รีเซต

ครม.มึนข้อมูลหมู 'บิ๊กตู่' สั่งเคลียร์ใน 7 วัน ครม.อัด 1.4 พันล. สู้ของแพง

ครม.มึนข้อมูลหมู 'บิ๊กตู่' สั่งเคลียร์ใน 7 วัน ครม.อัด 1.4 พันล. สู้ของแพง
มติชน
19 มกราคม 2565 ( 08:30 )
42
ครม.มึนข้อมูลหมู 'บิ๊กตู่' สั่งเคลียร์ใน 7 วัน ครม.อัด 1.4 พันล. สู้ของแพง

เมื่อวันที่ 19 มกราคม รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในช่วงท้ายการประชุม คณะรัฐมนตรี(ครม.ฉ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานสถานการณ์หมูในประเทศตั้งแต่ปี 2561-2564 ว่า จากตัวเลขในปัจจุบันพบว่า ประเทศไทยผลิตหมูได้ 19 ล้านตัว เป็นการบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว และส่งออก 1 ล้านตัว เมื่อดูจากตัวเลขแล้วพบว่า หมูไม่ได้ขาดแคลน ขณะที่ราคาอาหารสัตว์แพงขึ้นจาก 78 บาท เป็น 90 บาท ส่วนราคาหมูหน้าฟาร์มอยู่ที่ 80-110 บาท อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่ได้มานี้ไม่ตรงกับตัวเลขของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรที่ระบุว่าหมูขาดแคลน โดยนายประภัตรตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมหมูถึงหายไป และราคาอาหารก็ไม่ได้แพง จนเป็นเหตุให้หมูราคาสูงในขณะนี้

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท้วงติงว่าหมูเสียหายจำนวนมาก ตายไปก็มาก ข้อมูลที่นายประภัตรบอกมาไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่รับทราบกัน ฉะนั้นต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำไมไม่พบโรคระบาดเลย ทั้งที่มีเอกสารขอ ครม.อนุมัติงบประมาณไปช่วยเหลือเมื่อ 2-3 ปีก่อน แล้วจะมาบอกว่าตรวจไม่พบเลย น่าจะเป็นข้อผิดพลาด ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขึ้นว่ามีการตรวจเจอโรคอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้แพร่ระบาดในวงกว้าง พบเป็นบางพื้นที่ แต่สิ่งที่ไปบอกว่าไม่พบเลยก็เป็นปัญหา เพราะมีการตรวจสอบพบตั้งแต่ปี 2561 ที่อาจเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องเยียวยาให้ผู้ที่ทำลายหมู จึงขอให้นายประภัตรตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง และกลับมารายงานภายใน 7 วันว่า ข้อมูลมีข้อผิดพลาดตรงไหน

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติอนุมัติเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง จำนวน 1,480 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการพาณิชย์…ลดราคา! ช่วยประชาชน ปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพในราคาประหยัดให้แก่ประชาชน ระยะเวลาดำเนินการ 90 วัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.จัดหาสถานที่จำหน่ายและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ผ่านช่องทางอาทิ บริเวณร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น หรือตลาด พื้นที่สาธารณะ รวมจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 จุด ตามแหล่งชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และภูมิภาค 76 จังหวัด และการจำหน่ายผ่านรถโมบายไม่น้อยกว่า 50 คัน
2.ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ เพื่อจัดหาและจำหน่ายสินค้าที่จำเป็น เช่น สินค้าเกษตร เนื้อไก่ ไข่ไก่ สินค้าอุปโภคบริโภค 3.ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบในวงกว้างผ่านสื่อต่างๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง