รีเซต

เพชรบูรณ์ถกเครียด! ผู้ว่าฯ สั่ง 4 หน่วยงานแก้ภูทับเบิก เร่งจดแจ้งรีสอร์ตไม่เป็นรร. สำรวจคน-แปลง ให้ทันสมัย

เพชรบูรณ์ถกเครียด! ผู้ว่าฯ สั่ง 4 หน่วยงานแก้ภูทับเบิก เร่งจดแจ้งรีสอร์ตไม่เป็นรร. สำรวจคน-แปลง ให้ทันสมัย
มติชน
20 กันยายน 2565 ( 11:04 )
35
เพชรบูรณ์ถกเครียด! ผู้ว่าฯ สั่ง 4 หน่วยงานแก้ภูทับเบิก เร่งจดแจ้งรีสอร์ตไม่เป็นรร. สำรวจคน-แปลง ให้ทันสมัย

เพชรบูรณ์ถกเครียด! ผู้ว่าฯ สั่ง 4 หน่วยงานแก้ภูทับเบิก เร่งจดแจ้งรีสอร์ตไม่เป็นโรงแรม สำรวจคน-แปลงให้เป็นปัจจุบัน แนะปรับปรุงอาคารให้มั่นคง จับกุมผู้บุกรุกรายใหม่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ฟื้นอดีตช่วงรื้อถอนรัฐบาลไม่ปลื้ม นอกจากไม่ได้รับคำชมยังถูกกำชับอย่าให้มีภาพอย่างนี้อีก

 

วันที่ 19 กันยายน นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ประชุมคณะทํางานศูนย์ปฏิบัติการตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินป่าภูทับเบิก ในพื้นที่ตําบลวังบาล และตําบลบ้านเนิน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ และคณะกรรมการการดําเนินการตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกจังหวัดเพชรบูรณ์ ครั้งที่ 2/2565 เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว โดยที่ประชุมนอกจากจะติดตามการดำเนินการตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิก ปี 2560-2565 ยังให้ประสานกระทรวงพัฒนาการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เร่งรัดการขอใช้พื้นที่กรมป่าไม้ การขอขยายระยะเวลาแผนแม่บทฯ และพิจารณาการขอเปลี่ยนแปลงพื้นที่ตามแผนแม่บทฯจากเดิม 7,881 ไร่เป็น 21,899 ไร่ ตามที่ราษฎรในพื้นที่ภูทับเบิกร้องขอและอยู่อาศัยจริง

 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพิจารณาให้ทาง พม.จังหวัด จัดทำบัญชีแยกประเภทการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของราษฎร 3 ประเภท คือ คนเดิม(ม้งเดิม)พื้นที่เดิม, คนเดิม(ม้งเดิม)พื้นที่ใหม่, และคนใหม่(คนนอก)พื้นที่ใหม่ ฯลฯ

นายกฤษณ์กล่าวระหว่างการประชุมว่า จุดประสงค์ใหญ่ของการแก้ไขปัญหาพื้นที่ภูทับเบิกคือ ให้พี่น้องประชาชนอยู่ได้และรักษาทรัพยากรของประเทศชาติไว้ให้คงอยู่ จึงต้องพยายามประสานให้สองส่วนไปด้วยกันได้ จะเลือกส่วนใดส่วนหนึ่งคิดว่าจะเป็นเรื่องลำบาก ที่จะแก้ปัญหาโดยสภาพสังคมแบบนี้ จึงให้ช่วยระดมความคิดเห็นและข้อกฏหมายต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาบรรลุไปด้วยดี

 

นายกฤษณ์ กล่าวว่า ได้สั่งให้ที่ประชุมดำเนินการใน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ให้นายอำเภอหล่มเก่าสำรวจและจดแจ้งผู้ประกอบการที่ยกเว้น พ.ร.บ.โรงแรม มีห้องไม่เกิน 4 ห้องพักไม่เกิน 20 คน ตามที่มีการจดแจ้งแล้วให้รีบรายงานจังหวัด 2.ให้พม.จังหวัดประสานกับอำเภอหล่มเก่า ในการสำรวจคนสำรวจแปลงให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันที่สุด 3.ให้อบต.บ้านเนินและอบต.วังบาล ให้ตรวจแนะนำและให้กำหนดเวลา หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนเวลาให้รายงานมาทางโยธาฯ ในฐานะในเจ้าหน้าที่ให้รวบรวมและนำเข้าคณะกรรมการแก้ไขภูทับเบิก เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป 4.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก (สจป.ที่ 4 พิษณุโลก) ในฐานะพนักงานตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 35/2559 และเป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ตรงนี้ ให้ตรวจจับผู้บุกรุกรายใหม่ตามอำนาจหน้าที่ และมีอำนาจรื้อตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 35/2559 อยู่แล้ว เพราะมีอำนาจรื้อเดี่ยวอยู่แล้ว หากเหลือบ่ากว่าแรงให้ขอมาที่คณะกรรมการที่เหลือ

รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างการประชุม นายทรงศักดิ์ กิตติธากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก (ผอ.สจป.ที่ 4 พิษณุโลก) กล่าวรายงานถึงกรณีนำคณะเข้าตรวจสอบพื้นที่ภูทับเบิกเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา จนถูกกลุ่มผู้ประกอบการชาวม้งปิดถนนบนภูทับเบิกเพื่อเจรจาต่อรอง โดยนายทรงศักดิ์ระบุว่า ตามที่จังหวัดสั่งให้ป่าไม้ตรวจสอบจับกุมดำเนินดำเนินคดีกับผู้บุกรุกพื้นที่ใหม่คนใหม่ ประกอบกับข่าวมีรีสอร์ตรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงประสานกับทาง พม.จังหวัด, กรอ.จังหวัด, ปลัดอำเภอ ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่ภูทับเบิก

 

นายทรงศักดิ์กล่าวอีกว่า จากการนำข้อมูลมาดูกันปรากฎว่า มีการรับจดแจ้งจากสถานประกอบการที่ไม่ใช่โรงแรมจำนวน ณ ตอนนั้นมี 320 ราย ซึ่งข้อมูลของ พม.มี 55 ราย ทางปลัดอำเภอแจ้งว่า การรับแจ้งไม่มีการตรวจสอบความปลอดภัยความมั่นคงแข็งแรง เพราะไม่มีช่างโยธา และไม่มีการคัดกรองว่าเป็นม้งเดิมหรือคนนอกพื้นที่ อันนี้คือปัญหาที่มีรีสอร์ตเพิ่มขึ้น จากนั้นช่วงบ่ายจึงเดินทางไปตรวจสอบในพื้นที่จริง เพราะหลายแห่งการก่อสร้างเป็นไปด้วยความรีบร้อน ทำให้โครงสร้างไม่มั่นคงปลอดภัยตามหลักวิศวกรรม ปิดกั้นขวางทางน้ำ เสี่ยงต่อการพังทลายของดิน เพราะส่วนใหญ่รีสอร์ตไปสร้างบนชะง่อนผา เพื่อชมวิวชมหมอกเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินนักท่องเที่ยวและประชาชน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ

“จึงประชุมทีมงานของ สจป.ที่ 4 จึงได้เห็นควรใช้มาตรการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินและใช้ประโยชน์ป่าภูทับเบิกตามคำสั่ง หน.คสช.ที่ 35/2559 จึงขอมติที่ประชุมให้หน่วยงานทั้ง 5 หน่วยและกำลังสนับสนุนเข้าไปตรวจสอบรีสอร์ตที่สร้างไม่ได้มาตรฐานที่เสี่ยงต่อการเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ขอให้โยธาธิการและผังเมืองร่วมตรวจสอบ และถ้าไม่มั่นคงก็ต้องรื้อถอนต่อไป คำสั่ง หน.คสช.ที่ 35/2559 ยังไม่ได้ยกเลิก หากเราไม่ดำเนินการตรงนี้ หาดเกิดดินโคลนถล่มเหมือนปี 2545 เราก็ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งนี้”นายทรงศักดิ์กล่าว

 

ในขณะที่นายกฤษ์กล่าวชี้แจงว่า ตนไล่ที่มาของคำสั่ง หน.คสช.ที่ 35/2559 ให้ฟัง เกิดจากกรมป่าไม้อ้างว่าไม่มีอำนาจรื้อถอนตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 จึงให้ คสช.ให้อำนาจ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและอีก 4 หน่วยงานหลักเข้าไปเป็นเจ้าพนักงานด้วย เพื่อให้มีอำนาจรื้อบนภูทับเบิก ซึ่งตนไม่ได้ปฏิเสธเป็นเจ้าพนักงานแค่เล่าให้ฟังเฉยๆ หลังจากรื้อแล้วส่งมอบให้กรมป่าไม้ดูแล โดยคุณชีวะภาพ(ชีวะธรรม)อยู่ในเหตุการณ์ โดยตนเป็นหัวหน้าชุดรื้อถอนตั้งแต่ปี 2559 ตนพูดในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด ป่าไม้ตอนนั้นไม่มีอำนาจรื้อ แต่ตอนนี้ท่าน(ผอ.สจป.ที่ 4) เป็นพนักงานตามคำสั่งที่ 35/2559 และเป็นเจ้าของพื้นที่หากเห็นว่า สามารถใช้คำสั่งรื้อได้เลยไม่ต้องประชุม

 

“อันนี้ผมไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบนะ แต่ถ้ากระทรวงมหาดไทย(มท.)สั่งให้ผมนำทีมรื้อ ผมจะนำไปรื้อ แต่ในความคิดผมเราแก้ปัญหาอย่างที่บอกชาวบ้านอยู่ในนั้นไม่ผิด และอัยการก็สั่งไม่ฟ้องหลายเคสหลายคดี เขาพิสูจน์ได้ว่าเข้าไปอยู่ไม่ผิด และเขาก็ไม่ผิด พ.ร.บ.โรงแรมเพราะมีห้องไม่เกิน 4 หลัง ส่วนความมั่นคงแข็งแรงเป็นหน้าที่ อบต. ถ้าไปดูและพอช่วยเขาได้ก็แนะนำไป เพราะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” นาย กฤษณ์ กล่าวและว่า ยังจำได้หลังจากที่ขึ้นไปรื้อทำลายและไปรายงานรัฐบาล ไม่ได้รับคำชมนะมีแต่คำบอกว่า อย่าให้เกิดภาพแบบนี้ขึ้นมาอีก ผมคิดว่าถ้าไม่มั่นคงแข็งแรงก็แนะนำให้เขาทำให้ถูกต้องอาคาร ถ้ามีการบุกรุกใหม่ให้ป่าไม้จับได้เลย แต่ถ้าเขาได้รับสิทธิในการอยู่ จากกระทรวง มท.โดยกรมประชาสงเคราะห์ตั้งแต่เริ่มแรกอันนี้ต้องดูแลเขา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง