อิตาลีเตรียมสร้างยานเชื่อมดาวเทียม แผนยืดอายุไข ช่วยลดขยะอวกาศ
บริษัทด้านโลจิสติกอวกาศสัญชาติอิตาลี ดี-ออร์บิต (D-Orbit) ได้ทำสัญญากับสำนักงานอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) มูลค่ากว่า 119.6 ล้านยูโร หรือประมาณ 4,300 ล้านบาท เพื่อพัฒนานวัตกรรมที่มีเป้าหมายคือการลดขยะอวกาศ
ข้อตกลงดังกล่าวประกาศเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2024 ที่งานประชุมอวกาศนานาชาติในเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยเกี่ยวข้องกับการพัฒนายานพาหนะอวกาศ (Space Vehicle) ที่เรียกว่า GEA ที่สามารถเชื่อมต่อเพื่อควบคุมยานอวกาศหรือดาวเทียมได้ รวมไปถึงซ่อมแซมเพื่อยืดอายุการใช้งาน และในระยะยาวสามารถรีไซเคิลดาวเทียมได้
ลูก้า รอสเซตตินี่ (Luca Rossettini) ซีอีโอของ D-Orbit อธิบายหลักการทำงานของยานนี้ คือ ยานอวกาศที่จะสร้างขึ้นนี้สามารถเชื่อมต่อ (Dock) กับดาวเทียมดวงอื่น ๆ เพื่อเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งของดาวเทียมไปยังจุดที่ต้องการ หรือเมื่อดาวเทียมสิ้นสุดอายุการใช้งาน ก็จะสามารถใช้ยานอวกาศเคลื่อนย้ายดาวเทียมไปยังสุสานดาวเทียม หรือระดับวงโคจรที่สูงขึ้นที่มีความแออัดของดาวเทียมน้อยกว่า
หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ การควบคุมให้ดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานแล้ว กลับมายังชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งดาวเทียมส่วนใหญ่จะถูกเผาไหม้จนหมด แต่อย่างไรก็ตาม หากดาวเทียมมีขนาดใหญ่ก็อาจจะหลงเหลือเศษชิ้นส่วนบ้าง แต่มีโอกาสที่จะเกิดอันตรายกับคนบนโลกน้อยมากเนื่องจากนักวิทยาศาสตร์จะควบคุมให้ตกลงมาในมหาสมุทร
นอกจากนี้โครงการ GEA ยังได้รับการออกแบบมาเพื่อพัฒนายานพาหนะอวกาศที่จะให้บริการในวงโคจรค้างฟ้า (GEO) หรือวงโคจรที่อยู่สูงจากพื้นโลกประมาณ 35,700 กิโลเมตร ซึ่งในวงโคจรนี้ดาวเทียมจะมีความเร็วในการโคจรรอบโลกเท่ากับความเร็วที่โลกหมุนรอบตัวเอง ดาวเทียมอยู่ในตำแหน่งคงที่และเป็นที่มาของชื่อวงโคจรค้างฟ้า
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอิตาลีและหน่วยงานอวกาศต่าง ๆ ของยุโรป เพื่อเป้าหมายริเริ่มแนวทางใหม่ในการจัดการขยะอวกาศ รวมถึงเป้าหมายในอนาคต คือ การรีไซเคิลขยะอวกาศ แทนที่จะทิ้งเศษขยะอวกาศหรือวัตถุดิบที่ใช้สร้างดาวเทียมไปโดยเปล่าประโยชน์ โดยสามารถนำไปรีไซเคิลบนสถานีรีไซเคิลที่จะตั้งอยู่ในวงโคจรได้
ตามคำอธิบายของรอสเซตตินี่ว่า “เป้าหมายของเราคือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานแห่งแรกที่สามารถเชื่อมโยงภารกิจดาวอังคาร แถบดาวเคราะห์น้อย ดวงจันทร์ และภารกิจในวงโคจรของโลกเข้าด้วยกันเพื่อขนส่งสินค้า ผู้คน และข้อมูล”
พื้นที่บนอวกาศ กลายเป็นพื้นที่ที่แออัดมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมนุษย์ปล่อยดาวเทียมไปยังอวกาศมากขึ้น และเมื่อหมดอายุการใช้งาน ดาวเทียมเหล่านี้ก็จะลอยอยู่โดยที่ไม่สามารถควบคุมได้อีกต่อไป ทำให้กลายเป็นขยะอวกาศ โดยสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า ดาวเทียมในวงโคจรค้างฟ้า จะมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 15 ปี ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้สิ้นสุดอายุการใช้งานก็คือเชื้อเพลิงหมด ทำให้มนุษย์ไม่สามารถรักษาตำแหน่งและทิศทางของดาวเทียมได้ โครงการนี้ จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีเป้าหมายเพื่อจัดการพื้นที่ และเตรียมรองรับการสำรวจอวกาศที่มากขึ้นของมนุษย์ในอนาคต
ที่มาข้อมูล Reutersconnect
ที่มารูปภาพ Reutersconnect