โลกร้อนขึ้น ฟ้าผ่าบ่อยขึ้น! ทำอย่างไรให้ปลอดภัย?

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเตือนภัยเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนทำให้ฟ้าผ่าบ่อยขึ้น
ในช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับพายุฤดูร้อนที่มาพร้อมกับฝนฟ้าคะนองและเหตุการณ์ฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้นในหลายพื้นที่ โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น ความชื้นในอากาศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งเป็นเมฆที่มีลักษณะสูงใหญ่และมักก่อให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ก่อตัวได้ง่ายขึ้น เป็นสาเหตุของฟ้าร้อง ฟ้าแลบ และฟ้าผ่าที่เกิดขึ้นถี่ขึ้นตามไปด้วย
ฟ้าผ่าคือปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าภายในเมฆหรือระหว่างเมฆกับพื้นดิน เมฆคิวมูโลนิมบัสเป็นเมฆที่มีการสะสมไอน้ำจำนวนมากและเกิดความต่างศักย์ไฟฟ้าระหว่างส่วนบนและส่วนล่างของเมฆ ประจุบวกจะสะสมอยู่ด้านบน ขณะที่ประจุลบจะอยู่ด้านล่าง เมื่อประจุไฟฟ้าเหล่านี้เคลื่อนที่ จะเกิดแสงสว่างที่เรียกว่าฟ้าแลบ และเมื่อความร้อนจากการเคลื่อนที่ทำให้อากาศขยายตัวอย่างรวดเร็ว จะเกิดเสียงดังที่เรียกว่าฟ้าร้อง
ฟ้าผ่ามีสองประเภทหลัก คือ ฟ้าผ่าแบบลบ ซึ่งผ่าจากฐานเมฆลงสู่พื้นดิน และฟ้าผ่าแบบบวก ซึ่งผ่าจากยอดเมฆลงสู่พื้นดิน ฟ้าผ่าแบบบวกมีความรุนแรงและอาจผ่าลงในระยะไกลจากเมฆได้ถึง 40 กิโลเมตร แม้ฝนจะหยุดแล้วก็ตาม จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
สัญญาณอันตรายของฟ้าผ่าคือ หากพบว่าเส้นขนหรือเส้นผมตั้งชันขึ้น หรือได้ยินเสียงฟ้าร้องภายใน 30 วินาทีหลังเห็นฟ้าแลบ แสดงว่าอยู่ใกล้เขตเสี่ยง ควรรีบหาที่หลบภัยทันที
วิธีป้องกันฟ้าผ่าที่ควรปฏิบัติมีดังนี้
- อาคารสูงควรติดตั้งสายล่อฟ้าและระบบกราวด์เพื่อนำไฟฟ้าลงสู่พื้นดินอย่างปลอดภัย
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง หากหลบในรถยนต์ควรปิดกระจกและไม่สัมผัสตัวถังรถ
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโลหะและน้ำ รวมถึงการใช้โทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตกลางแจ้ง
- ปิดและถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง
- เตรียมไฟฉายและกระเป๋าฉุกเฉินไว้พร้อมในกรณีที่ไฟฟ้าดับ
การเข้าใจและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองจะช่วยลดความเสี่ยงจากฟ้าผ่าและรักษาความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ