รีเซต

‘อาคม’ส่อง ศก.ครึ่งปีหลัง’65 ส่งออกพระเอก-ท่องเที่ยวฟื้น

‘อาคม’ส่อง ศก.ครึ่งปีหลัง’65  ส่งออกพระเอก-ท่องเที่ยวฟื้น
มติชน
18 เมษายน 2565 ( 09:11 )
64

หมายเหตุนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2565 และแนวทางการดูแลและขับเคลื่อน ที่ขณะนี้เข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2565 แต่ยังต้องเผชิญผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และเงินเฟ้อระดับสูงในสหรัฐ รวมทั้งการสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย

 

ส่งออกพระเอกดันเศรษฐกิจโต
สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2565 นั้น ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงเริ่มขึ้นไตรมาสที่ 2 ของ ปี 2565 ข้อมูลที่เห็นได้เร็วที่สุดคือ ข้อมูลด้านการส่งออก แต่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ได้แถลงตัวเลขอย่างเป็นทางการ โดยข้อมูลมาจากทางกรมศุลกากรน่านั้นจะเร็วที่สุด ข้อมูลการส่งออกเดือนมีนาคม 2565 จากกรมศุลกากร ยังแสดงให้เห็นถึงการขยายตัว ทั้งการส่งออกและการนำเข้ายังเติบโตได้ดี เพราะฉะนั้น เชื่อว่าตัวเลขการส่งออกไทย ในไตรมาสที่ 1 (มกราคม-มีนาคม 2565) น่าจะขยายตัวที่ 12-15%ในแง่ของมูลค่าเหรียญสหรัฐ แสดงให้เห็นว่าภาคการส่งออก ยังเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ

 

จากที่ได้คุยกับสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวที่ 5% แต่ถ้าดูจากกการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 นั้น มีการขยายตัว 12-15% ก็เลยบอกสภาผู้ส่งออกไปว่า ช่วยกันหน่อยได้ไหม เบ่งเป้าหมายการส่งอออกจากเดิม 5% ไปเป็น 10% ซึ่งก็จะช่วยชดเชยผลกระทบในเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้น และมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มากขึ้น ดังนั้น ถ้าการส่งออกมีปัญหาส่วนไหนก็ขอให้บอก ถ้าเป็นส่วนของกระทรวงการคลังก็จะช่วยเต็มที่ เช่น ในเรื่องการคืนภาษีมูลค่า ถ้าติดขัดตรงไหนก็จะช่วยเร่งให้

 

ส่วนภาคธุรกิจประเภทอื่นๆ นั้น อาทิ ภาคการเกษตร สินค้าทางการเกษตรหลายตัวเริ่มดีขึ้น เป็นเพราะเริ่มเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร และถึงแม้ว่าจะมีผลกระทบเรื่องของราคาน้ำมัน หรือเรื่องราคาวัตถุดิบก็ตาม แต่ว่าทุกฝ่ายต้องมีการปรับตัว สุดท้ายราคาสินค้าดี เกษตรกร ก็ได้รับประโยชน์ รวมถึงค่าเงินบาท ที่ยังอ่อนตัว โดยเฉลี่ย 33 บาท ถือว่าอ่อนค่า เมื่อเทียบกับปี 2563-2564 เป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกของไทย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าค่าเงินบาทอ่อนก็มีผลต่อเรื่องต้นทุนการนำเข้า เช่น น้ำมันดิบ เป็นต้น

 

แม้ว่าราคาน้ำมันจะลดลงแล้ว แต่ถ้าเงินบาทอ่อนค่า ราคาที่ซื้อมาก็อาจจะแพง ดังนั้น สังเกตได้จากราคาน้ำมันตามสถานีบริการยังคงทรงตัว ไม่ได้ลดราคาลงในทันที เพราะขึ้นอยู่กับค่าเงินบาทด้วย ค่าเงินเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังกับธนาคารแห่งประเทศไทยต้องช่วยกันดู เพื่อไม่ให้ค่าเงินมีการผันผวนมากจนเกินไป เพราะมันจะมีผลต่อการบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของภาคธุรกิจด้วย

 

 

เชื่อครึ่งหลังปี’65ท่องเที่ยวฟื้น
อย่างไรก็ดี ถ้ามาดูเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 โดยเฉพาะในส่วนของภาคต่างจังหวัด ก็มีมาตรการของภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกันซึ่งยังไม่จบโครงการ หากไปสัมผัสพื้นที่ต่างจังหวัดจะพบว่าโครงการทำประโยชน์ได้มาก ในกลุ่มโรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลาง เพราะรัฐบาลนำเงินไปอุดหนุนเงินสมทบให้ 40% จึงทำให้คนสนใจเดินทางมากขึ้น เพียงแต่ว่ามีเสียงเรียกร้องมาเล็กน้อยว่า เงินจากภาครัฐจ่ายให้โรงแรมช้าไปบ้าง ซึ่งปกติเงินจะต้องโอนไปใน 10 วัน โดยเรื่องนี้กระทรวงการคลังได้โอนไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว เพราะฉะนั้นปัญหาดังกล่าวก็ต้องไปติดตามกับกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาให้ช่วยเร่งต่อไป

 

ด้วยมาตรการของรัฐ และการผ่อนคลายจากปัญหาโควิด-19 ที่มากขึ้นเรื่อยๆ น่าจะทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจในครึ่งแรกของปี 2565 ดีขึ้น และในช่วงครึ่งของปีนี้ก็น่าจะผ่อนคลายได้มากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่ระดับของการใช้จ่ายภายในประเทศ เพราะว่าการใช้จ่ายในประเทศหมายถึงคนไทยใช้จ่ายกับคนต่างชาติที่เข้ามาใช้จ่ายในประเทศ ถ้านักท่องเที่ยวเข้ามามาก ก็จะมีการใช้จ่ายในส่วนนี้มากขึ้นตาม ส่วนการกระจายตัวนั้น ด้านการท่องเที่ยงยังคงมีการกระจุกตัวบางพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ ส่วนจังหวัดอื่นนักท่องเที่ยวยังไปไม่ถึง ซึ่งจะมีแต่คนไทยเท่านั้นที่ไปเที่ยว แต่เชื่อว่าการท่องเที่ยวที่จะผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งในเรื่องของ เทสต์แอนด์โกที่มีการปรับกระบวนการให้ง่ายขึ้น ก็จะทำให้มีความสะดวกในการเดินทาง

 

ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็มีการใช้จ่ายเงินต่อเนื่อง โดยอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐ ยังมีความเข้มงวด สามารถเบิกจ่ายได้ตามเกณฑ์ เป้าหมาย ส่วนการลงทุนของภาคเอกชน มีทั้งส่วนที่ลงทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤต เนื่องจากไม่มีรายได้เข้ามา จึงระดมทุนเพื่อเสริมสภาพคล่อง และอีกส่วนคือเพื่อการลงทุน เพราะฉะนั้น เชื่อว่าภาคเอกชน แม้จะยังมีความลังเลอยู่บ้างเล็กน้อย แต่อย่างน้อยธุรกิจเริ่มกลับมาดำเนินการ แรงงานเริ่มกลับมาทำงานตามปกติ ดังนั้น รายได้จะเริ่มกลับมาแต่อาจจะไม่เต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ รัฐบาลยังใช้จ่ายผ่านงบประมาณประจำปี โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงต้องทำงบประมาณขาดดุล ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยการทำงบขาดดุล หมายถึงการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ที่มีอยู่ แต่ในปีงบประมาณ 2566 นั้น กระทรวงการคลังก็ส่งสัญญาณแล้วว่าจะทำให้การขาดดุลต่อรายได้ลดลง ไม่เช่นนั้น จะเกิดการขาดดุลสะสมไปเรื่อยๆ ดังนั้น โครงการของรัฐบาลบางส่วนจะไปใช้การลงทุน รูปแบบโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (พีพีพี) มากขึ้น

 

หั่นจีดีพีเหลือ3-4%รับสินค้าแพง
อีกปัจจัยคือเรื่องของเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน เชื่อว่ามันน่าจะคลี่คลายได้ไม่น่าจะลากยาวไปยาวนาน เพราะฉะนั้น สังเกตได้ว่าราคาน้ำมันโลก ยังเฉลี่ยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรืออาจมีบางวันราคาขึ้นไปสูงมากบ้าง ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ตึงเครียดของความขัดแย้ง รวมทั้งที่สหรัฐอเมริกาเอาน้ำมันออกมาใช้ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ราคาน้ำมันดีขึ้น จึงคิดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้น่าจะคลี่คลายและดีขึ้นอีก

 

คำถามอยู่ที่ว่า เมื่อดีขึ้นแบบนี้ กระทรวงการคลังจะคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจที่เท่าไหร่ โดยขณะนี้ต้องรอตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไตรมาสที่ 1 ก่อน แต่คาดการณ์ไว้ว่าแม้ว่าผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ที่หลายคนถามมาเสมอว่าจะกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจหรือไม่ คิดว่ามีแต่เพียงเล็กน้อย ดังนั้น เชื่อว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งปี 2565 นั้น อยู่ที่ 3-4% ซึ่งเป็นลดช่วงลงเล็กน้อยจากเดิมที่คาดการณ์ว่า 3.5-4.5% ต่อปี

 

เพราะถ้ามองว่าไม่มีผลกระทบเลยก็จะคงประมาณการไว้ที่ 3.5-4.5% โดยค่ากลางจะอยู่ที่ 4% แต่ทั้งนี้ก็เผื่อเหลือเผื่อขาด จึงขยับมาที่ 3-4% โดยที่ 4% ก็ยังคงอยู่ในค่าประมาณการใหม่ แต่ขยับไปเป็นค่าที่คาดว่าจะได้มากที่สุด แต่ถ้ามีผลกระทบมาก ก็คาดว่าจะสรุปอยู่ที่ 3% ซึ่งถือว่าดีกว่าปี 2564 ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลข 3% เมื่อไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่บางประเทศเติบโตกัน 4-5% ก็ต้องถามว่าคนไทยอยากได้แบบไหน อยากจะได้แบบก้าวกระโดดขึ้นมาจากการการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบ เพิ่มรวดเดียว 7-8% เลยใช่ไหม แต่ถ้าโตสูงมากแล้วปีถัดไปก็ตกลงมาอีก เหมือนกับโตขึ้นมาแล้ว หลังจากนั้นแรงการเติบโตก็เบาลง แต่ถ้าค่อยๆ ขยับขึ้นไป ก็จะมีความมั่นคงมากกว่า หรือพูดง่ายๆ คือ เศรษฐกิจไทยจะมีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

ถ้าไปดูประเทศจีน เมื่อประมาณปลายปีแล้ว จีดีพีกระโดดขึ้นมาทันที แต่พอไปดูตอนนี้เขาก็ปรับคาดการณ์ลดลงเหลือ 4-5% แล้ว เนื่องจากความเสี่ยงทางด้านโควิดในประเทศ เดิมทีก็คงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (ซีโร่ โควิด) ซึ่งก็ทำได้เพียงระยะหนึ่ง แต่พอมาเจอกับ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่กระจายตัวได้อย่างรวดเร็วนั้น จีนเองก็หนีไม่พ้น ที่มีการระบาดโควิดกลับมาอีกรอบ จะเห็นว่าจีดีพีของจีนกระโดดตัวขึ้นมา แต่สุดท้ายก็ค่อยๆ เบาลง ด้านสหรัฐอเมริกาเอง มีจีดีพีก้าวกระโดดเช่นกัน ขึ้นมาถึง 5% แต่สุดท้ายธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องมีนโยบายขึ้นดอกเบี้ย เพื่อชะลอการเติบโต ที่นำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ

รัฐบาลพร้อมดูแล ปุ๋ย-อาหารสัตว์
ดังนั้น เศรษฐกิจไทยปี 2565 ไม่ว่าจะครึ่งปีแรก หรือครึ่งปีหลังก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจ ในแง่ปริมาณนั้น คิดว่าทำได้ 3-4% จะมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ เรื่องราคาสินค้าที่ถีบสูงขึ้น ซึ่งมีมาตรการของรัฐ เข้าไปช่วยในเรื่องของต้นทุนการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี กับอาหารสัตว์ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่กระทรวงการคลัง โดยอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ หากมีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังก็พร้อมช่วยเหลือ โดยเฉพาะเรื่องภาษี ที่จะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าได้

 

โดยเรื่องปุ๋ยและอาหารสัตว์นั้น ทางกระทรวงที่ดูแลก็ต้อง วิเคราะห์ให้รอบคอบ เพราะสินค้าปุ๋ยกับอาหารสัตว์ นั้นมีทั้งส่วนที่เป็นโควต้ากับนอกโควต้า ซึ่งอัตราภาษีจะแตกต่างกัน ดังนั้น ก็ต้องดูด้วยว่า เมื่อลดภาษีให้แล้ว ก็ต้องไม่ให้ประโยชน์ไปตกอยู่ที่บริษัทใหญ่อย่างเดียว แต่ต้องกระจายลงถึงบริษัทเล็กด้วย แนวทางที่สองคือ ต้องมีตัวเลือก หาวัตถุดิบทดแทนการที่ต้องนำเข้า อย่างปุ๋ยนั้น ก็ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมี แต่ต้องคำนวณให้เหมาะสมทดแทนด้วยปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งจากที่ได้ไปดูงานของเกษตรกร ลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นั้น ก็มีการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็ได้ผลที่ดี แต่พืชบางชนิดอาจต้องใช้เคมีในการช่วยเร่งพืชผล ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสูตร และพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเรื่องปุ๋ยเคมีได้อีกทาง

 

คงมาตรการลดหย่อนภาษี
ส่วนประเด็นเรื่องของรักษาเสถียรภาพทางราคาไม่ให้ขึ้นสูงจนเกินไปนั้น ถ้าราคาน้ำมันโลกขึ้นไป 120-150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยจะอยู่ที่ 5% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยก็รายงานแล้วว่า อัตราเงินเฟ้อไทยในปัจจุบัน เกิดจากปัญหาต้นทุนการผลิต ต้องใช้มาตรการของรัฐในการเข้าไปกำกับเรื่องราคาสินค้าไม่ให้เอาเปรียบผู้บริโภคในช่วงนี้ โดยขณะนี้มีมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลนั้น รัฐบาลก็ทำการลดให้เป็นระยะเวลา 3 เดือน (18 กุมภาพันธ์-20 พฤษภาคม 2565) อยู่

 

ขณะที่จะมีการขยายมาตรการต่อไปอีกหรือไม่นั้นก็ต้องดีตามสถานการณ์ ปัจจุบันราคาน้ำมันไม่ได้ขยับขึ้นไปเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะบริหารได้ เพราะกองทุนมีสภาพคล่องที่สามารถกู้ออกมาใช้ได้ถึง 4 หมื่นล้านบาท ตอนนี้ถือว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันเบาลงแล้ว แต่ก็ต้องติดตามต่อไป เพราะเรื่องดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งถ้าจบได้เร็ว ราคาน้ำมันก็จะทรงตัวในระดับไม่ถึง 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนภาษีน้ำมันเครื่องบินไอพ่นที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 นี้ ก็จะมีการพิจารณาเช่นกัน ว่าจะมีการขยายต่อหรือไม่ เนื่องจากต้องการลดต้นทุนให้กับธุรกิจการบิน ขณะนี้ยังกลับมาบินได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะการบินระหว่างประเทศ

 

สำหรับมาตรการการคลังอื่นๆ ในช่วงระยะสั้นยังคงเป็นมาตรการลดหย่อนทางด้านภาษี แม้ว่าสถานการณ์ของปี 2565 จะคลี่คลายกว่า เมื่อเทียบกับปี 2563-2564 แต่สถานการณ์โควิดก็ยังไม่จางหายไป ดังนั้น ยังคงมีมาตรการลดหย่อนทางภาษีให้อยู่ เช่น ลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชภัณฑ์ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษาโควิด วัตถุดิบในการผลิตหน้ากากอนามัย เหลือ 0% เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง