รีเซต

รีสอร์ตรุกภูทับเบิก เรื่องเก่า ปัญหาใหม่ที่แก้ไม่ตก

รีสอร์ตรุกภูทับเบิก เรื่องเก่า ปัญหาใหม่ที่แก้ไม่ตก
มติชน
15 กันยายน 2565 ( 07:06 )
146
รีสอร์ตรุกภูทับเบิก เรื่องเก่า ปัญหาใหม่ที่แก้ไม่ตก

ประเด็นบุกรุกภูทับเบิก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ กลับมาเป็นกระแสฮือฮาอีกครั้ง เมื่อ พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. ออกมาเปิดเผย พื้นที่ภูทับเบิกทั้งหมู่ 8 ต.บ้านเนินและหมู่ 16 ต.วังบาล ถูกบุกรุกรุนแรงมากกว่าในอดีตจนน่าตกใจ โดยระบุถึงตัวเลขรีสอร์ตที่ผุดขึ้นใหม่มีจำนวนมากกว่า 300 แห่ง โดยสาเหตุหลักทางหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.ระบุว่า เพราะเจ้าหน้าที่ในพื้นที่หย่อนยานใส่เกียร์ว่าง ทำให้ควบคุมพื้นที่ไม่อยู่ กระทั่งมีรีสอร์ตรายใหม่ผุดเป็นดอกเห็ดขึ้นเต็มภูทับเบิก

โดยสาเหตุที่รีสอร์ตรายใหม่ที่งอกเงยขึ้นมานั้น พ.อ.พงษ์เพชร บอกว่า เป็นเพราะมีทั้งนายทุนนอกพื้นที่ที่เคยถูกทุบรีสอร์ตและยึดพื้นที่คืน กลับเข้ามาใหม่แล้ว นอกจากนี้ยังมีผู้บุกรุกหน้าใหม่ทั้งที่เป็นชาวม้งในพื้นที่ และคนนอกพื้นที่ทิ้งอาชีพการเกษตรเดิม หันเหเอาดีทางธุรกิจท่องเที่ยว โดยก่อสร้างรีสอร์ตกันขึ้นอีกเพียบ แม้กระทั่งช่วงโควิดระบาดที่ผ่านมาก็ยังพบมีการก่อสร้างไม่หยุดหย่อน และปัจจุบันก็ยังพบมีรีสอร์ตผุดแบบไม่หยุด เนื่องเพราะใกล้ฤดูท่องเที่ยวที่จะถึงนี้ ทำให้เกิดแรงจูงใจ

ขณะที่หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.ชี้ให้เห็นว่า รีสอร์ตภูทับเบิกที่ผุดขึ้นมาหนาแน่นในปัจจุบัน ฟ้องให้เห็นถึงการแก้ไขการบุกรุกภูทับเบิกในอดีต ซึ่งทุ่มเททั้งกำลังคนและงบเป็นการเสียของ พร้อมเห็นด้วยที่นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ เล็งใช้ยาแรงด้วยการเปิดยุทธการบังคับใช้กฎหมายบนภูทับเบิกอีกครั้ง

หลังจากที่อดีตเมื่อปี 2559-2560 ที่ผ่านมา กรมป่าไม้ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจังหวัดเพชรบูรณ์ รวม 3 ฝ่าย ร่วมกันแก้ปัญหาการบุกรุกยึดครองใช้ประโยชน์ในพื้นที่
ป่าภูทับเบิก ในท้องที่หมู่ 8 ต.บ้านเนิน และหมู่ 16 ต.วังบาล อ.หล่มเก่า

โดยเปิดปฏิบัติมีการบังคับใช้กฎหมายภายใต้คำสั่ง หน.คสช.ที่ 35/2559 ซึ่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนและเครื่องจักร เข้าปฏิบัติการทุบรื้ออาคารสิ่งปลูกสร้างรีสอร์ตที่พักของนายทุนนอกพื้นที่ และรีสอร์ตที่กีดขวางทางน้ำรวมทั้งอยู่ในทำเลไม่ปลอดภัย ท่ามกลางกระแสต่อต้านของมวลชนชาวม้งในพื้นที่ กระทั่งปฏิบัติการดังกล่าวสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ จากนั้นจึงมีการขับเคลื่อนแผนแม่บทแก้ไขภูทับเบิกปี 2560-2565 ซึ่ง ครม.มีมติให้ความชอบ เพื่อฟื้นฟูป่าภูทับเบิกและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรชาวเขาในพื้นที่

แต่หลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการทุบรื้อรีสอร์ตที่บุกรุกป่า โดยได้มีการส่งมอบพื้นที่ป่าภูทับเบิกให้กรมป่าไม้รับช่วงดูแลต่อ แต่ปรากฏว่าในช่วงปี 2564 กระแสการท่องเที่ยวภูทับเบิกกลับมาบูมอีกครั้ง ประกอบกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเฉพาะป่าไม้ซึ่งเป็นกำลังหลักเริ่มใส่เกียร์ว่างทำให้รีสอร์ตแห่งใหม่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

 

กระทั่ง นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยเมื่อปี 2559 สมัยที่เป็นปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานรื้อรีสอร์ตภูทับเบิก ถึงกับทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ถึงอธิบดีกรมป่าไม้และ ผอ.สจป.ที่ 4 พิษณุโลก ให้ตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างพื้นที่ป่าภูทับเบิกที่ผิดกฎหมาย จากนั้นจี้เร่งรัดในที่ประชุมเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ให้ป่าไม้โดยสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (สจป.ที่ 4) พิษณุโลก ดำเนินการตรวจยึดจับกุมรีสอร์ตรายใหม่หลังมีรายงานการข่าวแจ้งว่ามีรีสอร์ตผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก กระทั่งหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ พช.18 (น้ำชุน) ดำเนินการตรวจยึดติดป้ายประกาศรีสอร์ตเดิมที่มีสิ่งปลูกสร้างใหม่

จากนั้นจึงเกิดเหตุการณ์กลุ่มชาวม้งเจ้าของรีสอร์ตลุกฮือปิดทางคณะเจ้าหน้าที่ชุดตรวจสอบรีสอร์ตภูทับเบิก นำโดย นายทรงศักดิ์กิตติธากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (ผอ.สจป.4) สาขาพิษณุโลก กรมป่าไม้ ไม่ให้ออกจากพื้นที่ บริเวณหมู่ 8 บ้านดินน้ำเพียงดิน ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา กระทั่งกลายเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกสังคมโฟกัสว่า ปัญหาบุกรุกผุดรีสอร์ตจะวนลูปกลับมาอีกครั้ง

โดยเฉพาะการปิดถนนเจรจาต่อรองกับคณะเจ้าหน้าที่นั้น นอกจากปมสาเหตุที่ทำให้กลุ่มชาวม้งเจ้าของรีสอร์ตไม่พอใจ กระทั่งก่อเหตุนำรถปิกอัพปิดถนน เพราะการที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้นำป้ายประกาศตรวจยึดอายัดรีสอร์ตที่ถูกดำเนินคดี พร้อมห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่หรือกระทำด้วยประการใด หากฝ่าฝืนจะมีความผิดทางกฎหมาย

โดยรีสอร์ตเหล่านี้กลุ่มชาวม้งเจ้าของรีสอร์ต นอกจากกลัวว่าถูกรื้อสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แล้ว ยังพากันโวยวายว่ามีชื่อขึ้นทะเบียนจดแจ้งเป็นที่พักที่ไม่ใช่โรงแรมร่วมกับรีสอร์ตที่พักอีก 300 กว่ารายกับทางอำเภอหล่มเก่าเรียบร้อยแล้ว

แม้นายทรงศักดิ์และเจ้าหน้าที่จะพยายามชี้แจง การลงพื้นที่เพียงมาตรวจสอบรีสอร์ต 12 แห่งเนื่องจากเป็นรายใหม่เท่านั้น แต่ชาวม้งกลุ่มนี้นอกจากจะก็ไม่ยินยอมแล้ว ยังยืนยันไม่ยุติการปิดถนนด้วย แม้ พ.ต.ท.ประสิทธิ์ วงษา รักษาการ ผกก.สภ.หล่มเก่า จะช่วยเจรจาก็ตาม

กระทั่งต้องมีการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างนายจำเนียร โฉมงาม ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย กลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ตชาวม้ง พร้อมตัวแทนเจ้าของรีสอร์ตกับคณะเจ้าหน้าที่ นายจำเนียรหยิบยกข้อกฎหมายเรื่องขอบเขตป่าไม้ พ.ศ.2484 และพื้นที่ของนิคมสร้างตนเองชาวเขาเผ่าม้ง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนขึ้นมาโต้แย้ง จากนั้นให้ชะลอและทบทวนการตรวจยึดและดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ประกอบการรีสอร์ตบนภูทับเบิก จนกว่าจะมีความชัดเจน

นอกจากนี้นายจำเนียรพร้อมเจ้าของรีสอร์ตชาวม้งยังขอให้ทางอำเภอหล่มเก่า ชะลอการประกาศใช้คำสั่งให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้จดแจ้งขอใบอนุญาต ยุติการให้บริการนักท่องเที่ยวเอาไว้ก่อนและขอให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว รวมทั้งยังให้ทางรีสอร์ตสามารถเปิดดำเนินกิจการได้ต่อไปตามปกติ

ขณะเดียวกันทางเจ้าของรีสอร์ตบนภูทับเบิกยังเรียกร้องขอให้มีการเสนอให้ผลักดันปัญหาภูทับเบิกไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง การเจรจายืดเยื้อกว่า 8 ชั่วโมงทางม้งเจ้าของรีสอร์ตจึงยอมเปิดถนนให้คณะเจ้าหน้าที่เดินทางกลับ

เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นข้อขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐกับราษฎรชาวม้ง ในเรื่องการแก้ไขพื้นที่ภูทับเบิก ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นถึงขั้นมีการเผชิญหน้า

ในยุค คสช.นั้น อำนาจการแก้ไขปัญหาอยู่ในมือรัฐบาลทหาร และได้จัดการปัญหาแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน ดำเนินการอย่างนั้นมิได้ นอกจากนี้ยังมีจำนวนรีสอร์ตรายใหม่ผุดมากขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่า ปัญหาสลับซับซ้อนยิ่งกว่าเก่า

อาจจำเป็นต้องใช้ทั้งหลักนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ บนความเห็นพ้องต้องกันของทั้งสองฝ่าย เป็นทางเลือก ทางออก คลี่คลายเพื่อให้เกิดการยอมรับไม่แก้ปัญหาแบบเก่าแต่ก่อปัญหาใหม่ อย่างมิรู้จบสิ้น อย่างที่เคยเป็นมาแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง