พรีวิว Sony FX30 สัมผัสประสบการณ์ของกล้อง Cinema ในราคาที่จับต้องได้!
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทางแบไต๋เราได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัว ‘Sony FX30‘ กล้องน้องเล็กสุดในตระกูล Cinema Line ที่ยกเอาฟีเจอร์เด็ด ๆ มาจากรุ่นพี่ฟูลเฟรม FX3 แต่มาในเซนเซอร์ขนาด APS-C 26 ล้านพิกเซล สัมผัสประสบการณ์ของกล้อง Cinema ในราคาที่จับต้องได้ เปิดราคา Body+XLR Handle มาที่ 83,990 บาทเท่านั้น!
สำหรับคนสายภาพนิ่งหรือวิดีโอทั่วไปอาจจะมองว่าราคา 83,990 บาทค่อนข้างสูงเอาเรื่อง แต่กับสายภาพยนตร์นี่ต้องบอกเลยครับว่าจับต้องได้สุด ๆ เพราะตัวอื่นก็หลักแสนกันทั้งนั้น
และอย่างที่เกริ่นไป FX30 มาพร้อมกับฟีเจอร์ที่ถอดรุ่นพี่ FX3 (a7S III ร่าง cinema) ทั้งรูปร่างหน้าตา และความสามารถด้านวิดีโอ ระบบโฟกัสสุดแจ่ม หรือเมาท์เลนส์ E-mount ที่มีเลนส์ในตลาดให้เลือกใช้กันเป็นกองทัพ จะต่างก็ตรงที่หัวใจหลักเปลี่ยนมาใช้เซนเซอร์ APS-C แบบ BSI CMOS คุณภาพสูงรุ่นใหม่ บันทึกวิดีโอความละเอียดสูงสุด 4K 120p
แม้ทางแบไต๋เราจะมีทั้ง FX3 และ FX6 ใช้งานกันอยู่แล้ว แต่ทางผู้เขียนเองไม่ค่อยได้มีโอกาสได้จับกล้อง cinema เท่าไรนัก จะเน้นหนักแค่ในงานภาพนิ่งเท่านั้น บทความนี้จึงขอเล่าประสบการณ์ที่ได้สัมผัสมาในงานแทนละกันครับ
สเปกหลัก Sony FX30
- เซนเซอร์ APS-C/Super35 BSI CMOS 26 ล้านพิกเซล
- UHD 4K/60p (oversamplingจาก 6K)
- UHD 4K/120p (1.62x crop)
- กันสั่น 5 แกน, กันสั่นดิจิทัล
- Dual Base ISO (800/2500)
- 10-bit 4:2:2,4:2:0, H.265, H.264
- S-Cinetone, S-Log2 / S-Log3
- Cine EI
- รองรับการ upload custom LUTs
- 16-bit Raw video output
- Real-time Eye AF / Tracking
- พัดลมระบายความร้อน
- ฟีเจอร์ลด Focus Breathing
- ไม่มีผ่านชัตเตอร์กลไก
- มีไฟ tally lamps ที่ด้านหน้า และด้านหลัง
- Dual CFexpress Type A & SD card
- แบตเตอรี่ NP-FZ100
- น้ำหนัก 646 กรัม
รูปร่างหน้าตาพิมพ์เดียวกับรุ่นพี่ FX3
ด้วยความที่ดีไซน์ถอดแบบมาจากรุ่นพี่ FX3 แบบเป๊ะ ๆ ไซซ์ compact พกพาง่าย ใครที่เคยติดตามข่าวสารวงการกล้องหรือเคยใช้งานก็คงคุ้นเคยรูปทรงนี้กันดีอยู่แล้ว FX30 มาพร้อมกับพัดลมระบายความร้อนภายในตัวกล้องที่ช่วยให้การถ่ายวิดีโอต่อเนื่อง และลื่นไหลกว่ากล้องดิจิทัลภาพนิ่งทั่ว ๆ ไปครับ โอกาส overheat ก็จะน้อยกว่า
วัสดุโครงสร้างทำจากแมกนีเซียมอัลลอยด์ทั้งตัวรับประกันความแข็งแรงทนทาน พร้อมซีลกันละอองน้ำละอองฝุ่น เรื่องงานระดับมืออาชีพนี่รองรับได้สบาย ๆ มีไฟ tally lamps บอกสถานะบันทึกวิดีโอ กระทั่งรูน็อตไว้ยึด Handle/RIG หรืออุปกรณ์เสริมต่าง ๆ
ซึ่งที่ต่างจาก FX3 ก็คือสีรูน็อตนี่ล่ะครับ FX30 จะใช้สีดำ ส่วน FX3 ออกสีเทา จะได้แยกออกง่าย ๆ ว่าเป็นรุ่นไหน
พอร์ตการเชื่อมต่อต่าง ๆ ก็มีมาครบครันเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น HDMI แบบ Full Size ช่องเสียบไมค์, หูฟัง 3.5mm, USB-C รองรับชาร์จ PD,พอร์ต Multi หรือช่องเสียบการ์ดคู่ที่รองรับทั้ง CFexpress Type A และ SD Card ในช่องเดียวกัน
จะขาดก็แต่พอร์ต SDI ที่รุ่นพี่อย่าง FX3 ก็ไม่มีครับ จะไปอยู่ในรุ่นที่สูงกว่าอย่าง FX6, FX9 จะ Sync Time Code ก็ต้องใช้อุปกรณ์เสริม ‘VNC-BNCM1’ เส้นละประมาณ 2,700 บาทมาใช้งานแทน
จอระบบสัมผัสมาเป็นแบบพับออกด้านข้างถูกใจสายวิดีโอ ใครที่อยากได้ความเป็นมืออาชีพคุณภาพสัญญาณเสียงดี ๆ หน่อยก็สามารถต่อ XLR Handle ที่เป็นทั้งด้ามจับ และ adapter ไมค์ XLR เสียบผ่าน Hotshoe แบบ muiti interface บนตัวกล้องเพิ่มได้
ใครที่ซื้อ FX30 ในไทยก็จะมี XLR Handle มาพร้อมกันในกล่องเลย ส่วนคนที่อยากได้ body อย่างเดียวงานนี้น่าจะยากหน่อยครับ Sony ยืนยันว่าจะขายแค่ชุดที่มี Handle เท่านั้น
Workflow ระดับกล้อง Cinema
นอกจากพัดลมระบายความร้อน ไฟ tally lamps แล้ว การใช้งานต่าง ๆ ยังคงเป็นไปตามสไตล์กล้อง cinema ครับ ไม่ว่าตัวเมนูที่ถูกปรับให้ใช้งานด้านวิดีโอสะดวกมากขึ้น (เหมือน FX3 เป๊ะ) หรือ info ที่ไม่ขึ้นกวนเฟรมภาพเหมือนกล้องภาพนิ่ง
การอัปโหลด custom LUTS (look-up tables) ใส่ไปในตัวกล้องเพื่อพรีวิวขณะถ่ายไฟล์ Log ว่าจะได้ภาพในขั้นต่อ post production ออกมาประมาณไหนโดยไม่ต้องใช้มอนิเตอร์แยก หรือโพรไฟล์สี S-Cinetone ที่มาจากกล้อง cinema ‘Sony VENICE’ อันโด่งดัง หรือ S-log2, S-Log3 ก็มี
โหมด Cine EI
FX30 เป็นกล้องที่ใช้งานรูปแบบ Dual Base ISO (800/2500) ซึ่งทั้ง 2 ค่านี้จะให้ไฟล์คุณภาพดีที่สุด สำหรับโหมด Cine EI หลักการก็จะคล้ายกับกล้องฟิล์มสมัยก่อนเลยครับ พูดง่าย ๆ คือในการถ่าย Log จะใช้ค่า Base ISO เพียงค่าเดียวเป็นมาตรฐาน เพื่อให้ได้ไฟล์ที่คุณภาพใกล้เคียงกันมากที่สุดนั้นเอง
สำหรับโหมด Cine EI ก็จะปรับได้ 3 แบบครับ
- Fixable ISO – ปรับ ISO ได้อิสระเหมือนกล้องดิจิทัลทั่วไป
- Cine EI Quick – เมื่อปรับ ISO กล้องจะใช้ base ISO ที่ใกล้เคียงที่สุด ยกตัวอย่าง ISO 1000 กล้องก็จะใช้ Base ISO 800
- Cine EI –ปรับได้แค่ Base ISO เท่านั้น
สรุป
Sony FX30 เหมาะกับคนที่ต้องการ workflow ความเป็นกล้อง cinema ในราคาที่จับต้องได้ อย่างนักศึกษาที่เรียนทางสายงานภาพยนตร์แต่จะให้ซื้อกล้องสายนี้ตัวอื่น ๆ ก็อาจต้องใช้งบประมาณที่ค่อนข้างสูง FX30 จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมาก ๆ ครับ ใช้ถ่ายหนังถ่าย MV จริงจังได้เลย
อีกตัวเลือกก็คือคนที่มีกล้อง cinema line ตัวอื่น ๆ อย่าง FX3 อยู่แล้วอยากได้กล้องที่มีฟีเจอร์ระดับเดียวกันเพิ่ม หรือคนที่ไม่สนใจว่าถ่ายวิดีโอจะเอาฟูลเฟรมไปทำไม เซนเซอร์ APS-C ก็เพียงพอ กลุ่มนี้จัดได้เลยครับ
สำหรับ Sony FX30 เปิดราคาไทยในชุด Body + XLR Handle มาที่ 83,990 บาท พิเศษช่วง pre-order 7-16 ตุลาคม ก็ได้การ์ด CFexpress Type-A 160GB แถมไปด้วย!
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส