รีเซต

ส่องนวัตกรรม "เรือเฟอรี่ไฟฟ้า" ลำแรกของไทย

ส่องนวัตกรรม "เรือเฟอรี่ไฟฟ้า" ลำแรกของไทย
TNN ช่อง16
21 สิงหาคม 2563 ( 16:39 )
488
ส่องนวัตกรรม "เรือเฟอรี่ไฟฟ้า" ลำแรกของไทย

        เรือโดยสารเจ้าพระยาถือเป็นขนส่งมวลชนที่หลายคนเลือกใช้ ด้วยราคาต่าโดนสารที่ถูก คุ้มค่า แต่ปัจจุบันอายุการใช้งานของเรือโดยสารแบบตั้งเดิมที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นดีเซลก็ลดลงไป ซึ่งโดยปกติอายุการใช้งานของเรือโดยสารแบบดั้งเดิมจะอยู่ที่ประมาณ 20 ปี อีกทั้งปัจจุบันช่างต่อเรือแบบดั้งเดิมได้ล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว  

        ทำให้ล่าสุด กรมเจ้าท่าได้จับมือกับ บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด ในกลุ่มของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)  ออกแบบและผลิตเรือเฟอรี่ไฟฟ้า "MINE Smart Ferry"หรือเรือโดยสารไฟฟ้า โดยวางแผนที่จะนำออกมาวิ่งให้บริการบนเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยา หวังว่าจะเป็นการนำร่องผู้ประกอบการเรือโดยสารรายอื่นๆในการเปลี่ยนรูปแบบเรือโดยสารให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  เพราะสามารถควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลภาวะที่จะก่อให้เกิด PM 2.5 ได้ 


        สเปค "MINE Smart Ferry"

  • เรืออลูมิเนียมอัลลอย ชนิด Marine Grade
  • รูปแบบทรง Catamaran ทั้งยังให้การทรงตัวที่ดีตามมาตรฐานของ IMO และ IACS Ship Classification
  • ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ด้วยแบตเตอรี่ลิเธียม ไอออนได้มาตรฐาน UN R100 ด้วยระดับการป้องกัน IP67 และได้มาตรฐานสากลทางไฟฟ้า (IEEE, IEC)
  • ห้องโดยสาร กว้างขวาง ติดเครื่องปรับอากาศ และฆ่าเชื้อโรค 
  • ติดตั้งแผง Solar Cell บนดาดฟ้าเรือขนาด 10 kW.
  • อุปกรณ์ตามกฎระเบียบของกรมเจ้าท่า ได้แก่ ระบบถือท้ายหางเสือ ระบบสัญญาณ ไฟเดินเรือ ระบบตรวจสอบ ระบบสูบถ่ายน้ำท้องเรือ ระบบดับเพลิง อุปกรณ์ชูชีพ



ใช้เวลาในการประกอบเรือ เพียง 2-3 เดือน / 1 ลำ 

        "MINE Smart Ferry" จะใช้เวลาประกอบประมาณ 2-3 เดือน / 1 ลำ ส่วนเรือโดยสารแบบดั้งเดิมจะใช้เวลาต่อเรืออย่างน้อย 1 ปีเลยทีเดียว ซึ่งบริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จะจ้างอู่ต่อเรือที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO มีบุคลากร ที่มีประสบการณ์ ความรู้ความชำนาญ ทางด้านการต่อเรืออลูมิเนียมโดยเฉพาะ ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ  ส่วนช่างฝีมือในการประกอบและเชื่อมโครงสร้างอลูมิเนียม ก็จะต้องผ่านการทดสอบระดับฝีมือความชำนาญจากสถาบันรับรองการเชื่อมในระดับสากล ที่สำคัญคือ เป็น"ช่างต่อเรือคนไทย" 

ใช้พลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แต่มีเทคโนโลยีชาร์จเร็ว 

        เรือ "MINE Smart Ferry" สามารถชาร์จได้เร็ว ภายใน 15-20 นาที ด้วยแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 800 kwh   ซึ่งปริมาณไฟฟ้าดังกล่าวก็จะให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา ตลอดเส้นทาง 23 กม. ไปและกลับได้ 2 รอบ ขึ้นอยู่กับความเร็ว โดยสามารถทำความเร็วได้ 80-100 กม./ชม.  เสียงเบา แต่ทางอี สมาร์ทฯ บอกว่า ระหว่างที่วิ่งให้บริการก็จะมีการแวะชาร์จไฟตลอด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุขัดข้องหรือเรือดับกลางทาง 


บรรจุผู้โดยสารได้ 250 คน

        เรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบนี้ จะสามารถบรรจุผู้โดยสารได้ไม่เกิน 250 คน แต่ภายในห้องโดยสารจะให้ความรู้สึกเหมือนโดยสารรถไฟฟ้า มีที่นั่งแบบมาตรฐาน  ราวจับที่แข็งแรง  ผู้โดยสารสามารถก้าวขึ้นลงเรือได้อย่างสะดวกสบาย ด้วยระดับพื้นเรือที่ใกล้เคียงกับระดับของท่าเรือ โดยผ่านประตูด้านข้างทีเปิดกว้างลักษณะเดียวกับรถไฟฟ้า 

        ส่วนกรณีอพยพฉุกเฉิน ผู้โดยสารสามารถออกจากห้องโดยสารได้ทางประตูทางออกฉุกเฉิน ทั้งทางด้านข้างเรือทั้งสองกราบ ซ้าย-ขวา หัวเรือและท้ายเรือ


ค่าโดยสารจะแพงกว่าเรือแบบเก่าไหม? 

        คุณอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA บอกว่า ด้วยการผลิตที่อยู่ในประเทศ รวมทั้งบริษัทยังมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่เป็นของตนเอง ทำให้ลดต้นทุนในการต่อเรือไฟฟ้านี้ได้ ดังนั้นอัตราค่าโดยสารจะไม่เกินราคาปกติของค่าโดยสารเรือแบบเก่า  ซึ่งปกติจะอยู่ที่ประมาณ 20 – 30 บาท แต่หากต้นทุนการผลิตในอนาคตลดลงก็มีโอกาสที่จะปรับลดราคาค่าโดยสารเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

จะเริ่มให้บริการเมื่อไหร่ 

        การเปิดให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้าอย่างเป็นทางการนั้น ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อกระบวนการก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ จากเดิมที่จะต้องแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.นี้  และทำให้ต้องเลื่อนไปเป็นปลายปีนี้  ซึ่งการนำเรือไฟฟ้าออกมาให้บริการในแม่น้ำเจ้าพระยา คาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายปี 2563  ประมาณ  8-12 ลำ และจะให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2564 ประมาณ 20 ลำ

        "เป้าหมายประกอบเรือไฟฟ้าของเราอยู่ที่ 27-30 ลำ ส่วนเรือไฟฟ้าท่องเที่ยว 4-6 ลำ โดยต้องดูสถานการณ์ของประเทศทั้งโควิด-19 ถ้านักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ตลาดเป็นอย่างไร บริษัทก็อาจจะพิจารณาผลิตเพิ่ม" คุณอมร กล่าว 

        ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างการออกแบบเส้นทาง และ ส่งให้กรมเจ้าท่าพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งทางกรมเจ้าท่าเองก็ได้ออกกฎข้อบังคับการตรวจเรือ ว่าด้วยการตรวจเรือไฟฟ้าแล้ว รอเพียงการประกาศใช้ เพื่อนำมากำกับดูแลการให้บริการเรือโดยสารไฟฟ้านี้ 



นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร EA

       การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของระบบขนส่งมวลชนนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องการยกระดับความคล่องตัวในการเดินทางและการขนส่งไปสู่มิติใหม่ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าได้เต็มรูปแบบ ทั้งทางเรือ – รถ – ราง ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรบนถนนที่มีอยู่แล้ว มั่นใจว่าจะช่วยลดต้นทุนการเดินทาง ลดเวลาในการเดินทางของประชาชน เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ภายใต้วิถี New Normal  ที่หวังว่าจะตอบโจทย์ครบในทุกมิติ อีกทั้งช่วยหนุนการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง  

        

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 เปิดปมจ่อยุบ "ไทยสมายล์" ขณะศาลล้มละลายยังไต่สวนไม่จบ

 สินเชื่อแบงก์ยังโต สะท้อนอะไรต่อเศรษฐกิจไทยปีนี้?

 เปิดโครงสร้าง ศบค.เศรษฐกิจ ทำไมพ่วง “ไพรินทร์”เสริมทัพ?

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง