รีเซต

ก้อนอิฐผลิตจากเศษผ้า FabBRICK แก้ปัญหา “ขยะแฟชั่น”

ก้อนอิฐผลิตจากเศษผ้า FabBRICK แก้ปัญหา “ขยะแฟชั่น”
TNN ช่อง16
13 มิถุนายน 2567 ( 11:00 )
169

แฟบบริก (FabBRICK) สตาร์ตอัปจากประเทศฝรั่งเศส นำเสนอผลงานใหม่ที่จะช่วยเปลี่ยนขยะแฟชั่นให้กลายเป็นวัสดุเพื่อการก่อสร้างที่มีมูลค่า ด้วยการรีไซเคิลเสื้อผ้าหรือเศษสิ่งทอที่ไม่ใช่แล้ว ออกมาเป็นก้อนอิฐรูปแบบใหม่ สามารถนำไปใช้ทำผนังกั้นหรือเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ได้อย่างสวยงาม


ภาพจาก FabBRICK

สตาร์ตอัปแห่งนี้ก่อตั้งโดยสถาปนิกสาว คลาริสเซ เมอร์เล็ต (Clarisse Merlet) ตั้งแต่ปี 2019 ร่วมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาวัสดุที่ได้รับการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม 


โดยวิธีการของบริษัทจะเริ่มจากการคัดแยกขยะที่ได้มาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าที่ไม่ใช่แล้ว หรือเศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บต่าง ๆ จากนั้นนำมาแยกประเภทและสีสันตามผลงานที่ต้องการจะสร้าง แล้วนำไปเข้าเครื่องบด เพื่อเปลี่ยนสิ่งทอเหล่านั้นให้กลายเป็นเส้นใยและผ้าชิ้นเล็ก ๆ


ซึ่งเส้นใยหรือเศษผ้าชิ้นเล็ก ๆ ที่ได้ สามารถเลือกความละเอียดได้ถึง 3 ระดับด้วยกัน ได้ขนาดเศษผ้าชิ้นเล็กเริ่มตั้งแต่ 7 มิลลิเมตร 20 มิลลิเมตร ไปจนถึง 40 มิลลิเมตร ขึ้นอยู่กับความละเอียดของเนื้อที่อยากได้ จากนั้นเส้นใยเหล่านี้ จะถูกผสมเข้าด้วยกันกับกาว ที่ทำจากส่วนผสมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนได้เนื้อที่มีความเหนียว ก่อนจะนำไปบีบอัดและขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ ใช้เวลาประมาณ 30 นาที


เมื่อได้แล้วก็จะตากให้แห้ง ใช้เวลาประมาณ 10-15 วัน จนกลายเป็นบล็อกแข็ง คล้ายกับก้อนอิฐ โดยที่สีของบล็อกหรืออิฐที่ได้มาจะไม่ผ่านการย้อม แต่จะเป็นสีที่ได้มาจากเศษสิ่งทอที่ใช้ และสามารถนำไปใช้เป็นวัสดุสร้างเฟอร์นิเจอร์และผนังกั้น ตามแบบที่ต้องการ 


ภาพจาก FabBRICK

โดยคุณสมบัติเด่นของอิฐเหล่านี้ คือมีความแข็งแรง ทนทาน สามารถทำเป็นฉนวนกั้นเสียงและความร้อนได้ดี อย่างไรก็ตามข้อจำกัดตอนนี้คืออิฐที่ได้ยังเหมาะสำหรับใช้งานภายในอาคาร และยังต้องพึ่งการผลิตด้วยมือ ดังนั้นเป้าหมายถัดไปของบริษัทคือการพัฒนาให้กระบวนการผลิตทำได้โดยเครื่องจักรมากขึ้น เพื่อที่จะรีไซเคิลได้มากขึ้น และส่งออกโรงงานไปทั่วโลก


ข้อมูลจาก designwantedparametric-architecturemin


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง