์ไทย-จีน ประชุมด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลครั้งที่ 8 เดินหน้าเชื่อมต่อข้อมูลจัดการปัญหาขยะในทะเล

วันที่ 21 พฤษภาคม 2568 กรมทรัพยากรทางทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย - จีน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยและจีนด้านทะเล ครั้งที่ 8 และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและส่งเสริมความร่วมมือในอนาคต โดยมีคุณซุน ชูเซียน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ในโอกาสนี้ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคุณเฉิน ตันหง อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประธานร่วม พร้อมกันนี้ นายอุกกฤต สตภูมินทร์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายสุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่จากทั้งสองประเทศ เข้าร่วมประชุม
นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในนามหัวหน้าคณะประจำประเทศไทยว่า จากการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 7 ที่เมืองเซียะเหมิน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี ค.ศ.2023 ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีและได้มีโอกาสเฉลิมฉลองในวาระครบรอบการดำเนินงาน 10 ปี ของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีน ด้านสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศทางทะเล สำหรับการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 8 (JCM-8) ได้มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับโครงการ Ocean Forecasting System (OFS) ซึ่งเป็นโครงการที่มีผลงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานตั้งแต่ ปี ค.ศ.2012 แต่สถานการณ์ระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ประกอบกับการทำงานของ OFS ขัดข้อง ตั้งแต่ปี ค.ศ.2024 ทำให้โครงการ OFS มีข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน โดยได้รายงานสถานการณ์ดังกล่าว ในการประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการวิจัยร่วมไทย-จีนฯ ครั้งที่ 12 (SCM-12) แล้วเมื่อปี ค.ศ.2024 จึงขอให้คณะกรรมร่วมไทย-จีน พิจารณาแนวทางการสนับสนุนการวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับระบบ OFS ระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายจะได้ปรึกษาหารือแนวทางในการจัดหาระบบคอมพิวเตอร์สำหรับระบบ OFS ชุดใหม่
นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดย First Institute of Oceanography ได้ให้การสนับสนุนการก่อสร้าง Scientific Monitoring Station จำนวน 2 แห่ง พื้นที่เกาะมันใน จังหวัดระยอง และพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อโครงการวิจัยด้านสมุทรศาสตร์และสิ่งแวดล้อมมาก อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการพิจารณาสนับสนุนแนวทางการเชื่อมต่อข้อมูลกับสถานีตรวจวัดทางสมุทรศาสตร์ที่กำลังดำเนินงานก่อสร้างของกรมทะเล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ด้านขยะทะเลและ Microplastic ในปัจจุบันเป็นประเด็นสำคัญในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคม 2568 โดยปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสานต่อการดำเนินงานภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านทะเล ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักรไทย สำหรับการประชุมในปีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน ซึ่งสะท้อนถึงมิตรภาพและความร่วมมือที่มั่นคงและยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทั้งนี้ ในส่วนวาระการประชุมฯ ได้มีการนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยร่วม จำนวน 9 โครงการ พร้อมนำเสนอรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบปีที่ 50 ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน ตลอดทั้งดำเนินการเสนอโครงการเรื่อง Marine debris and microplastic ในการนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้โครงการ Marine debris and microplastic เป็นโครงการเดี่ยวของชุดโครงการ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ด้านทะเล จากนั้น คณะกรรมการร่วมทั้งสองฝ่ายเสนอผู้ประสานงานของความร่วมมือไทย-จีน ในรอบต่อไประหว่างปี ค.ศ. 2026-2028 และหารือคณะกรรมการร่วมฯ สำหรับการประชุม JCM-9 ซึ่งในรอบต่อไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม พร้อมกันนี้ คณะกรรมการร่วมฯ แต่ละฝ่าย เสนอรายชื่อผู้จัดทำ Minute ของ JCM-8 และให้ลงนามใน Minute ของ JCM-8 โดยการแลกเปลี่ยนทางจดหมายต่อไป