รีเซต

“ต้นไม้จักรกล” ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า

“ต้นไม้จักรกล” ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้จริง 1,000 เท่า
TNN ช่อง16
6 พฤษภาคม 2567 ( 11:07 )
119

เพื่อต่อสู้กับปัญหาโลกร้อน บริษัท คาร์บอน คอลเลค (Carbon Collect) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก จึงได้พัฒนา “ต้นไม้จักรกล” หรือ “Mechanical Tree” (แมคคานีเคิลทรี) สำหรับการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น

ภาพจาก Carbon Collect

ผลงานนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างบริษัทกับ เคลาส์ แลคเนอร์ (Klaus Lackner) ศาสตราจารย์วิชาวิศวกรรมและผู้อำนวยการศูนย์กำจัดคาร์บอนจากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (ASU) ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาได้ใช้เวลากว่าสองทศวรรษในการค้นคว้าเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ก่อนจะพัฒนามาเป็นต้นไม้จักรกลแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน ซึ่งได้นำไปใช้งานแล้วภายในมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนา (ASU) 


สำหรับตัวต้นไม้จักรกลนี้ เป็นเสาที่มีความสูงประมาณ 10 เมตร ประกอบไปด้วยแผ่นกรองดูดซับคาร์บอนจากอากาศ โดยตัวเสาสามารถยืดและหดได้ และใช้เวลาในการดูดซับก๊าซประมาณ 30 นาที -1 ชั่วโมงต่อรอบ เมื่อต้นไม้จักรกล ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จนอิ่มตัว มันจะค่อย ๆ หดตัวเสากลับไปยังฐาน เพื่อที่จะได้ปล่อยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ออกจากตัวดูดซับ ก่อนที่จะยืดตัวขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อทำงานรอบต่อไป

ภาพจาก Carbon Collect

บริษัทอ้างว่าต้นไม้จักรกลนี้ สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศได้ดีกว่าต้นไม้จริง ๆ ถึง 1,000 เท่า โดยสามารถทำได้ประมาณ 1 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตามถ้าเทียบกับต้นไม้จริง ๆ แล้ว มันยังทำได้เพียงแค่การช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น ไม่ได้มีกระบวนการปล่อยก๊าซออกซิเจนกลับออกมาเหมือนกับที่ต้นไม้จริงทำได้แต่อย่างใด

ภาพจาก Carbon Collect

บริษัทยังระบุอีกว่า เทคโนโลยีต้นไม้จักรกลนี้ ยังแตกต่างจากเทคโนโลยีการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศโดยตรง (DAC) แบบทั่วไป ตรงที่ไม่ต้องใช้พัดลมดูดอากาศมาเข้าเครื่อง แต่จะใช้การดักจับจากลมธรรมชาติ ทำให้ต้นทุนถูกลง และเป็นยังปรับขนาดการใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์


ซึ่งปัจจุบันตัวต้นไม้จักรกลนี้ ยังคงอยู่ในช่วงของการทดสอบใช้งาน โดยบริษัทวางแผนที่จะขยายขนาดเทคโนโลยี ให้สามารถดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงประมาณ 1,000 ตันต่อวันในอนาคต 


ข้อมูลจาก thechemicalengineerazcentralsustainability-timessiliconrepubliceurekalertcarboncollecdailymail

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง