รีเซต

"อาคม"เตรียมคลอดมาตรการของขวัญปีใหม่ให้ปชช.สิ้นปีนี้

"อาคม"เตรียมคลอดมาตรการของขวัญปีใหม่ให้ปชช.สิ้นปีนี้
TNN ช่อง16
14 ตุลาคม 2563 ( 13:24 )
119
"อาคม"เตรียมคลอดมาตรการของขวัญปีใหม่ให้ปชช.สิ้นปีนี้

วันนี้ (14 ต.ค.63)นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังเพื่อมอบนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยรับทราบการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 และแนวโน้มของเศรษฐกิจในปี 2564 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะภาคการส่งออก ภาคบริการ และการท่องเที่ยว โดยคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ อย่างเร่งด่วนเพิ่มขึ้น นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการดำเนินนโยบายการคลัง ที่จะต้องบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เหมาะสม โดยจะต้องมีความระมัดระวังเพิ่มขึ้นในเรื่องการประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีค่อนข้างมาก 

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อ ทั้ง 3 โครงการที่ออกมา ทั้งโครงการคนละครึ่ง เพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และช้อปดีมีคืน ว่าสามารถกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชนได้มากน้อยเพียงใด รวมทั้งเตรียมมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อช่วงไตรมาส 4 เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ที่จับจ่ายช่วงสิ้นปี 2564 นี้

ส่วนในระยะ 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายรัฐวิสาหกิจ จะต้องเร่งรัดโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้เป็นตามเป้าหมาย เช่น โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เป็นต้น โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง ตั้งคณะกรรมการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุน เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ เพื่อให้เบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย  ขณะเดียวกันยังต้องความสำคัญในการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี ผ่านมาตรการทางภาษีและระบบการเงิน เพื่อดึงดูดบริษัทรายใหญ่ในต่างประเทศเข้ามาลงทุน  โดยจะใช้จุดแข็งเรื่องการป้องกันโควิด-19 ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ  ซึ่งทั้งสองแนวทางนี้ จะต้องมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงต่างประเทศอีกครั้ง ตลอดจนการสนับสนุนการจ้างงานที่ยังมีปัญหาในขณะนี้ 

นอกจากนี้ ยังต้องดูแลกระแสเงินสดของภาครัฐ ให้เพียงพอต่อการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ ให้ได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งการหารายได้เพิ่มจากรายได้ที่ไม่ใช่ภาษี (Non-tax revenue) จากทรัพย์สินของรัฐ รายได้จากรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินนอกงบประมาณต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ ซึ่งขณะนี้ฐานะการคลังก็ยังมีความมั่งคงต่อเนื่อง




เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง