รีเซต

ตรัง โอกาสทองช่วงมรสุมชาวบ้านแห่เก็บหอยขายสร้างรายได้

ตรัง  โอกาสทองช่วงมรสุมชาวบ้านแห่เก็บหอยขายสร้างรายได้
77ข่าวเด็ด
25 พฤษภาคม 2563 ( 05:35 )
134

 

วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 นับจากบริเวณชายหาดบ้านหาดยาว – หาดหยงหลิง เขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อ.กันตัง จ.ตรัง ระยะทางยาวประมาณ 3 กม. หลังน้ำทะเลซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมลดต่ำลงจากบริเวณชายหาด พบว่าได้มีชาวบ้านทั้งในพื้นที่บ้านหาดยาว และพื้นที่ใกล้เคียงที่ทราบข่าวว่ามีหอย โดยเฉพาะหอยชักตีน และหอยเจดีย์ หรือหอยหลักไก่ ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานของชาวบ้าน และร้านอาหาร ถูกคลื่นซัดขึ้นมากับทรายเป็นจำนวนมาก

 

 

โดยสถานการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรกของปีนี้ ในวันเสาร์-วันอาทิตย์นี้ และจะมีต่อเนื่องไปอีกประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูมรสุมเกิดคลื่นลมแรงในทะเล โดยชาวบ้านจะสามารถเก็บหอยได้ประมาณครั้งละ 4-5 วัน โดยแต่ละปีจะเกิดขึ้นประมาณไม่เกิน 3 ครั้งเท่านั้น นับจากช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ทำให้ชาวบ้านที่ไปพบโดยบังเอิญในครั้งนี้ ต่างโทรเรียกครอบครัวญาติพี่น้องทั้งเด็ก วัยทำงาน วัยรุ่น และคนชรา มาช่วยกันงม และควานหาหอยกันเป็นจำนวนมากประมาณ 300-400 คน เป็นกลุ่มๆ ตลอดแนวชายหาด โดยแต่ละคนใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายจากในบ้านของตนเอง ทั้งถุงพลาสติก ถังน้ำ ตะกร้า บุ้งกี๋ ตะกร้าหน้ารถ ถุงอวน เป็นต้น

 

 

ทั้งวิธีช้อนตักกับอุปกรณ์ และงมกอบด้วยมือเปล่าแล้วนำมาแยก ทั้งนำไปขาย และนำไปประกอบอาหารรับประทานในครอบครัว ซึ่งหอยชักตีน และหอยเจดีย์ หรือหอยหลักไก่ดังกล่าว จะมีชุกชุมในบริเวณทะเลอันดามัน สำหรับจังหวัดตรังปกติจะมีชาวบ้านหาเป็นประจำในพื้นที่ อ.หาดสำราญ แต่ในช่วงฤดูมรสุมที่คลื่นลมมีกำลังแรง หอยเจดีย์ หรือหอยหลักไก่ และหอยชักตีน จะถูกคลื่นซัดเข้ามาเป็นจำนวนมากบริเวณบ้านหาดยาว – หาดหยงหลิง ที่สำคัญหอยที่พบตัวจะใหญ่ เนื้อแน่น รสชาติหวานมันอร่อยมาก ทั้งนี้ สามารถนำไปปรุงอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งนึ่งจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู๊ด แกง ผัด

 

 

ทั้งนี้ 2 วันแรกที่คลื่นซัดหอยเข้ามาของปีนี้ ชาวบ้านแต่ละรายสามารถเก็บได้เป็นจำนวนมาก บางรายได้นับร้อยกิโลกรัม บางรายได้ 30 – 40 ก.ก. โดยหอยชักตีน ราคาขายต่อบุคคลภายนอก กิโลกรัมละ 100 – 150 บาท แต่บางช่วงจะขายได้ถึงกิโลกรัมละ 200 บาท แต่ขายกันเองในหมู่บ้านก.ก.ละ 80 บาท ส่วนหอยเจดีย์ ซึ่งมีลักษณะตัวใหญ่มากกว่าที่พบในพื้นที่อื่นๆ ราคาขายกิโลกรัมละ 40 บาท ทำให้แต่ละราย 2 วันที่ที่ผ่านมา ชาวบ้านขายได้เงินเป็นกอบเป็นกำรายละ 3,000 – 10,000 บาท ทำให้บรรยากาศการเก็บหอย หรืองมหอยของชาวบ้านจะคึกคักและสนุกสนานเป็นอย่างมาก โดยสามารถหาได้วันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้า และบ่าย หลังน้ำทะเลลดต่ำลงจากแนวชายหาดเท่านั้น ใช้เวลาไม่เกิน 2 ชม.เท่านั้น และเมื่อคลื่นลมสงบลง ก็ต้องกลับบ้าน โดยบางคนตั้งใจมาเก็บ เพื่อนำไปประกอบอาหาร ส่วนใหญ่หาไปขายเป็นรายได้เสริม

 

 

นางสาวดวงใจ บ่อม่วง อายุ 28 ปี ชาวบ้าน หมู่ 6 บ้านหาดยาว ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง กล่าวว่า ปกติตนเองทำงานอยู่ที่โรงแรมแห่งหนึ่ง บนเกาะพีพี จ.กระบี่ แต่หลังเกิดสถานการณ์โรคโควิดระบาด จึงได้เดินทางกลับบ้านมาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว มาทำอาชีพวางอวนปูขาย แต่ช่วงนี้คลื่นลมแรงออกทะเลไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ และคลื่นได้ซัดหอยขึ้นมา จึงออกมาเก็บด้วย เช่นเดียวกับครอบครัวชาวประมงคนอื่นๆ โดยวันนี้ ตนเองเก็บหอยชักตีนได้แล้วประมาณ 20 ก.ก.ส่งขายที่ อ.กันตัง ได้กิโลกรัมละ 150 บาท มีรายได้แล้วประมาณ 3,000 บาท แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่จะขายได้กิโลกรัมละ 100 บาท ซึ่งลูกค้าต่างคนก็ต่างติดต่อ และมีเท่าไหร่ก็ขายหมด ไม่เพียงพอ บางครั้งถ้าหอยน้อยจะขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท ถือเป็นโอกาสทองในช่วงน้ำใหญ่และคลื่นลมแรง ส่วนงานโรงแรมที่เกาะพีพี ขณะนี้ก็โรงแรมยังไม่มีกำหนดเปิด ตนเองจึงยังต้องอยู่บ้านต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

 



ทางด้านนายรุ่งโรจน์ เบ็ญหมูด อายุ 42 ปี ชาวบ้านหาดยาว ซึ่งประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ปหอยชักตีน และหอยเจดีย์ หรือหอยหลักไก่ จะหาได้เฉพาะที่เป็นช่วงฤดูกาลมรสุมที่มีคลื่นสูงเท่านั้น นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป แต่ละปีจะเกิดมรสุมและคลื่นใหญ่ปีละไม่เกิน 3 ครั้งๆละประมาณ 3-5 วัน หรือไม่แน่นอน และพอน้ำทะเลลดต่ำลงจากแนวชายหาด ชาวบ้านก็จะออกมาหาหอยกัน โดยครั้งนี้ถือเป็นรอบแรกของปีที่มรสุมเข้ามา แต่หลังจากนี้จะมีอีก เมื่อมรสุมเข้า โดยหอยนี้จะมาตามลม ตามคลื่น ส่วนใหญ่ที่พบปีละไม่เกิน 3 ครั้ง ส่วนราคาขายหอยชักตีนก.ก.ละ 100 บาท หอยเจดีย์ ก.ก. 40 บาท ตลาดส่วนใหญ่ชาวบ้านจะขายทางไลน์ ทางเฟสบุ๊ก โดยช่วงที่หอยขึ้นมา 1-2วันแรกนี้ บางรายได้เป็นกระสอบ ๆ ละ 30 กก. บางรายเก็บได้ 3-4 กระสอบ โดยคนที่มาพบแรกๆ หรือตามกันมาเก็บในครั้งแรกๆได้คนละ 3 – 4 กระสอบ แต่พอชาวบ้านทราบข่าวก็แห่กันมาเก็บ แต่ก็ได้คนละหลายกก.ไปขาย และนำไปรับประทานในครอบครัว


 

 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง