รีเซต

อังกฤษเตรียมทดสอบพ่นอนุภาคสะท้อนแสงบนชั้นบรรยากาศหวังช่วยลดภาวะโลกร้อน

อังกฤษเตรียมทดสอบพ่นอนุภาคสะท้อนแสงบนชั้นบรรยากาศหวังช่วยลดภาวะโลกร้อน
TNN ช่อง16
30 เมษายน 2568 ( 11:00 )
9

นักวิจัยในอังกฤษเตรียมเปิดตัวการทดลองวิศวกรรมภูมิอากาศกลางแจ้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลกว่า 50 ล้านปอนด์ หรือ 2,250 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาศักยภาพของเทคโนโลยีที่อาจใช้ปิดกั้นรังสีจากดวงอาทิตย์เพื่อชะลอผลกระทบจากภาวะโลกร้อน

โดยการทดลองครั้งนี้จะดำเนินการในขนาดเล็กภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด ของสำนักงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูงของอังกฤษ (Aria) ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลโครงการ 

ทั้งนี้ โครงการนี้จะทำให้อังกฤษกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ทุนวิจัยด้านวิศวกรรมธรณีมากที่สุดในโลก ควบคู่ไปกับโครงการแยกต่างหากของสภาวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NERC) มูลค่า 10 ล้านปอนด์ หรือ 446 ล้านบาท เพื่อศึกษาผลกระทบของการแทรกแซงวิศวกรรมภูมิอากาศกลางแจ้ง โดยการทดลองของทั้ง 2 หน่วยงาน แยกอิสระออกจากกัน

เทคโนโลยีการจัดการรังสีดวงอาทิตย์ (SRM)

เทคโนโลยีที่นักวิจัยอังกฤษเตรียมทำการทดลองถูกจัดอยู่ในกลุ่มการจัดการรังสีดวงอาทิตย์ (Solar Radiation Management หรือ SRM) มีเป้าหมายหลักเพื่อลดปริมาณแสงอาทิตย์ที่กระทบผิวโลก โดยมีแนวทางที่เป็นไปได้ในการใช้วิศวกรรมธรณีพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดโลกร้อน 3 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย

1. การฉีดละอองลอยในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ 

แนวทางนี้ใช้เครื่องบินปล่อยอนุภาคซัลเฟตเข้าไปในชั้นบรรยากาสตราโตสเฟียร์ของโลก เพื่อสะท้อนแสงอาทิตย์กลับสู่อวกาศ ลดปริมาณความร้อนที่เข้าสู่โลก

2. การทำให้เมฆเซอร์รัสบางลง

แนวทางนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ โดยจะใส่อนุภาคน้ำแข็งลงในเมฆเซอร์รัสบาง ๆ ที่อยู่ในชั้นโทรโพสเฟียร์ตอนบน เพื่อลดอายุของเมฆเหล่านี้ ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายความร้อนของโลก

3. การเพิ่มความสว่างของเมฆเหนือมหาสมุทร

แนวทางนี้ใช้เรือปล่อยอนุภาคละอองลอยสู่ชั้นบรรยากาศเหนือทะเล เพื่อเพิ่มความสามารถในการสะท้อนแสงของเมฆชั้นต่ำ ช่วยลดปริมาณความร้อนที่ถูกดูดซับโดยพื้นผิวโลก


ทีมนักวิจัยยืนยันความปลอดภัยในการทดสอบ

ศาสตราจารย์มาร์ก ไซม์ส (Mark Symes) หัวหน้าโครงการจาก Aria ชี้ว่า จุดเปลี่ยนของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น การล่มสลายของกระแสน้ำในมหาสมุทร หรือการละลายของแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ อาจเกิดขึ้นภายในศตวรรษนี้ และเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องวิจัยวิธีการแทรกแซงฉุกเฉินเพื่อป้องกันหายนะ

โดยเขายืนยันว่าจะไม่มีการปล่อยสารพิษในระหว่างการทดลองวิศวกรรมภูมิอากาศกลางแจ้ง และจะมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและปรึกษากับชุมชนท้องถิ่นก่อนเริ่มโครงการ โดยรายละเอียดของแผนการดำเนินงานคาดว่าจะเปิดเผยในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งคาดว่าทีมงานจะใช้การทดลองบนแบบจำลองขนาดเล็กเพื่อความปลอดภัยสูงสุด

เสียงเตือนจากนักวิทยาศาสตร์

แม้จะเป็นแนวคิดของเทคโนโลยีเพื่อนช่วยเหลือโลก แต่เทคโนโลยีดังกล่าวยังคงเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวาง นักวิทยาศาสตร์บางรายเตือนว่าการพัฒนาเทคโนโลยีนี้อาจทำให้ความพยายามลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลลดลง ขณะที่การแทรกแซงจากเทคโนโลยี SRM อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่ตั้งใจ เช่น การเปลี่ยนแปลงรูปแบบฝน ซึ่งมีผลต่อความมั่นคงทางอาหาร

โครงการนี้ยังเผชิญเสียงคัดค้านอย่างหนักจากนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่ม ซึ่งระบุว่าเทคโนโลยีการจัดการรังสีดวงอาทิตย์ (SRM) เป็น "แนวคิดบ้าคลั่ง" เปรียบได้กับ "การรักษาโรคมะเร็งด้วยแอสไพริน" และอาจเบี่ยงเบนความสนใจจากมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกที่ควรเป็นเป้าหมายหลัก

งานวิจัยด้านภูมิอากาศทั่วโลกยังคงมีสัดส่วนที่น้อย

ทางด้านของ ดร.พีท เออร์ไวน์ (Pete Irvine) จากมหาวิทยาลัยชิคาโก เปิดเผยว่า งบประมาณสำหรับการวิจัยด้านวิศวกรรมภูมิอากาศทั่วโลกยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับงานวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศโดยรวม โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้ให้ทุนรายใหญ่ที่สุด แต่การลดงบประมาณในยุคอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อาจทำให้สหราชอาณาจักรก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำแทน

ศาสตราจารย์จิม เฮย์วูด (Jim Haywood) จากมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ คาดว่าเทคโนโลยีการจัดการรังสีดวงอาทิตย์ (SRM) ในระดับที่ใหญ่ขึ้นอาจเป็นจริงได้ภายใน 10 ปี หากเร่งศึกษาและเตรียมการอย่างต่อเนื่อง โดยเขาเตือนว่า หากละเลยทางเลือกเหล่านี้ โลกอาจต้องเผชิญผลกระทบจากสภาพอากาศอย่างรุนแรงในทศวรรษหน้า

ขณะนี้ยังไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศใดที่ควบคุมการทดลองหรือใช้งานเทคโนโลยีวิศวกรรมธรณีอย่างเป็นทางการ ดร.เซบาสเตียน อีสแธม (Sebastian Eastham) จาก Imperial College London ผู้ร่วมโครงการ NERC กล่าวว่า 

"หนึ่งในภารกิจของโครงการคือการศึกษาผลกระทบด้านภูมิรัฐศาสตร์ และผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากมีการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย และการวิจัยครั้งนี้อาจช่วยคัดกรองแนวทางที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง และมุ่งเป้าไปยังแนวทางที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้"

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง