กลุ่มฟินเทคชงเว้นเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลฯ 3-5 ปี รอตลาดเติบโตเต็มที่ก่อน
กลุ่มฟินเทคชงเว้นเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลฯ 3-5 ปี รอตลาดเติบโตเต็มที่ก่อน แนะอย่าคุม ‘เอ็นเอฟที’ ห่วงหนีไปซื้อขายในต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 กรณีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเรนซี่ ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงจากภาคธุรกิจและนักลงทุนสนใจเข้าสู่ตลาด ในขณะที่เกณฑ์กำกับดูแล แนวปฏิบัติยังไม่ชัดเจนในหลายประเด็นรวมทั้งการจัดภาษี ล่าสุดที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 25 มกราคม นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย นำกลุ่มนักธุรกิจและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (ฟินเทค) เข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อและหารือกรณีการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล
นายปริญญ์ กล่าวว่า สมาคมฯได้ยื่นข้อเสนอต่อนายอาคม ถึงการแนวทางสนับสนุนและส่งเสริมโอกาสในอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ โดยเสนอให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี ออกไปก่อนอย่างน้อย 3-5 ปี เมื่ออุตสาหกรรมเติบโตได้เต็มศักยภาพ จึงกลับมาพิจารณาการจัดเก็บภาษี เชื่อว่าจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีนิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากค่าธรรมเนียมการซื้อขายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย และอาจเป็นไปได้ที่จะมียอดจัดเก็บได้มากกว่าภาษีจากนักลงทุนรายย่อย
นายปริญญ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีเรื่องการตีความ “โทเคน” ว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทไหน เป็นสินค้าหรือไม่ เพราะยังมีเรื่องของภาษีแต่ละประเภทเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น หากตีความว่าเป็นสินค้าจะต้องเสียแวต 7% เป็นต้น
“ผมเชื่อในแนวคิด ฟรีภาษี เสรีคริปโทฯ ฉะนั้นการยกเว้นหรือเลื่อนการจัดเก็บภาษีคริปโทฯออกไปก่อนสัก 5 ปี หรือแม้กระทั่งการให้นำมาเป็นค่าลดหย่อนได้ จะเป็นโอกาสให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโต เพราะตลาดนี้ยังไม่โตเต็มที่ การเก็บภาษีในช่วงเวลานี้นักลงทุนอาจย้ายหนี เพราะธุรกิจนี้เป็นระดับสากล นักลงทุนสามารถเลือกเทรดกับผู้ให้บริการในต่างประเทศได้ไม่ยา” นายปริญญ์ กล่าว
00แนะอย่าคุมตลาดเอ็นเอฟที
นายปริญญ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้เสนอในที่ประชุมเรื่องการผลักดันให้รัฐบาลนำบล็อกเชนมาใช้ในการตรวจสอบงบประมาณของภาครัฐ เพื่อลดการทุจริตและคอร์รัปชั่น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ รวมทั้งนำระบบบล็อกเชนมาใช้ในการระดมทุน เพื่อให้สตาร์ทอัพ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถระดมทุนได้คล่องตัวมากขึ้น เพราะการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นอาจต้องใช้เวลาและมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลไม่ควรออกกฎหมายที่เข้ามาควบคุมการเติบโตของเทคโนโลยีเอ็นเอฟที (NFT) หรือช่องทางสำหรับขายงานศิลปินรูปแบบใหม่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะอาจทำให้ผู้ประกอบการตลาด เอ็นเอฟทีหนีไปต่างประเทศ คนซื้อขายก็จะไปใช้บริการตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ ปัจจุบัน เอ็นเอฟทีคืออีกช่องทางในการหารายได้เพิ่มของศิลปินรายเล็ก ได้เข้ามาในพื้นที่นี้เพื่อสร้างรายได้ในโลกดิจิทัล
- ‘อาคม’ รอสรรพากรสรุป
ด้านนายอาคม กล่าวว่า ได้รับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน และยังต้องมีการหารือร่วมกันต่ออีก ข้อเรียกร้องที่เสนอมาในหลายด้าน ยังไม่ได้สรุป ขณะนี้กรมสรรพากรกำลังเร่งสรุปรายละเอียดอยู่ จะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม เพื่อให้ทันการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่กำหนดถึงวันที่ 30 มีนาคม 2565
“ระยะแรกในการเก็บภาษีคริปโทฯจะมีการผ่อนปรนส่วนใด ยังไม่สามารถระบุได้ อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งกรมสรรพากรจะทำให้การยื่นแบบภาษีมีแนวทางที่ชัดเจน การเสียภาษีในเรื่องดังกล่าวก็มีตั้งแต่ปี 2561 เพียงแต่ว่าผู้ประกอบการอยากจะขอยกเว้นและผ่อนปรน กระทรวงการคลังก็จะพิจารณาว่าทำได้หรือไม่ ส่วนรอบชำระภาษีเดือนมีนาคม 2565 เป็นรอบชำระภาษีบุคคลธรรมดา ต้องมีความชัดเจนในเรื่องการคำนวณ และมีการผ่อนผันอย่างไร ซึ่งจะทำให้เสร็จภายในเดือนมกราคมนี้” นายอาคม กล่าว
นายอาคม กล่าวว่า นโยบายสำหรับคริปโทเคอร์เรนซีมีทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนให้เติบโต แต่จะต้องอยู่ในกรอบของการกำกับดูแลที่ดีเหมือนกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะดูตัวอย่างจากประเทศอื่นด้วย
- เตรียมออกเกณฑ์คุมคริปโทจ่ายสินค้า
น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแล และควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ โดยธปท.มีจุดยืนคือ ห้ามนำสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการ ยกเว้นการใช้เพื่อลงทุนเท่านั้น
น.ส.สิริธิดา กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงจุดยืนว่า พร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ ธปท.จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในกรณีดังกล่าว และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม โดยหน่วยงานกำกับดูแลจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนจนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ ส่วนวันบังคับใช้จะมีการกำหนดอีกครั้ง
“ความเสี่ยงจากความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นลงแตกต่างกันสูงมาก ทำให้มีความเสี่ยงหากนำไปชำระสินค้าและบริการ ลองนึกภาพถึงการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปซื้อสินค้าที่มีราคาเท่ากัน อาจต้องใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในจำนวนที่แตกต่างกันในแต่ละวันตามการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงหากนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาเป็นตัวกลางในการรับชำระสินค้าและบริการ อาจทำให้เกิดระบบการรับชำระเงินในหลายๆ ระบบ จนเกิดหน่วยวัดมูลค่าหรือหน่วยการตั้งราคานอกเหนือจากสกุลเงินบาท ซึ่งจะเป็นต้นทุนต่อผู้ใช้บริการ จากการที่มีการแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างๆ ไปมา สุดท้ายต้นทุนเหล่านั้นจะกระทบกับต้นทุนการชำระเงินของประเทศ”น.ส.สิริดา กล่าว
- ฝ่าฝืนเจอโทษปรับรายวัน
นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ สายธุรกิจตัวกลางและตลาด ก.ล.ต. กล่าวว่า ตามอำนาจของพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้ความสำคัญกับผู้ลงทุนหรือผู้บริโภค ซึ่งยังสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อการลงทุนได้ตามปกติ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนตามประเภทใบอนุญาตที่ได้รับ ก็ยังสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ปกติ สิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะได้รับผลกระทบคือ การให้บริการที่ทำให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการ
นางจารุพรรณ กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ที่ก.ล.ต. มีมติเห็นชอบและอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นทั่วไป ได้แก่ การจำกัดขอบเขตไม่ให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ ดำเนินการสนับสนุน ส่งเสริม หรืออำนวยความสะดวกให้กับร้านค้า ไม่ว่าจะดำเนินการใดก็ตามให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการ อาทิ ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงความพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้า ในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ
“มีความจำเป็นที่เกณฑ์การดูแลจะต้องมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ส่วนผู้ประกอบการบางส่วนที่ดำเนินการแล้วนั้น จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเกณฑ์ภายใน 15 วันหลังจากประกาศใช้เกณฑ์แล้ว ถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัว หากเกณฑ์ดังกล่าวบังคับใช้แล้วเท่ากับว่าผู้ประกอบการจะต้องหยุดการให้บริการ” นางจารุพรรณ กล่าว
นายสุรศักดิ์ ฤทธิ์ทองพิทักษ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับตลาด ก.ล.ต. กล่าวว่า หากออกประกาศควบคุมแล้ว ผู้ที่ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 1 หมื่นบาทต่อวัน ตลอดเวลาที่ยังไม่ทำการแก้ไข และโทษปรับอีก1ครั้ง จำนวน 3 แสนบาท รวมถึงพิจารณาให้ผู้บริหารธุรกิจที่ฝ่าฝืนอาจมีความผิดด้วย ส่วนผู้ประกอบการต่างประเทศที่เข้ามาให้บริการกับคนไทยแบบไม่ได้รับอนุญาต จะถือว่าให้บริการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีความผิดตามกฎหมาย