รีเซต

อย่าหาทำ! ให้เด็กดื่มแอลกอฮอล์-เบียร์ อันตรายกว่าผู้ใหญ่ เสี่ยงพัฒนาการทางสมอง

อย่าหาทำ! ให้เด็กดื่มแอลกอฮอล์-เบียร์ อันตรายกว่าผู้ใหญ่ เสี่ยงพัฒนาการทางสมอง
Ingonn
24 มิถุนายน 2564 ( 16:16 )
5.3K
อย่าหาทำ! ให้เด็กดื่มแอลกอฮอล์-เบียร์ อันตรายกว่าผู้ใหญ่ เสี่ยงพัฒนาการทางสมอง

 

จากข่าวที่น่าตกใจ แม่ตั้งวงดื่มเหล้า ให้ลูก 3 ขวบ ยกหมดแก้ว จนลูกอ้วก สร้างความตกใจและน่าเป็นห่วงแก่ครอบครัวในสังคมไทยอย่างมาก เพราะการให้เด็กที่อายุน้อยดื่มเหล้า เบียร์ อันตรายกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า เสี่ยงพัฒนาการทางสมอง

 


กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ย้ำ พ่อ แม่ และผู้ปกครอง ไม่ควรให้ลูกดื่มเหล้า อันตราย มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า ทำลายสมองและระบบต่างๆ ในร่างกายส่งผลระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมอง TrueID จึงได้รวบรวมข้อมูลมาฝากทุกคนกัน

 

 


เมื่อเด็กดื่มเหล้า-เบียร์


สุรา หรือเหล้า คือ เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อดื่มสุราเข้าสู่ร่างกาย จะถูกดูดซึมและกระจายไปทุกส่วนของร่างกายภายในเวลา 5 นาที ซึ่งในผู้ใหญ่ เมื่อมีการดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงแรก จะทำให้ร่างกายมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือด อยู่ที่ประมาณ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะทำให้ผู้ดื่มเกิดอาการสับสน มากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดอาการง่วง สับสน ซึม มึนงง  และถ้ามากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป อาจทำให้สลบ ซึ่งการก่อพิษของแอลกอฮอล์

 

 

ในเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ต่างกัน เพียงแต่ในปริมาณการดื่มที่เท่ากันความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดของเด็กจะมากกว่าเนื่องจากน้ำหนักตัวเด็กที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ และโครงสร้างที่ป้องกันสารพิษในระบบไหลเวียนเลือดไปสู่สมองของเด็กพัฒนาการยังไม่เต็มที่ ทำให้สารพิษเข้าสู่สมองได้มากกว่าผู้ใหญ่ รวมไปถึงอวัยวะต่างๆ  ตับและไต ที่พัฒนายังไม่เต็มที่ ทำให้การขับสารพิษออกจากร่างกายได้ช้ากว่าผู้ใหญ่ แต่ที่สำคัญคือมีผลระยะยาวต่อพัฒนาการทางสมอง จะทำให้เด็กสูญเสียความสามารถในการจดจำ ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถูกทำลายไปด้วยแอลกอฮอล์ 

 

 

 


อันตรายของการที่เด็กดื่มเหล้า-เบียร์

 

ผลการศึกษาของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า อันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่มีต่อเด็ก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้ 

 

อันตรายระยะสั้น ด้วยรูปร่างของเด็กที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ หากดื่มมากเกินไปจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย เป็นเหตุให้สมองหยุดทำงาน การควบคุมสัญญาณชีพต่างๆไม่คงที่ เช่น อุณหภูมิ ชีพจร การหายใจ และความดันโลหิต กรณีเลวร้ายที่สุดคือ ไม่รู้สึกตัว หยุดหายใจและเสียชีวิตในที่สุด

 


อันตรายระยะยาว เด็กที่ดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆเป็นประจำในปริมาณมากจะเพิ่มโอกาสการเสียหายของตับ พัฒนาการของสมองถดถอย เช่น พฤติกรรม อารมณ์ ความมีเหตุมีผล ความจำ และการตัดสินใจ ขณะเดียวกันเด็กที่ดื่มตั้งแต่อายุยังน้อยมีแนวโน้มสูงที่จะเป็นนักดื่มหัวราน้ำเมื่อเป็นผู้ใหญ่ นำไปสู่อาการติดเหล้า โรคมะเร็ง เส้นโลหิตแตก โรคหัวใจ และเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในอนาคต

 

 

การดื่มสุราจะส่งผลต่อการหลั่งสารโดปามีน (dopamine) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสารนี้จะมีผลต่อการกดและทำลายสมองส่วนคิด ทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการของสมอง อาจส่งผลให้เด็ก คิดวิเคราะห์ไม่ได้ รวมทั้งส่งผลต่ออวัยวะสำคัญในร่างกาย  ตับ ไต จะเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ซึ่งตับเป็นแหล่งสำคัญในการผลิตกลูโคสไปเลี้ยงสมอง หากมีผลกระทบต่อตับ กลไกเหล่านี้ก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ 

 

 

ย้ำ พ่อ แม่ และ ผู้ปกครอง สุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เครื่องดื่มที่ควรให้เด็กดื่ม แม้แต่ในผู้ใหญ่เองก็ไม่ควรจะดื่ม ด้วยร่างกายของเด็กหากมีการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จะมีอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่าเมื่อเทียบกับขนาดตัว เด็กควรจะได้รับอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ เช่น นม  ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบและพัฒนาการของเด็ก 

 

 


ยิ่งเด็กเห็นบ่อยๆ เด็กยิ่งทำตาม


การที่สมาชิกในครอบครัวดื่มสุราให้เด็กเห็นเป็นประจำ แนวโน้มที่เด็กจะโตขึ้นมาเป็นนักดื่มที่มีปัญหามีมากกว่าปกติถึง 4 เท่า ยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองยุยงให้ลองดื่ม ยิ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ลูกกลายเป็นนักดื่มเร็วยิ่งยิ่งขึ้นไปอีก 

 


ทั้งนี้หากประสบปัญหาเกี่ยวกับสุรา หรือยาและสารเสพติด สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th

 

 

ความคึกคะนอง หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง พฤติกรรมเหล่านี้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายของเด็กถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งยังอาจทำลายอนาคตของเด็กอย่างคาดไม่ถึง

 

 

 

 

 


ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ , สสส.

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง