รีเซต

อุทยานฯเจ้าไหม เปิดเผยผลการผ่าพิสูจน์ซากพะยูนท้องแก่ตายทั้งกลม ถูกตัดเขี้ยว พบตายขณะกำลังกินหญ้า

อุทยานฯเจ้าไหม เปิดเผยผลการผ่าพิสูจน์ซากพะยูนท้องแก่ตายทั้งกลม ถูกตัดเขี้ยว พบตายขณะกำลังกินหญ้า
มติชน
19 ธันวาคม 2563 ( 11:16 )
62

วันที่ 19 ธันวาคม  จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม พบพะยูน เพศเมีย น้ำหนักประมาณ 260 -270 กิโลกรัม ความยาววัดได้ 2.57 เมตร ลอยตายอยู่ในทะเลระหว่างเกาะกระดานกับเกาะแหวน เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จากการตรวจสอบพบว่า ลักษณะท้องป่อง บริเวณปากถูกตัดเขี้ยวหายไป 2 ข้าง มีบาดแผลลึกประมาณ 3 – 4 นิ้ว ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมได้ประสานสัตว์แพทย์ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ร่วมกับสัตว์แพทย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ร่วมกันทำการผ่าพิสูจน์ และพบมีลูกน้อยอยู่ภายในท้องด้วยนั้น

 

ล่าสุด นายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้กล่าวถึงผลการผ่าชันสูตรซากพะยูนท้องแก่ใกล้คลอดตัวดังกล่าวว่า พบบาดแผลรอยบาดจากของมีคมบริเวณด้านหลังส่วนท้าย ยาว 15 ซม. และพบลักษณะแผยจากการถูกของมีคมและวัตถุแข็งกระแทกบริเวณส่วนท้ายของลำตัวด้านขวา ทำให้มีรอยช้ำบริเวณรอบบาดแผล ผิวหนังหลุดบริเวณกว้าง และพบกล้ามเนื้อมีรอยช้ำ เกิดการฉีกขาดอย่างรุนแรง โดยแผลทะลุเข้าไปในชั้นกล้ามจนถึงอวัยวะภายใน ซึ่งบ่งชี้ถึงการได้รับบาดเจ็บว่า เกิดจากของมีคมและเป็นวัตถุแข็งกระแทกอย่างรุนแรง และพบเขี้ยวพะยูนข้างซ้ายถูกตัดหายไป ซึ่งคาดว่าถูกเลาะออกไปภายหลังจากการตาย เนื่องจากไมพบรอยช้ำของบาดแผลโดยรอบ

 

 

และเมื่อเปิดผ่าอวัยวะภายในพบลูกพะยูน วัดความยาว 82 เซนติเมตร น้ำหนัก 9.2 กิโลกรัม ซึ่งจากการตรวจสอบบ่งบอกว่าพฤติกรรมดังกล่าวอยู่ในช่วงระยะเวลาที่พะยูนใกล้คลอด ซึ่งพฤติกรรมของพะยูนจะเข้าสู่พื้นที่ที่เป็นน้ำตื้น เนื่องจากช่วงท้องแก่ของแม่พะยูนจะเป็นช่วงที่มีความอ่อนแอ ส่วนการผ่าระบบทางเดินอาหารจะพบว่ามีหญ้าทะเลอยู่เต็มช่องปาก และตลอดทางเดินอาหาร บ่งบอกว่าพะยูนสามารถกินอาหารได้ตามปกติ ทางทีมสัตว์แพทย์ลงความเห็นว่า การตายไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่เกิดจากของแข็งมีคมแทงทะลุจนถึงอวัยวะภายในร่างกาย ส่งผลให้มีการเสียเลือดมาก และส่งผลกระทบต่อลูกสัตว์ในท้อง ร่วมกับพะยูนอยู่ในภาวะใกล้คลอดทำให้ลูกและแม่พะยูนตายอย่างฉับพลัน ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) เก็บตัวอย่างอวัยวะภายในส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป

 

 

ในส่วนของอุทยานฯเตรียมนำผลการผ่าพิสูจน์ดังกล่าวไปมอบให้ทางตำรวจ เพื่อนำไปประกอบสำนวนคดี ตามที่ได้แจ้งความไว้เมื่อวานนี้ เพื่อติดตามคนกระทำผิดต่อไป โดยเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 เกี่ยวกับการทำให้เกิดเป็นอันตรายต่อสัตว์ในเขตอุทยานแห่งชาติมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 แต่เนื่องจากพะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ. ศ. 2562 เช่นกันการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำต่อสัตว์ป่าสงวนก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ. ศ. 2562 ความผิดตามมาตรา 12 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปีหรือปรับตั้งแต่ 300,000-1.5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าพฤติกรรมที่ทำความผิดในลักษณะเช่นนี้โทษจะสูงมาก

 

ส่วนการตัดเขี้ยวพะยูนนั้น นายณรงค์ กล่าวว่า ถือว่ามีบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ไปถึงที่บริเวณเกิดเหตุหรือไปถึงที่บริเวณพะยูนตาย และก็มีการลักลอบตัดเขี้ยวไปบางส่วนซึ่งยังถือว่าเป็นการคาดเดาเวลาเพียงสั้นๆในการเร่งรีบเมื่อพบพะยูน หากเจตนาที่จะเอาเขี้ยวไปทั้งหมดถือว่ายังคงต้องใช้เวลา ส่วนพฤติกรรมคาดว่าน่าจะไปเจอพะยูนที่ตายแล้วและได้ตัดเขี้ยวไป ส่วนประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องขบวนการล่าพะยูน ทางอุทยานได้ประสานข้อมูล ทั้งจากภาคชุมชนหรือท้องถิ่น ต่างๆไม่ปรากฏว่ามีขบวนการที่พยายามจะล่าพะยูน หลังจากนี้ ทางอุทยานฯจะร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ในการสืบหาข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำของผู้หนึ่งผู้ใด เพื่อช่วยตำรวจด้วย ส่วนแผนการดูแลอนุรักษพะยูนในพื้นที่หลังจากนี้ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 80,000 ไร่เศษ เรามีหน่วยพิทักษ์อุทยานในท้องทะเลออกตรวจปราบปรามตามแนวทางในเชิงคุณภาพมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในท้องทะเลตรัง ตามแนวทางที่ทางกรมอุทยานวางไว้ร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง