‘ดีดีพร็อพเพอร์ตี้’ ชี้ ‘อสังหาฯ’ ต้องพัฒนาเน้นความยั่งยืน-สิ่งแวดล้อม หลังโควิดทำความต้องการตลาดเปลี่ยน
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ดีดี พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่า จากวิกฤตการระบาดโควิด-19 ที่ขณะนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ในมุมผู้บริโภคถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตไปอย่างชัดเจน ทั้งพฤติกรรมการเดินทาง การกิน การอยู่การใช้จ่าย การทำงาน การเรียน หรือการพบแพทย์ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายจากการที่ยังไม่สามารถคาดเดาตอนจบในอนาคตได้ ทุกคนจึงตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพควบคู่กับเรื่องสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มมีสัญญาณให้เห็นชัดขึ้นจากการเกิดภัยพิบัติต่างๆ ทั่วโลก ทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นคำตอบในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคนี้เนื่องคนส่วนใหญ่หันมาตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (กรีน อีโคโนมี) เข้ามามีอิทธิพลในการดำเนินชีวิต โดยจากผลสำรวจผู้บริโภคคนไทย (Global Consumer Insights Pulse Survey) พบว่า ผู้บริโภคกว่า 76% ต้องการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์แบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด ส่วนอีก78% เลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีจิตสำนึกและสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงแนวโน้มการเติบโตของแนวคิดรักษ์โลกที่มีอิทธิพลชัดเจนยิ่งขึ้นในทุกธุรกิจ
“ในปัจจุบันยังเห็นความต้องการที่อยู่อาศัยมีทิศทางการเติบโตขึ้น ภายใต้รูปแบบความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยพบว่า ผู้บริโภคกว่า 9 ใน 10 หรือ 93% ให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยแบบยั่งยืน ที่จะช่วยผสมผสานรูปแบบการใช้ชีวิตให้เข้ากับบ้านที่เป็นสถานที่พักผ่อนได้อย่างลงตัว ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบประโยชน์ใช้สอย (ฟังก์ชั่น) ที่อยู่อาศัยทั้งในส่วนพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่ส่วนกลางภายใต้แนวคิดการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสร้างจุดต่างในการดึงดูดผู้บริโภคมากกว่าการแข่งขันในด้านสงครามราคาที่อาจดูฉาบฉวยในสายตาผู้ซื้อตอนนี้” นางกมลภัทร กล่าว
นางกมลภัทร กล่าวว่า แม้ผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วๆ นี้ แต่ความท้าทายจากการใช้ชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบันได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้บริโภคเกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้เร็วขึ้น การก้าวข้ามไปสู่ประสบการณ์ใหม่หลังรับมือวิกฤตโควิดในครั้งนี้ ถือเป็นบททดสอบที่ทำให้ผู้บริโภคได้มองย้อนกลับไปทบทวนความต้องการและเป้าหมายในการใช้ชีวิต มองเห็นความสำคัญของการดำเนินชีวิตที่เชื่อมโยงเข้ากับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืนในการใช้ชีวิต จึงถือเป็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจไม่ควรมองข้าม โดบแม้การระบาดโควิดจะจบลงในอนาคต แต่ความสำคัญด้านสุขภาพและความยั่งยืนในการดำเนินชีวิต จะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคยังคงมองหาจากผู้ประกอบการ และช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงบทบาทที่ควรรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
นางกมลภัทร กล่าวว่า นอกจากนี้ ปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากขึ้นในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยคือ นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพ การที่ผู้บริโภคหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมที่ชัดเจนที่สุดหลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดฯ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรรมมาช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพให้ง่ายขึ้นแม้ในช่วงที่ยังต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ผ่านบริการดูแลสุขภาพแบบออนไลน์ รวมไปถึงการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ช่วยให้เข้าถึงการตรวจรักษาและรับการวินิจฉัยจากแพทย์ได้โดยตรง จึงจะเห็รในตลาดที่อยู่อาศัย มีผู้พัฒนาอสังหาฯ จับมือกับโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพ เพื่อเพิ่มบริการดูแลสุขภาพหรือบริการทางการแพทย์ไว้ในโครงการฯ แล้ว นวัตกรรมที่เลือกใช้ในการก่อสร้างโดยตรงก็เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเช่นกัน รวมถึงจะต้องมีพื้นที่ใช้สอยต้องพร้อมรองรับการทำงานที่บ้านมากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้า จะเข้ามาพลิกโฉมการเดินทางยุคใหม่ การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าและขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวและหันมาพิจารณาข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยลดการเกิดมลพิษแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ปกติด้วย