รีเซต

รถและยานพาหนะของดีประจำปี 2023 ที่ต้องถามว่าคิดได้ยังไง!? | TNN Tech Reports

รถและยานพาหนะของดีประจำปี 2023 ที่ต้องถามว่าคิดได้ยังไง!? | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
26 ธันวาคม 2566 ( 16:57 )
45
รถและยานพาหนะของดีประจำปี 2023 ที่ต้องถามว่าคิดได้ยังไง!? | TNN Tech Reports



เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยียานพาหนะที่ล้ำสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เรือในรูปแบบใหม่ ๆ ไปจนถึงอีวีทัล (eVTOL) ที่เป็นอากาศยานขึ้น-ลงในแนวดิ่ง แต่บินตามแนวราบตามเส้นทาง 


แต่ถ้าใครคิดว่าแปลกแล้ว ขอบอกเลยว่ายังมียานพาหนะที่น่าสนใจอีกมากมาย ที่อาจจะฉีกภาพจำยานพาหนะที่เราเคยเห็น อย่างเช่น ยานพาหนะที่น่าจับตามองในปี 2023 ที่เรารวบรวมมาในบทความนี้ ล้วนเกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่จะเข้ามาตอบโจทย์ และรองรับรูปแบบการใช้ชีวิตแห่งอนาคตทั้งสิ้น


LMP3 รถ EV ที่ใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่เต็มไม่ถึง 4 นาที 


แอลเอ็มพีทรี (LMP3) ถือเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้เวลาชาร์จไม่ถึง 4 นาที จากแบตเตอรี่ที่หมดเกลี้ยงจนเต็ม


รถ EV คันนี้สร้างขึ้นมาโดยกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไอโฮเฟ่น ในนามชื่อทีมว่า อินโมชัน โดยได้ติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 29.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง วิ่งได้ไกลสุดประมาณ 250 กิโลเมตร รองรับการชาร์จไฟด้วยกำลัง 322 กิโลวัตต์ และใช้เวลาเพียง 3 นาที กับ 56 วินาที ในการชาร์จไฟจากที่หมดจนเต็มความจุ


โดยความแตกต่างของรถ LMP3 กับรถ EV ทั่วไป อยู่ที่ระบบแบตเตอรี่ ซึ่ง LMP3 มีระบบหล่อเย็นที่แทรกอยู่ระหว่างแถวของเซลล์แบตเตอรี่ เพื่อลดความร้อนระหว่างชาร์จ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้แบตเตอรี่ชาร์จได้ไม่เต็มกำลัง


ทีมนักศึกษาได้มีการนำรถ LMP3 ไปทดสอบในการแข่งในรายการ ทเวนตี้โฟร์ อาวเวอร์ส ออฟ เลอม็อง (24 Hours of Le Mans) รายการแข่งรถทรหด 24 ชั่วโมง ในฝรั่งเศส เพื่อใช้ทดสอบการชาร์จภายใต้สภาพแวดล้อมสุดขั้ว เพื่อศึกษาและยกระดับคุณภาพรถ LMP3 ต่อไป


แม้ว่าการหล่อเย็นให้กับแบตเตอรี่รถ EV จะไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้วผู้ผลิตแบตเตอรี่รถ EV นั้นไม่ได้เน้นการทำระบบทำความเย็นเท่าใดนัก แต่การพัฒนาของทีมอินโมชันได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการใช้ระบบหล่อเย็นนั้น เป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพจริง 


โดยหวังเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ผลิตรายใหญ่ในวงการรถยนต์ EV หันมาทำแบตเตอรี่ที่ชาร์จเร็วในอนาคต


AirCar แนวคิดยานยนต์ 4 ไอพ่น


จากรถชาร์จไวมาต่อกันกับ รถบินได้แบบใหม่ที่ไม่ได้แค่ทรงพลังแต่ยังหรูหรากับ แอร์คาร์ (AirCar) อากาศยานขึ้นลงแนวดิ่ง ที่บินขึ้นได้โดยไม่ต้องมีสนามบิน


แอร์คาร์ออกแบบโดยลาซซารินี (Lazzarini) บริษัทออกแบบยานพาหนะจากอิตาลีชื่อดัง มีหน้าตาคล้ายกับห้องโดยสารรถมาติดเข้ากับใบพัดเครื่องยนต์ 4 ทิศทาง ความยาว 6 เมตร รองรับ 1 นักบิน และผู้โดยสาร 3 คน 


โดยใช้ตัวถังแบบโมโนค็อก (Monocoque) ที่ขึ้นรูปเพียงชิ้นเดียวทั้งลำ วัสดุทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ที่เบาเป็นพิเศษ  ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เจ็ตโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) จำนวน 4 ตัว ที่ยังคงใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ให้ความเร็วสูงสุด 750 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะการบินอยู่ที่ 1,200 กิโลเมตร 


ส่วนความหรูหราของแอร์คาร์ อยู่ที่กระจกที่เป็นแบบพาโนรามา มองเห็นได้รอบทิศทางทั้งตัวรถ แม้แต่หลังคาและประตูแบบปีกผีเสื้อก็เป็นกระจกทั้งหมดเช่นกัน พร้อมการตกแต่งภายในที่ดูมีระดับ แต่ทั้งหมดนี้ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาต้นแบบก่อนเปิดเผยออกสู่สายตาสาธารณชนในอนาคต


SHANE รถยนต์ 2 ล้อยักษ์ ที่วิ่งได้จริง !


เชน (SHANE) คือ รถยนต์ที่ฉีกกรอบรถยนต์ทุกคัน เพราะมี 5 ที่นั่ง แต่ขับเคลื่อนด้วยล้อเพียง 2 ล้อ เท่านั้น และเป็นล้อใหญ่ยักษ์ที่ผู้พัฒนามั่นใจว่าใช้งานได้จริง


เชน (SHANE) เป็นแนวคิดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยล้อขนาดใหญ่ 2 ล้อ ที่ไม่ได้บอกขนาดไว้ โดยมีระบบกันสะเทือนที่เป็นตัวคืนพลังงานไฟฟ้าในล้อในตัวเดียวกัน พร้อมกับระบบเลี้ยวแบบ 360 องศา 


เชนมีความเร็วสูงสุดประมาณ 112 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะทางวิ่งต่อรอบการชาร์จที่ไม่ต่ำกว่า 160 กิโลเมตร มีทางเข้าด้านหน้าเป็นประตูบานเดียว ส่วนด้านหลังเป็นที่เก็บสัมภาระ ภายในเป็นที่นั่งผู้โดยสารจำนวน 5 ที่นั่ง โดยนั่งในแถวหน้า 2 คน และแถวหลัง 3 คน


ทั้งนี้ เชน ไม่ได้มีกำหนดการขายในปัจจุบัน แต่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจในเชิงธุรกิจเข้ามาติดต่อเพื่อพัฒนาสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ในอนาคตอันใกล้นี้


ARCHAX หุ่นยนต์ทรงกันดั้ม ขับขี่ได้


ปิดท้ายบทความนี้ด้วยการขับขี่ที่เชื่อว่า หลายคนไม่เคยเห็นมก่อนแน่นอน กับ อาร์แคกซ์ (ARCHAX) หุ่นยนต์ที่สามารถให้คนเข้าไปบังคับภายในตัวหุ่นยนต์ ให้ความรู้สึกเหมือนได้ขับ กันดั้ม หุ่นยนต์จากการ์ตูนแอนิเมชันชื่อดังของญี่ปุ่นจริง ๆ 


ตัวหุ่นยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ มีความสูง 4.5 เมตร และหนัก 3.5 ตัน ด้านในของหุ่นยนต์มีห้องคนขับ พร้อมจอภาพ ที่จะรับภาพเชื่อมต่อจากกล้องภายนอกตัวหุ่นยนต์ เพื่อให้คนขับสามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบได้ โดยใช้จอยสติ๊ก ในการควบคุมหุ่นยนต์กว่า 26 ข้อต่อ 


หุ่นยนต์ทำงานใน 2 รูปแบบ ได้แก่ โหมดหุ่นยนต์ ที่จะยืนตรงอยู่กับที่ แต่ควบคุมแขน-ขา การหันซ้าย หันขวา ได้ กับโหมดยานพาหนะ ที่กางล้อที่ขา 4 ล้อ ออกมา โดยทำความเร็วได้สูงสุด สูงสุด 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 


โดยอาร์แคกซ์ ได้เปิดตัวในงาน เจแปน โมบิลิตี้ โชว์ (Japan Mobility Show) หรืองานแสดงยานยนต์ที่ญี่ปุ่นช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยจะวางจำหน่ายในราคาละตัวละ 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 106 ล้านบาท โดยผลิตขึ้นมาทั้งหมด 5 ตัว มีแผนพร้อมต่อยอดสู่หุ่นยนต์บรรเทาสาธารณภัยในอนาคตอีกด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง