“เหยื่อบูชายัญ” เผ่ามายา ส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย ไม่ใช่วัยผู้ใหญ่แบบที่เชื่อกันมา
“ชนเผ่ามายา” อารายธรรมในแถบอเมริกากลาง ขึ้นชื่อเรื่องการ “บูชายัญ” เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งจะทำพิธีกรรมบน Chichén Itzá หรือพีระมิดแบบชาวมายาที่ส่วนบนเป็นฐานหัวตัด ไม่เหมือนของอียิปต์ที่เป็นหัวแหลม
เหตุผลหลัก ๆ ในการบูชายัญของพวกเขาคือการทำพิธีกรรมเพื่อสร้างพันธสัญญาต่อพระเจ้า และหวังให้พระเจ้าปกปักษ์รักษาเผ่าพันธ์ุของตน หรือมอบความอุดมสมบูรณ์ ไม่มีภัยธรรมชาติมาทำลาย
ส่วนมากตามภาพเขียนโบราณแบบจำลองตามอินเทอร์เน็ต หรืองานศึกษาวิจัยทางมานุษยวิทยาแบบเดิม ๆ จะชี้ชัดว่า เหยื่อหรือผู้ที่ต้องเสียสละในการบูชายัญ มักจะเป็น “วัยผู้ใหญ่” ทั้งชายและหญิง
ทว่าไม่นานนี้ มีงานศึกษาใหม่ได้ออกมาโต้แย้งว่า ส่วนใหญ่แล้วเหยื่อบูชายัญคือ “เด็กผู้ชาย” และที่น่าตกใจ คือเป็นเด็กผู้ชายที่มีอายุ “ต่ำกว่า 6 ปี” เสียด้วย
เด็กผู้ชายตายแบบศักดิ์สิทธิ์
การทำวิจัยเรื่องการบูชายัญของมายา ว่าใช้เพศหรือช่วงอายุใดในการเป็นเครื่องสังเวยส่วนใหญ่ เป็นเรื่องที่ยากมาก ๆ เพราะหลงเหลือแต่เพียงโครงกระดูกที่ไม่สมบูรณ์ เป็นชิ้นส่วนกระจัดกระจายออกมา ทำให้ไม่สามารถแบ่งแยกเพศสภาพได้
แต่ส่วนใหญ่มักจะสรุปกันไปแล้วว่า ชาวมายานิยมบูชายัญหญิงสาว โดยเฉพาะสาวบริสุทธิ์เพราะพระเจ้าชื่นชอบ
เรื่องนี้ รูเบ็น เมนโดซา ศาสตราจารย์ด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้เขียนหนังสือ Ritual Human Sacrifice in Mesoamerica ได้กล่าวเน้นย้ำว่า
“ส่วนมากแล้วที่บอกว่าบูชายัญผู้หญิงเป็นเรื่องตามตำนานทั้งสิ้น … และสื่อก็มาตอกย้ำภาพของหญิงสาวบริสุทธิ์ที่ได้รับการกระทำที่รุนแรงอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อพระเจ้า … แม้ว่าการตรวจสอบกระดูกเชิงกรานจะช่วยให้ระบุได้ว่าเป็นเพศใด แต่สิ่งนี้ก็ทำได้แต่เพียงช่วงวัยแรกรุ่น หากโครงกระดูกนั้นอยู่ในวัยผู้ใหญ่ จะไม่มีความแตกต่างกัน”
แต่แล้ว ข้อสงสัยที่ตั้งต้นมา ก็ได้รับการต่อยอดในงานศึกษา Ancient genomes reveal insights into ritual life at Chichén Itzá ที่ชี้ชัดว่า หากไม่สามารถที่จะตรวจสอบกระดูกโดยตรงได้ ก็ให้หันมาศึกษา “จีโนม” ในเชิงเปรียบเทียบ หรือก็คือ ให้ถอดรหัสทางพันธุกรรมประเภท DNA ที่ได้จากกระดูกของผู้ที่ได้รับการบูชายัญใน Chichén Itzá ออกมา และนำไปเทียบเคียงกับ DNA ของชนเผ่าใกล้เคียงอื่น ๆ ดู จึงจะทราบว่า พวกที่ได้รับการบูชายัญนั้นตรงกับช่วงวัยใด
ซึ่งจากการเก็บ DNA การตรวจสอบไอโซโทปคาร์บอน ทำให้พบว่า ส่วนมากโครงกระดูกตามสถานที่ทำพิธีกรรมนั้นเป็น “เด็กผู้ชาย” ที่มีอายุอยู่ราว ๆ 3-6 ปี และที่น่าตกใจคือ เด็กผู้ชายเหล่านี้ มักจะเป็น “ฝาแฝด” กัน และจะได้รับการให้อาหารแบบเดียวกันในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นการขุนให้ได้น้ำหนักเพื่อเตรียมการสำหรับควักหัวใจออกมาบูชายัญ
สิ่งที่น่าสงสัยคือ เหตุใดต้องเป็นฝาแฝด เรื่องนี้
คริสตินา วารินเนอร์ส หนึ่งในทีมงานขุดค้นและวิจัยจีโนมของเรื่องนี้ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การมีฝาแฝดเกิดขึ้นในชนเผ่าคือเรื่องสุดมหัศจรรย์ถือเป็นพระเจ้าประทานตามคติมายาโบราณ โดยเฉพาะ เรื่องราวของวีรบุรุษฝาแฝด ที่ลงไปต่อกรกับเจ้าแห่งยมโลกเพื่อล้างแค้นให้บิดาของตน”
ทั้งยังได้กล่าวเสริมว่า “เราต้องเข้าใจว่าการบูชายัญนี้ พวกเขา (ชาวมายา) ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการสูญเสียลูก แต่เป็นโอกาสอันดีที่จะได้ถวายตนแก่กลุ่มของตนเอง นัยของพวกเขาแตกต่างจากเราโดยสิ้นเชิง”
ความสำคัญต่อประวัติศาสตร์
เมื่อมาถึงตรงนี้ เราอาจจะต้องทำความเข้าใจประวัติศาสตร์อเมริกากลางเสียใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องของการบูชายัญ ที่จะเห็นได้ว่า ภาพจำที่เรารับรู้ กับหลักฐานทางโบราณคดีและวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ไปด้วยกัน
แต่ประวัติศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขได้ง่าย ๆ เพราะหากมนุษยืเราเชื่อสิ่งใดไปแล้ว ก็จะเชื่อฝังใจไปตราบนานเท่านาน ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องใช้เวลาเสียเล็กน้อย
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นผลพวงมาจากการวิจัยจีโนม นั่นคือ นักวิจัยได้ค้นพบการพัฒนายีนส์ของประชากรในดินแดนใกล้กับ Chichén Itzá มีภูมิคุ้มกัน “Salmonella” แบคทีเรียอันตรายที่มาจากชาวตะวันตกตั้งแต่ยุคคิรสต์ศตวรรษที่ 16 ในช่วงค้นพบโลกใหม่
ซึ่งก็อาจจะต่อยอดไปศึกษาเรื่องระบบภูมิคุ้มกันของชาวพื้นเมือง และอาจจะทำให้สร้างข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ที่ว่า ชาวตะวันตกนำโรคร้ายมาคร่าชีวิตชนพื้นเมืองไปสิ้น ว่าอาจจะไม่เป็นจริงก็เป็นได้
Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ Ritual Human Sacrifice in Mesoamerica
บทความ Ancient genomes reveal insights into ritual life at Chichén Itzá
https://edition.cnn.com/2024/06/12/science/ancient-dna-maya-child-sacrifices-scn/index.html