


นอกจากนี้แรงกระแทกยังทำให้เกิดสึนามิที่สูงประมาณ 1.6 กิโลเมตร เกิดแผ่นดินไหวเป็นเวลาหลายเดือน หลังจากนั้นมีฝนกรดซัลฟิวริกตกลงมาทำให้มหาสมุทรมีสภาพเป็นกรด ในขณะที่ฝุ่นผงต่าง ๆ จะลอยขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้วรวมตัวกันในชั้นบรรยากาศโลก บดบังแสงอาทิตย์ได้นานกว่า 1 ปี ทำให้อุณหภูมิโลกลดลงเฉียบพลัน พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ห่วงโซ่อาหารถูกทำลาย ดังนั้นคาดว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจจะทำให้สิ่งมีชีวิตประมาณ 75% ล้มตาย


แต่ในการศึกษาครั้งใหม่ของนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเบลเยียม ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ (Nature) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นอีกหนึ่งความเป็นไปได้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต เกิดจาก "ฝุ่นซิลิเกต" หลังนักวิจัยพบฝุ่นซิลิเกตในแหล่งฟอสซิลในรัฐนอร์ทดาโกตา สหรัฐอเมริกา มากกว่าที่คิดไว้ ซึ่งเกิดขึ้นจากการชนของดาวเคราะห์น้อยเช่นกัน และเป็นปัจจัยที่ถูกมองข้ามมาโดยตลอด เนื่องจาก แต่ก่อนนักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า การที่อุณหภูมิโลกขณะนั้นลดลงอย่างมาก เกิดจากการระเหยของกำมะถันที่เกิดหลังจากที่ดาวเคราะห์น้อยชนโลก รวมถึงเขม่าที่เกิดจากไฟป่าจำนวนมาก ที่ลอยขึ้นไปบดบังแสงอาอาทิตย์ 


ข้อสันนิษฐานดังกล่าว เกิดจากการที่นักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจสอบปริมาณของฝุ่นซิลิเกตเพิ่มเติม โดยได้จำลองสภาพอากาศและได้เพิ่มปริมาณของฝุ่นซิลิเกตเข้าไป ทำให้พบว่าฝุ่นซิลิเกตสามารถแขวนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานมากถึง 15 ปี จึงสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า หลังจากการปะทะของดาวเคราะห์น้อย ฝุ่นซิลิเกตนี้เป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิโลกลดลงถึง 15 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกครั้งใหญ่ ส่งถึงการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้ว


แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่ถูกสรุปออกมาถึงความเป็นไปได้ แต่ก็ทำให้เห็นว่า ปัจจัยเล็ก ๆ อย่างฝุ่นก็เป็นปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกยังคงหาคำตอบที่ชัดเจนต่อไป เพื่อให้มนุษย์เตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ธรรมชาติ ที่ไม่อาจรู้ได้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ 


ที่มารูปภาพ NewAtlasThe Guardian

ที่มาข้อมูล Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง