รีเซต

ทบทวนแผนลงทุนอย่างไร! รับมือตลาดหมีป่วย

ทบทวนแผนลงทุนอย่างไร!  รับมือตลาดหมีป่วย
TNN ช่อง16
26 มิถุนายน 2565 ( 09:48 )
243
ทบทวนแผนลงทุนอย่างไร!  รับมือตลาดหมีป่วย

บรรยากาศการลงทุนยังคงขมุกขมัวแบบ 3 วันดี 4 วันป่วยมาตลอดครึ่งปีแล้ว นับเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ร้อนแรง พลิกผันได้ตลอด ต่างจากปีก่อนๆ เพราะปัญหาใหญ่ของโลกวันนี้ ‘เงินเฟ้อพุ่งแรงและเร็วกว่าคาด’ กดดันธนา คารกลางหลายประเทศหันมาใช้นโยบายการเงินเข้มข้น  สร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกและภาวะเงินตึงตัว

 

‘สหรัฐฯ’ เป็นประเทศแรกที่นำร่อง ‘ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย’ ตั้งแต่ต้นปี หลังเห็นสัญญาณตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีเป้าหมายที่จะกดเงินเฟ้อให้ลดลง แต่กลายเป็นว่าถูกเงินเฟ้อสู้กลับด้วยการพุ่งขึ้นแรงกว่าเดิมและออกอาการยืดเยื้อข้ามปี Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 0.75% จากเดิมค่อยๆ ทยอยปรับขึ้นจาก 0.25-0.50% ในช่วงต้นปีนี้


นี่คือภาพสะท้อน การขึ้นดอกเบี้ยที่มีประสิทธิผลน้อย หรือช้าเกินการณ์ ไม่สามารถคุมเงินเฟ้อได้อย่างที่คาดหวัง ที่สำคัญยาแรงนี้อาจจะส่งผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจและอาจเกิดภาวะถดถอยตามมาก็เป็นได้

 

เวลานี้ ธนาคารกลางของหลายประเทศจึงเริ่มทำการทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เมื่อเห็นแนวโน้มเงินเฟ้อในประเทศตนเองกำลังวิ่งเร็ว ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางอังกฤษ ธนาคารกลางของสวิสเซอร์แลนด์ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยเองที่ได้ส่งสัญญาณเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ‘การขึ้นดอกเบี้ยต้องไม่ช้าเกินไป’ หลังจากที่เพิ่งคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา

 

@ตลาดหมีป่วย แพ้ยาแรง “ขึ้นดอกเบี้ยข้ามปี-เศรษฐกิจถดถอย”

ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดน้อยถอยหลัง ตลาดยังคง sensitive ไปกับข่าวความเคลื่อนไหวการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกันอีกระยะหนึ่ง  ถือเป็นปัจจัยลบสำคัญที่คอยฉุดรั้งสินทรัพย์ทั่วโลกให้ปรับตัวผันผวนแบบขาลงมากกว่าขึ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นกลายสภาพเป็นตลาดหมีป่วยไปแล้ว

 

ล่าสุด ผลการประชุมของ Fed ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นถึง 0.75% เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ดอกเบี้ยขึ้นมาอยู่ในกรอบ 1.5% - 1.75% ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ครั้งนี้ ถือเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่สูงชันที่สุดในรอบ 28 ปีนับตั้งแต่ปี 2537 ด้วยความมุ่งมั่นจะควบคุมเงินเฟ้อไว้ให้จงได้

 

ประธาน Fed ‘Jerome Powell’ ยังส่งสัญญาณว่า มีแผนจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งถัดไป (เดือนกรกฏาคม) อีก 0.50% หรือ 0.75 %  ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลทางเศรษฐกิจที่จะออกมาด้วย 


อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า Fed จะยังคงปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจนถึงระดับ 3.4% ภายในสิ้นปีนี้ (จากเดิมเคยคาดไว้ที่ 1.9%) เท่ากับว่าจากนี้ไป Fed ยังจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในสิ้นปีนี้ 


รวมทั้งได้ทำการปรับลดคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปีนี้ลดลงเหลือ +1.7% (จากเดิมคาด + 2.8 %)  พร้อมกับเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เกิดภาวะถดถอย (Recession) ขึ้นในปีนี้

 

การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะดำเนินการต่อเนื่องถึงปีหน้า คาดว่าดอกเบี้ย Fed จะแตะระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 (จากเดิมคาด 2.8%) ภายใต้ความคาดหวังจะกดเงินเฟ้อให้ลงมาอยู่ในกรอบเป้าหมาย 2% ให้ได้ หลังจากนั้นจึงจะเห็นดอกเบี้ยลดลงในปี 2567


โดยคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือ 3.4% ดอกเบี้ยสูงระดับนี้ Fed มองว่า อาจจะเห็นตัวเลขว่างงาน (Unemployment rate) ปรับตัวสูงขึ้นจาก +3.6% ไป 4.1% ในสิ้นปี 2567 ได้

 

ผมรู้สึกว่า ประธาน Fed กำลังส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มไหลลงในช่วงเวลา 2-3 ปีนี้ใช่หรือไม่ และมีข้อสังเกตว่า ดูเหมือนรอบวัฎจักรทางเศรษฐกิจโลกหลังโควิดจะมีระยะเวลาสั้นลงทุกทีจากที่เคยมองกันว่ารอบนึงจะกินเวลา 10 ปี แต่เวลานี้ในตลาดเริ่มมีการพูดกันว่า รอบวัฎจักรเศรษฐกิจน่าจะหดเหลือราว 3-5 ปี หรือใครมีความคิดเห็นอย่างไรลองมาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ

 

แม้ว่าประธาน Fed ส่งสัญญาณชัดเจนในครั้งนี้แล้วก็ตาม แต่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นแค่ช่วงสั้นๆ ก็ไหลกลับมาร่วงอีก นั่นเพราะว่า นักลงทุนพยายามรับรู้ ย่อยข้อมูลและประเมินผลการประชุมของ Fed ที่แถลงออกมาแล้ว ก็ยังไม่เชื่อมั่นต่อภาพที่ Fed ส่งสัญญาณในครั้งนี้ครับ 

 

เรายังลุ้นกันว่า Fed จะสามารถรักษา ‘ความไว้ใจ’ ของนักลงทุนต่อไปได้ไหม หลังจากแถลงในรอบนี้แล้ว นักลงทุนจะเฝ้าติดตาม ยึดตามตัวเลขจริงของข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ โดยเฉพาะเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน อัตราการจ้างงานนอกภาคเกษตร ฯลฯ ในแต่ละเดือนที่ออกมา  

 

@ทบทวนแผนลงทุน เมื่อปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยน

สถานการณ์ ‘ความไม่แน่นอน’ ต่างๆ ถือเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้น แต่ผมเชื่อว่า น้อยคนนัก ที่เห็นตลาดหุ้นป่วยแบบนี้แล้วจะทำใจแข็งอดทนกันได้ครับ  

 

ในปี 2565 สถานการณ์ความผันผวนของดัชนีตลาดหุ้นต่างๆ (ตั้งแต่ต้นปีถึง 27 พฤษภาคม) ต่างเป็นขาลงทั่วโลก เป็นเหตุเป็นผลกับสถานการณ์ต่างๆ ที่สร้างแรงกดดันให้ตลาดหุ้นหลายๆ ประเทศเป็นตลาดหมี (Bear Market) ไม่ว่าจะเป็นดัชนี S&P500 ลดลง -13.31% ดัชนี NASDAQ ลดลง -23.38% ดัชนี SI300 ลดลง -18.64% ดัชนี SET ลดลง -1.14% และดัชนี VNI (ตลาดหุ้นเวียดนาม) ลดลง -16.19%

 

คนที่จะเจ็บหนักๆ ก็มักจะเป็นคนที่พึ่งเริ่มลงทุนในช่วงไม่นานนี้ อย่าเพิ่งคิดว่ามันเป็นโชคร้าย แต่ขอให้คิดว่า ‘มันเป็นเรื่องปกติของคนที่ลงทุนมานาน ก็ต้องเจอเหมือนกัน

 

ผมเข้าใจดีครับสำหรับคนที่เป็นนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งเข้ามาลงทุนในหุ้นปีนี้ เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้อาจเกิดความกลัว และรู้สึกแย่กับการลงทุนในตลาดหุ้น แต่แนะนำว่า อย่าเพิ่งถอดใจจากการลงทุน เพราะหากดูสถิติที่ Goldman Sachs ธนาคารชื่อดังของสหรัฐฯ จะพบว่า 7 ใน 10 ครั้ง หลังจากที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงจบลง ตลาดหุ้นมักจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้อีกครั้ง

 

สำหรับกลุ่มนักลงทุนที่ลงทุนมานานแล้ว สถานการณ์ตลาดหุ้นในเวลานี้ถือว่า ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะติดลบมาเพียง 10% กว่าๆ เท่านั้น และค่อยๆ ลงด้วย ถือว่าปกติ อาจจะเกิดจากตลาดหุ้นขึ้นมาสูงมากเกินไปแล้วจุดหนึ่ง ดัชนีตลาดหุ้นจึงปรับฐานลงมา เพื่อให้ราคาหุ้นไปสู่มูลค่าที่แท้จริง


ถ้าย้อนไปตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นการแพร่ระบาดของโควิด จนถึงตอนนี้ ตลาดหุ้น Nasdaq ก็ยังให้ผลตอบแทนเป็นบวกอยู่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563 – ปัจจุบัน) อยู่ที่ระดับ 23.37% ยังถือเป็นผลตอบแทนในระดับปกติ แม้ว่าตลาดหุ้นจะตกในปีนี้

 

เมื่อเจอภาวะตลาดหมีแบบนี้ ควรรับมืออย่างไรดี  

-    ข้อแรกสำคัญที่สุด คือ การตั้งสติให้ดี และถือเงินสดให้ได้มากที่สุด ผมขอย้ำนะครับ ห้ามสติแตกเด็ดขาด อยู่นิ่งๆ อย่าเพิ่งบุ่มบ่ามขายหุ้นหรือสินทรัพย์ที่กำลังผันผวน และรวบรวมเงินสดในมือให้มากที่สุด เพื่อรอโอกาสที่จะเข้าลงทุน


-    ข้อที่สอง หาสาเหตุของหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ตก ตกเพราะอะไร ซึ่งปกติก่อนที่คุณจะตัดสินใจซื้อหุ้นซักตัว ย่อมต้องศึกษาข้อมูลและเข้าใจภาพรวมของธุรกิจที่เข้าไปลงทุนอยู่แล้ว 


ดังนั้น หากราคาหุ้นตก คุณต้องพยายามติดตามข้อมูลข่าวสารเพื่อทำความเข้าใจในสถานการณ์ที่ทำให้ราคาตกเพราะเหตุอะไร เช่นเป็นผลของปัจจัยเศรษฐกิจ ปัจจัยวงจรธุรกิจหรือปัจจัยภายในของบริษัทเอง  เมื่อมีความเข้าใจสาเหตุแล้ว คุณจะพิจารณาต่อว่า ปัจจัยพื้นฐานต่างๆเหล่านั้น ยังสามารถสนับสนุนให้ถือลงทุนต่อไปได้หรือไม่ได้แล้ว


-    ข้อที่สาม ทบทวนแนวทางการลงทุนของตนเอง คุณมีความตั้งใจลงทุนแบบระยะยาว หรือระยะสั้น ตัวอย่างคุณตั้งใจลงทุนระยะยาว ซึ่งหลังจากที่คุณรู้สาเหตุของราคาที่ร่วงลงมาแล้ว ก็ต้องดูว่าหุ้นหรือสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ ยังสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับแผนระยะเวลาลงทุนหรือไม่ เช่น ตอนแรกที่ซื้อหุ้นตั้งใจลงทุนระยะยาว 


แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงกระทบต่อปัจจัยพื้นฐาน และคุณประเมินความเสี่ยงแล้วมีความไม่มั่นใจหรือไม่แน่ใจ ไม่สบายใจจะลงทุนต่อ ผมแนะนำอย่าฝืนลงทุนครับ เมื่อมีโอกาสจังหวะก็ขายไปเถอะครับ กำไรน้อยหรือขาดทุนบ้าง ก็ถอยออกมากำเงินสดไว้ก่อนดีกว่า เพราะยังมีโอกาสเลือกลงทุนในสินทรัพย์หรือหุ้นที่ดีกว่านี้ 


เพราะฉะนั้น คุณต้องรู้ตัวเองว่า ลงทุนแบบไหนแล้วสบายใจ ได้ผลตอบแทนน้อยหรือได้สม่ำเสมอ ก็ถือว่าดีแล้ว เพราะสอดรับกับระดับความเสี่ยงที่คุณยอมรับได้ ขอย้ำ เลือกที่สบายใจที่สุดครับ


ส่วนการลงทุนระยะสั้น คุณจะมีโอกาสพบเจอกับความผันผวนของราคาหุ้น แต่หากคุณลงทุนระยะยาว โอกาสได้กำไรจากการลงทุนจะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ยิ่งลงทุนในระยะเวลาที่นานขึ้นเท่าไร จะช่วยลดความผันผวนในตลาดหุ้นมากเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพสินทรัพย์ที่ลงทุนด้วยเช่นกัน


ข้อสุดท้าย ยึดหลักการลงทุน ‘กำไรขาย ของถูกซื้อ’ ซึ่งถ้าเห็นหุ้นตัวไหนได้กำไรพอแล้วก็ขายได้เงินสดแล้วคุณยังสามารถนำไปซื้อหุ้นที่ถูก มาถือใหม่ หรือกรณีหุ้นกำลังจะขาดทุนลงเรื่อยๆ เพราะปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไปแล้ว คุณก็ต้องตัดใจขาย เพื่อนำเงินสดที่เหลือขึ้นมาก่อน แล้วค่อยดูการลงทุนตัวใหม่ต่อไป


แต่หากเห็นว่าหุ้นที่ถืออยู่ ยังเป็นหุ้นดีมีคุณภาพ กิจการเติบโตในอนาคต คุณสามารถซื้อเพิ่มถัวเฉลี่ย ก็จะทำให้ต้นทุนหุ้นตัวนั้นต่ำลง พอร์ตก็จะมีภาพรวมที่ดีขึ้นได้ และเมื่อตลาดหุ้นฟื้นกลับมา หุ้นตัวนี้ก็จะมีราคาขึ้นได้เร็ว

 

@ลงทุนแบบครั้งเดียวกับลงทุน DCA แบบไหนดีกว่ากัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด คือ ‘อย่าลงทุนเป็นแบบพนัน’ หรือ ‘All in จนหมดหน้าตัก’ นะครับ เพราะนั่นคือคุณกำลังวิ่งเข้าหาความเสี่ยงเต็มๆ

 

ผมยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ดูครับ หากคุณเริ่มลงทุนในปีที่โชคร้ายที่สุดอย่างในปี 2543 ดัชนี NASDAQ ฟองสบู่แตก ดัชนีที่เคยขึ้นไปจุดพีกสุดและปรับลดลงมา 70-80% ใน 2-3 ปีหลังจากนั้น คนหมดเนื้อหมดตัว

 

โจทย์ คือ มีเงินลงทุน 10,000 บาท กับลงทุนแบบ DCA เดือนละ 10,000 บาท ในดัชนี NASDAQ ตั้งแต่ปี 2543-2553 ถือยาว 10 ปี พบว่า หากคุณลงทุนครั้งเดียวจะสร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ย -3.56% ต่อปี แต่หากลงทุนแบบ DCA ไปเรื่อยๆ 10 ปี พอร์ตของคุณจะสร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ย +4.57% ต่อปี 

 

เมื่อยืดเวลาการลงทุนเป็น 15 ปี ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2558 หากลงทุนแบบซื้อครั้งเดียว ผลตอบแทนทบต้นจะกลับมาทำกำไร +1.52% ต่อปี แต่ถ้าคุณจิตใจไม่หวั่นไหว เลือกลงทุน DCA ต่อไปอีกทุกเดือน เป็นเวลา 15 ปี ผลตอบแทนทบต้นของคุณ +8.84% ต่อปี    (DCA เป็นการลงทุนโดยถัวเฉลี่ยต้นทุนโดยลงทุนด้วยจำนวนเงินที่เท่าๆกัน ในระยะเวลาหนึ่งอย่างต่อเนื่อง) 

 

หากคุณสามารถลงทุนอย่างมีวินัยได้ถึง 22 ปี มาจนถึงปี 2564 ในกรณีที่คุณลงทุนครั้งเดียว คุณจะได้ผลตอบแทนทบต้น +6.49% ต่อปี แต่ถ้าลงทุนแบบ DCA คุณจะได้ผลตอบแทนทบต้น +13.41% ต่อปี ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากการลงทุนระยะยาว 15 ปี โดยไม่ต้องพึ่งดวง ‘ขอแค่ให้คุณมีวินัย’ ในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ 

 

นี่คือความมหัศจรรย์ของ DCA หลายๆ ครั้งที่ช่วงเวลาที่หุ้นตก แนะนำให้ DCA เป็นหลักการที่ถูกต้อง เพราะไม่มีใครสามา รถจับจังหวะตลาดหุ้นได้ถูกต้องตลอดเวลา คนที่จับจังหวะตลาดหุ้นได้แม่นยำ จะต้องเป็นนักลงทุนที่มีประสบการณ์มากๆ ผ่านการลองผิดลองถูกมาเยอะ สร้างพอร์ตได้ด้วยตัวเอง

 

แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้มีเวลา หรือประสบการณ์ด้านการลงทุนมากพอ การลงทุนในทรัพย์สินที่ถูกต้อง หลักการที่ถูกต้อง เพื่อสร้างมูลค่าระยะยาว ผมแนะนำให้ใช้การลงทุนแบบ DCA อย่างมีวินัยและเป็นระยะเวลานานพอ จะสร้างผลตอบ แทนที่ดีมากๆ มีโอกาสมากกว่า 90% โดยไม่จำเป็นต้องซื้อขายสินทรัพย์บ่อยๆ

 

หลายคนที่เพิ่งลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี แล้วตลาดหุ้นตกลงมา -20% หรือเริ่มตกมาจากที่คุณเคยลงทุนไปนั้น หากคุณยึดในหลักการลงทุน DCA ถัวเฉลี่ยต้นทุน เพราะคุณควบคุมจังหวะตลาดหุ้นไม่ได้อยู่แล้ว แต่การมีวินัยจะช่วยคุณได้ คุณจะไม่ใช่บุคคลที่โชคร้าย

 

แต่ในระยะยาวคุณจะเป็นคนที่สร้างความมั่งคั่งจากตลาดหุ้นได้ดี โดยไม่ต้องพึ่งโชคชะตา และคุณก็ยังสามารถก้าวข้ามผ่านตลาดหมีป่วย สร้างพอร์ตให้เติบโตแข็งแกร่งด้วย  ผมขอให้ทุกคนมองมุมบวกว่า การลงทุนจะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการต่อยอดเงินให้งอกเงยขึ้น และทำให้ชีวิตทางการเงินของคุณดีขึ้นไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่มั่นคงขึ้นได้เร็วครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านครับ

  

ที่มา  บลจ.จิตตะเวลธ์ , https://jitta.co/3No4gF3

 ภาพประกอบ บลจ.จิตตะเวลธ์ 

 



ข่าวที่เกี่ยวข้อง