พายุวิภา-น้ำโขงหนุน หนองคายเฝ้าระวัง ภาคกลางเตรียมรับมวลน้ำ

ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2568 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สถานการณ์อ่อนไหวทางอุทกภัยอีกครั้ง เมื่อพายุโซนร้อนกำลังแรง “วิภา” เริ่มก่อตัวบริเวณชายฝั่งมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ก่อนจะเคลื่อนตัวผ่านอ่าวตังเกี๋ยตรงเข้าสู่ประเทศเวียดนาม โดยมีแนวโน้มอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันและหย่อมความกดอากาศต่ำขณะเคลื่อนผ่านลาวเข้าสู่ภาคเหนือตอนบนของไทย แม้พายุจะไม่เข้าไทยโดยตรง แต่ปริมาณฝนที่กระหน่ำลงมาอย่างต่อเนื่องได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบระบายน้ำของหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และภาคตะวันออกที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของพายุดังกล่าวเต็มรูปแบบ
ระดับน้ำโขงหนองคายพุ่งสูงกว่าปีที่แล้ว
ในช่วงเช้าของวันที่ 21 กรกฎาคม สำนักงานอุทกวิทยาหนองคายรายงานระดับน้ำโขงที่จุดวัดบริเวณเทศบาลเมืองหนองคายอยู่ที่ 8.58 เมตร แม้จะยังต่ำกว่าระดับตลิ่งที่ 12.20 เมตรอยู่ราว 3.6 เมตร แต่ข้อมูลเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าปีนี้น้ำมาเร็วกว่าปกติ และแนวโน้มจะเพิ่มสูงเกินระดับวิกฤต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อว่าภายในไม่กี่วันข้างหน้า หากฝนในลาวและภาคเหนือยังตกหนัก น้ำโขงอาจแตะระดับ 13-14 เมตรได้ไม่ยาก
ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายสมภพ สมิตะสิริ ได้มีคำสั่งเร่งด่วนให้ทุกอำเภอโดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเตรียมพร้อมอุปกรณ์ เครื่องจักร และบุคลากรเพื่อรับมือทั้งน้ำโขงที่อาจล้นตลิ่ง และฝนที่ยังคงถาโถมลงมาในหลายพื้นที่อย่างไม่หยุดยั้ง
ฝนถล่มภาคเหนือ เขื่อนแม่งัดเร่งระบายน้ำ
ขณะที่จังหวัดในภาคเหนือตอนบนอย่างเชียงใหม่และลำปางเผชิญกับฝนที่ตกต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์ ในเขตอำเภอแม่แตง เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเริ่มพร่องน้ำวันละ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคมเป็นต้นมา รวม 5 วัน คาดว่าระบายน้ำออกได้กว่า 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเตรียมพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มเติม รองรับฝนที่กำลังจะตกลงมาในช่วงพีคระหว่างวันที่ 21 ถึง 24 กรกฎาคม
ในอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ฝนที่ตกสะสมมาหลายวันเริ่มส่งผลให้ลำน้ำวังมีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทศบาลตำบลวังเหนือได้เปิดประตูฝายทุกบานเพื่อระบายน้ำออกจากลำน้ำก่อนที่ฝนลูกใหม่จะเข้ามา พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงให้ขนของขึ้นที่สูง และเตรียมพร้อมอพยพหากมีคำสั่งฉุกเฉิน
เชียงรายเตรียมรับน้ำจากเมียนมา
ในช่วงเวลาเดียวกัน ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. นำโดยเลขาธิการ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะเขตอำเภอแม่สาย ซึ่งมีแม่น้ำสายเป็นแม่น้ำชายแดนรับน้ำจากฝั่งเมียนมาโดยตรง สถานการณ์น่าเป็นห่วงเมื่อข้อมูลเรดาร์พยากรณ์ฝนระบุว่าจะมีฝนตกหนักในพื้นที่ต้นน้ำอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 25 กรกฎาคม โดยเฉพาะช่วงกลางดึกของคืนวันอาทิตย์ต่อเนื่องถึงเช้าวันจันทร์ มวลน้ำจากฝั่งเมียนมาและฝนในพื้นที่อาจทำให้แม่น้ำสายล้นตลิ่งและไหลเข้าพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาล
การลงพื้นที่ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเร่งรัดการขุดลอกลำน้ำสายและลำน้ำสาขาที่ยังมีวัชพืชและตะกอนปิดกั้นการไหลของน้ำ พร้อมทั้งจัดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแบบเรียลไทม์ในหลายจุด รวมถึงจัดทำข้อมูลฝนรายพื้นที่ร่วมกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อให้การวางแผนของจังหวัดมีความแม่นยำยิ่งขึ้น
ภาคกลางเฝ้าระวังระดับน้ำเจ้าพระยา
ต่อมาในช่วงวันที่ 20 ถึง 21 กรกฎาคม กรมชลประทานประกาศปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท จาก 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพิ่มขึ้นเป็น 800 และคาดว่าอาจต้องขยับขึ้นไปถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตรในสัปดาห์นี้ เพื่อรับมือกับมวลน้ำจากทางเหนือตลอดแนวแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ที่เริ่มทะยอยไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมกันกับฝนที่ตกหนักจากอิทธิพลของพายุวิภาในพื้นที่ภาคกลาง
ระดับน้ำท้ายเขื่อนมีแนวโน้มยกตัวต่อเนื่อง โดยในบางช่วงสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตรภายใน 24 ชั่วโมง ส่งผลให้จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เช่น อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี เริ่มเฝ้าระวังพื้นที่นอกคันกั้นน้ำอย่างใกล้ชิด
คลื่นลมแรงและฝนหนักในภาคตะวันออกและภาคใต้
ขณะที่พื้นที่ชายฝั่งตะวันออกโดยเฉพาะจังหวัดตราดได้รับคำเตือนให้อพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในขณะที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฝนที่ตกหนักนานเกือบชั่วโมงทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายจุด ระบบระบายน้ำไม่สามารถระบายได้ทันจากการอุดตันของขยะ อีกทั้งลมกระโชกแรงทำให้ต้นไม้ล้มทับสายไฟ เกิดไฟฟ้าดับในบางพื้นที่
กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า คลื่นในทะเลอ่าวไทยและอันดามันอาจสูงถึง 2 ถึง 3 เมตร จึงขอให้ชาวประมงงดออกเรือจนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม
แม้พายุ “วิภา” จะอ่อนกำลังลงก่อนเข้าสู่ประเทศไทย แต่พลังของฝนตกหนักที่กระจายครอบคลุมเกือบทุกภาค ได้ทดสอบทั้งระบบเตือนภัย ความพร้อมของท้องถิ่น และประสิทธิภาพของการจัดการน้ำทั้งระบบอย่างชัดเจน ยิ่งในปีที่ลุ่มน้ำโขงมีปริมาณน้ำต้นฤดูสูงกว่าค่าเฉลี่ย ความเสี่ยงของอุทกภัยไม่ได้อยู่แค่ในแผนที่ แต่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ชุมชนที่อยู่ริมแม่น้ำใหญ่ทั่วประเทศ
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มฝนที่ยังไม่สิ้นสุด การเตรียมรับมือจึงต้องขยับจากระดับ “เฝ้าระวัง” สู่ “ปฏิบัติการเชิงรุก” โดยไม่ชะล่าใจว่าพายุจะเบาบางลง หากแต่ต้องคำนึงว่า เมื่อฝนไม่หยุดไหล น้ำก็ไม่มีวันหยุดขึ้นเช่นกัน
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
