กางแผนช่วยเหลือ "พะยูน" ถูกเชือกรัดบาดเจ็บ ที่เกาะลิบง

หลังเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ออกสำรวจพบพะยูนมีเชือกขนาดประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ความยาวไม่น้อยกว่า 3 เมตร พันรัดบริเวณแพนหาง และเกิดบาดแผลสดที่หาง ณ อ่าวบ้านพร้าว เกาะลิบง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ (2 พ.ค.) ที่ผ่านมา ซึ่งทีมสัตวแพทย์ได้พิสูจน์อัตลักษณ์พบว่าเป็นพะยูนตัวเดียวกันกับที่เคยเป็นข่าวพบเชือกพันรัดที่หางเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
จากการวินิจฉัยบาดแผลเบื้องต้นผ่านภาพถ่ายและคลิปวิดีโอ ทีมสัตวแพทย์คาดว่าบาดแผลที่บริเวณหางยังสดและยังไม่มีอาการอักเสบรุนแรง จึงจำเป็นต้องรีบดำเนินการช่วยเหลือทันที โดยในการจะล้อมจับพะยูนนั้น ต้องใช้ความระวังอย่างมาก เพราะหากพะยูนตกใจ อาจจะเกิดอาการช็อคตายได้ และหากเจออวนขวางสัญชาตญาณของพะยูนมักจะม้วนตัวลงทำให้ติดอวนได้ง่าย จึงต้องวางแผนปฏิบัติการอย่างรัดกุมเพื่อความปลอดภัยของพะยูนโดยมี 3 แผนหลัก
แผนที่ 1 การตัดเชือกจากระยะไกล
โดยทีมสำรวจจะใช้โดรนจำนวน 3 ลำบินตรวจค้นพื้นที่บริเวณอ่าวบ้านพร้าวช่วงเวลาตั้งแต่นํ้าทะเลเริ่มขึ้น เมื่อพบพะยูนตัวที่มีเชือกพันรัด จะมีการระบุพิกัดและให้ทีมช่วยเหลือประเมินสถานการณ์ หากพะยูนอยู่ในเขตน้ำตื้นจะใช้เรือคายัคเข้าประชิดอย่างระมัดระวัง และพยายามใช้โยทะกา หรืออุปกรณ์ตะขอเกี่ยวคล้องเชือกและตัดออก หากไม่สามารถตัดเชือกได้ จะใช้อุปกรณ์คล้องเชือกและผูกทุ่นลอย เพื่อถ่วงพะยูนและมีทุ่นให้สังเกตการเคลื่อนที่ของพะยูนได้
แผนที่ 2 การกระโดดจับ
เมื่อโดรนสํารวจพบพะยูนตัวที่ถูกเชือกพันรัด ทีมช่วยเหลือจะไล่ต้อนให้พะยูนเข้าสู่บริเวณน้ำตื้น จากนั้นทีมกระโดดจับ พร้อมควบคุมพะยูนอย่างรวดเร็ว และประคองส่วนหัวขึ้นจากน้ำ พร้อมตัดเชือกที่พันบริเวณหางออก และรีบทำการปฐมพยาบาลทันที ก่อนปล่อยตัวกลับอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ กรณีที่ไม่สามารถดําเนินการตามแผนที่ 1 และ 2 ได้สําเร็จ จะพิจารณาใช้แผน 3
แผนที่ 3 การล้อมอวนและกระโดดจับ
รอจังหวะให้พะยูนเข้าบริเวณตื้นและใช้อวนล้อมจํากัดพื้นที่อย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องเฝ้าระวังพะยูนไม่ให้ว่ายมาติดอวน โดยหลังจากปลดเชือกออกแล้ว กรม ทช.จะจัดทีมสัตวแพทย์ติดตามอาการของพะยูนอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถฟื้นตัวได้สมบูรณ์