รีเซต

ซาอุฯ จับมือจีน สร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ใหญ่สุดในโลก พื้นที่ใหญ่กว่าเชียงใหม่ทั้งจังหวัด !

ซาอุฯ จับมือจีน สร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ใหญ่สุดในโลก พื้นที่ใหญ่กว่าเชียงใหม่ทั้งจังหวัด !
TNN ช่อง16
21 สิงหาคม 2567 ( 13:28 )
17
ซาอุฯ จับมือจีน สร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ใหญ่สุดในโลก พื้นที่ใหญ่กว่าเชียงใหม่ทั้งจังหวัด !

ซาอุดีอาระเบีย จับมือหัวเว่ย (Huawei) บริษัทด้านเทคโนโลยีชื่อดังจากจีน เตรียมสร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก กำลังการผลิต 400 เมกะวัตต์ (MW) สำหรับจ่ายไฟบริเวณ ตะบุก (Tabuk) หรือเมืองชายฝั่งที่ติดทะเลแดง (Red Sea) ของประเทศซาอุดิอาระเบีย ตามโครงการพัฒนาประเทศที่ชื่อว่า เรด ซี โปรเจกต์ (Red Sea Project) ภายใต้แผนแม่บทเดียวกันกับ โครงการเดอะ ไลน์ (The Line) หรือโครงการ เมืองในอาคารคล้ายกำแพงยาว 170 กิโลเมตร 


โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลกในซาอุดีอาระเบีย

Red Sea Project เป็นโครงการก่อสร้างแลนด์มาร์ก (Landmark) หรือหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว แห่งใหม่ในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของเมือง Tabuk โดยจะมีการก่อสร้างโรงแรมกว่า 50 โรงแรม ห้องพักรวมกว่า 8,000 ห้อง พร้อมที่พักอาศัยสำหรับ 1,000 ครัวเรือน บนพื้นที่ก่อสร้างแนวชายฝั่ง 6 พื้นที่ และบนเกาะอีกกว่า 22 เกาะ ซึ่งทั้งหมดจะใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในรูปแบบหน่วยจ่ายไฟระบบปิดขนาดเล็ก หรือไมโครกริด (Microgrid) ที่แยกขาดกับส่วนอื่นของประเทศ เพื่อให้กลายเป็นเมืองสีเขียวเต็มรูปแบบแห่งแรกของโลก


โดยฟาร์มโซลาร์เซลล์ในโครงการ Red Sea จะใช้พื้นที่ติดตั้งโซลาร์เซลล์รวมกว่า 28,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดของไทยกว่า 22,436 ตารางกิโลเมตร ตามข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย โดยโซลาร์ฟาร์มจะมีกำลังการผลิตรวม 400 เมกะวัตต์ (MW) พร้อมระบบแบตเตอรีจัดเก็บพลังงานขนาด 1.3 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ซึ่งจะทำให้ฟาร์มโซลาร์เซลล์ที่เมือง Tabuk กลายเป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการก่อสร้างจะดำเนินคู่ขนานไปกับการพัฒนาโครงการ Red Sea ส่วนอื่น ๆ เพื่อให้ทันเป้าหมายการเปิดตัวในปี 2030 นี้ 


Red Sea Project เป็นส่วนหนึ่งของ Saudi Vision 2030 หรือยุทธศาสตร์ชาติของซาอุดีอาระเบียที่ตั้งเป้าการพัฒนาประเทศผ่าน เมกะโปรเจกต์ต่าง ๆ ให้เป็นรูปร่างในปี 2030 ที่คาดว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการกว่าปีละ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นแผนแม่บทเดียวกันกับที่ผลักดันโครงการ The Line โครงการสร้างอาคารที่ยาวที่สุดในโลก ที่ตกเป็นข่าวลือว่าอาจมีการหั่นขนาดโครงการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา



หัวเว่ย (Hauwei) กับพลังงานหมุนเวียน

ในขณะที่ Huawei ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดผู้ให้บริการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนระดับโลกทั้งในรูปแบบอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์ (Commercial and Industrial: C&I) รวมถึงระบบ ฟิวชัน โซลาร์ สมาร์ต สตริง เอเนอร์จี (FusionSolar Smart String) ที่เป็นระบบจัดการ การจัดเก็บพลังงาน หรือ ESS (Energy Storage Solution) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการทำหน่วยจ่ายไฟแบบ Microgrid ที่ต้องจัดสรรพลังงานให้เพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง แม้ว่าแหล่งพลังงานอย่างแสงจากดวงอาทิตย์จะหายไปในช่วงกลางคืนก็ตาม


โดย Huawei มีโครงการพัฒนาระบบพลังงานหมุนเวียนหลายโครงการ เช่น การร่วมมือกับบริษัท ดูไบ โกลบอล พอร์ต กรุ๊ป (Dubai Global Port Group) สร้างโซลาร์ฟาร์มกำลังการผลิต 25.8 เมกะวัตต์ ในดูไบ รวมถึงระบบการจัดเก็บพลังงาน (ESS Plant) ที่มีขนาด 600 กิโลวัตต์ชั่วโมง บนพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ 12 เมกะวัตต์ อีกด้วย



ข้อมูล Interesting Engineering

ภาพ Huawei

ข่าวที่เกี่ยวข้อง