รีเซต

5 ข้อดีของ รถยนต์ไฟฟ้า ทำไมจึงควรเปลี่ยนมาใช้?

5 ข้อดีของ รถยนต์ไฟฟ้า ทำไมจึงควรเปลี่ยนมาใช้?
TNN ช่อง16
10 พฤศจิกายน 2563 ( 10:18 )
6.2K

        ในการประชุมบอร์ด BOI ครั้งล่าสุด ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการส่งเสริมการลงทุนการผลิตรถไฟฟ้าหรือ รถ EV รอบใหม่  แต่ครั้งนี้บีโอไอได้ปรับปรุงเงื่อนไขครอบคลุมการส่งเสริม EV ทุกประเภท ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถสามล้อ รถโดยสารและรถบรรทุก รวมถึงเรือที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อื่นๆ รวมทั้งยังปรับปรุงขอบข่ายและสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับ EV เพิ่มเติมอีกหลายรายการ  เพื่อเป็นการสนับสนุนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น 

ทำความรู้จักรถยนต์ไฟฟ้า 

        ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก รถยนต์ไฟฟ้า กันก่อน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคย และอาจจะยังชินกับการใช้รถพลังงานน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติอยู่  แต่ด้วยปัญหามลภาวะที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโลกร้อนที่เป็นวาระระดับโลกและปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ที่บั่นทอนสุขภาพของประชาชน ซึ่งหนึ่งในตัวการหลักที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศก็คือควันจากท่อไปเสียรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงนั่นเอง ดังนั้นหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น 

       โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าคันแรกของโลกเกิดขึ้นประมาณปี 1900 แต่เพิ่งเริ่มได้รับความสนใจและพัฒนาอย่างจริงจังในช่วงศตวรรษที่ 21 หรือในยุคปัจจุบันนี่เอง เพราะทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับการลดภาวะโลกร้อนมากขึ้น รถยนต์พลังงานไฟฟ้าคือรถยนต์ที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า 100% ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Electric Vehicle หรือเรียกสั้นๆ ว่า EV เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์โดยใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเก็บอยู่ในแบตเตอรี่หรืออุปกรณ์เก็บพลังงานไฟฟ้าแบบอื่นๆ และด้วยข้อดีของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้แรงบิดได้ทันทีทำให้รถชนิดนี้มีอัตราเร่งที่เรียบและเร็ว และเหนือกว่าเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันรวมถึงการลดมลภาวะทางอากาศเพราะไม่ปล่อยควันพิษมาจากท่อไอเสีย



ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้า 

        ในแง่ของประชาชนที่จะเป็นผู้ซื้อยานพาหนะไฟฟ้า จะได้รับประโยชน์อะไรบ้างหากต้องเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือยานพาหนะไฟฟ้าอื่นๆที่รัฐต้องการส่งเสริมนี้  นอกเหนือจากเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีข้อดีอื่นๆ อีกดังนี้อีกได้แก่ 

        1. ความเงียบและอัตราเร่งที่ได้ดั่งใจ

        เจ้ารถยนต์ไฟฟ้านี้ แน่นอนว่าต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่สู่มอเตอร์เพื่อทำการขับเคลื่อน โดยที่ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ปกติที่เราเคยใช้กัน ภายในจึงไม่ก่อให้เกิดการเผาไหม้ ทำให้เสียงของการทำงานของรถยนต์ไฟฟ้านั้นเงียบกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงหลายเท่า  และสามารถทำให้มีอัตราเร่งเป็นไปตามที่เราต้องการ เพราะไม่มีขั้นตอนการทดเกียร์อีกต่อไป จึงทำให้สามารถตอบสนองในการขับขี่ได้ตามความต้องการของผู้ขับ เรียกง่ายๆก็คือ ใช้งานได้เหมือนเครื่องยนต์แบบเก่าแม้จะเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้านั่นแหละ 

         2. ประหยัดค่าใช้จ่ายและค่าซ่อมบำรุง

        รถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยคุณประหยัดเงินค่าน้ำมันและค่าซ่อมบำรุง เพราะใช้พลังงานไฟฟ้ามาแทนที่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาสูง เช่นเดียวกันกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาน้อยกว่า เพราะไม่มีเครื่องยนต์ และไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง  จึงทำให้การดูแลรักษาเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาในการนำรถยนต์ไปเข้าศูนย์บำรุงรักษาบ่อยๆ



         3. ไม่ต้องเสียเวลาไปปั๊มน้ำมัน เพราะสามารถชาร์จแบตได้ที่บ้านหรือจุดที่มีสถานีชาร์จไฟ 

        ปัจจุบันมีหลายหน่วยงาน ที่ให้ความสำคัญกับการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จึงได้เห็นสถานีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอยู่หลายจุดทั่วกรุงเทพฯและปริมณฑล  เพราะฉะนั้นจึงหมดปัญหาการต่อคิวเพื่อเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงที่ปั๊มประกาศลดราคาน้ำมัน ขณะเดียวกันรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถชาร์จแบตได้ที่บ้าน ซึ่งสามารถชาร์จได้ระหว่างที่นอนหลับ เมื่อตื่นเช้ามารถก็จะอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานอีกด้วย

        4. ประหยัดเงินค่าน้ำมัน

          แน่นอนว่า เป็นรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า สามารถชาร์จไฟได้เองที่บ้าน หรือสถานีชาร์จไฟ ซึ่งช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิง แถมยังไม่ต้องกังวลหาก ราคาน้ำมันหรือก๊าซจะผันผวน ถูกแพงตามแต่ช่วงของราคาน้ำมันที่ต้องนำเข้ามา 

        5. อาจมีมาตรการลดหย่อนภาษีจากรัฐ 

         เมื่อเป็นนโยบายที่รัฐบาลส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ในด้านของประชาชนที่เป็นผู้ซื้อ ในอนาคตหากรัฐต้องการจะส่งเสริมจริงจังก็อาจจะมีมาตรการด้านภาษีเข้ามาช่วยจูงใจประชาชนก็เป็นได้ 

ใช้เวลาแค่ไหนในการชาร์จไฟ 1 ครั้ง

        แบบที่ 1 การชาร์ตรถพลังงานไฟฟ้าแบบเร็ว QUICK CHARGER ด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC Charging) สามารถชาร์จแบตเตอรี่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า จาก 0% - 80% ได้ในเวลาประมาณ 40-60 นาที เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วน 

        แบบที่ 2 การชาร์จฯ แบบธรรมดา แบบ DOUBLE SPEED CHARGE (เครื่องชาร์จ WALL BOX) โดยชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Charging) เช่น ตู้ชาร์จติดผนังติดตั้งที่บ้านหรือตามห้างสรรพสินค้า ระยะเวลาการชาร์จจะลดลง อยู่ที่ประมาณ 4-7 ชั่วโมง โดยการชาร์จด้วยตู้ชาร์จติดผนังสามารถชาร์จได้รวดเร็วกว่าการต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง


         และการชาร์จฯ แบบธรรมดา NORMAL CHARGE ซึ่งจะชาร์จไฟจากการต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง มิเตอร์ไฟของบ้านต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15(45)A และเต้ารับไฟในบ้านต้องได้รับการติดตั้งใหม่ เป็นเต้ารับเฉพาะการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าไม่สามารถใช้เต้ารับแบบธรรมดาได้ การชาร์จในลักษณะนี้มักจะเป็นการชาร์จแบบไฟฟ้ากระแสสลับ จึงใช้ระยะเวลาในการชาร์จประมาณ 12-15 ชั่วโมง

            หลังจากนี้เชื่อว่าการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะหลังจากที่รัฐบาลส่งเสริมเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งสถานีบริการพลังงานไฟฟ้าของผู้ให้บริการต่าง ๆ ก็มีแผนจะทำจุดชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย  เพื่อให้ผู้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้ารู้สึกสะดวกสบายมากขึ้น 

ราคารถยนต์ไฟฟ้าทำไมถึงยังสูงอยู่? 

        หลายคนอาจจะทราบว่าตอนนี้ในไทยมีรถพลังงานไฟฟ้า จำหน่ายแล้วหลายรุ่น หลายค่าย ( ข้อมูล ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ) เช่น  MG ZS EV รถ SUV จากค่ายเอ็มจี ราคาอยู่ที่ 1.19 ล้านบาท , Nissan Leaf จากค่ายนิสสัน  ซึ่งเป็นรถนำเข้าทั้งคันจากญี่ปุ่น ราคา 1.99 ล้านบาท,  Audi e-tron จากค่ายอาวดี้ ราคาประมาณ 5 ล้านบาท, Hyundai Ioniq Electric จากค่ายฮุนได นำเข้าทั้งคัน ราคา 1.75 บาท, Kia Soul EV รถสไตล์ครอสโอเวอร์ทรงกล่อง 5 ที่นั่ง  ราคา 2.3 ล้านบาท และแบรนด์รถสปอร์ตสุดหรูอย่าง Porsche Taycan ราคา  6.99 ล้านบาท เป็นต้น ซึ่งแต่ละคันก็ราคาสูงเอาเรื่องเลยทีเดียว นั่นก็เป็นเพราะส่วนใหญ่แล้วจะเป็นรถที่นำเข้าจึงมีการบวกอัตราภาษีเพิ่มขึ้นไปอีก   

         วิธีคิดภาษีรถยนต์นำเข้า

1. ราคา CIF : cost insuranced freight discharging port (ราคาสินค้า + ค่าขนส่ง +ค่าประกันภัย ) 

2. ภาษีอากรขาเข้า 80% ของ ราคา CIF 

3. ภาษีสรรพสามิตร = ( C.I.F. + อากรขาเข้า + ภาษีค่าธรรมเนียมอื่นไม่รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม ) x อัตราภาษี / 1 - ( 1.1 x อัตราภาษี ) 

* อัตราภาษี 2500 cc-3000cc = 40% , >3000cc = 50% 

4. ภาษีกระทรวงมหาดไท = 10% ของภาษีสรรพสามิตร 

5. VAT 7% ของ ราคา CIF + ภาษีอากรขาเข้า + ภาษีสรรพสามิตร + ภาษีกระทรวงมหาดไท 

* รถเก่า ก็จะมี % ลดหย่อนลงไป โดยหักจากราคาขายตอนเป็นรถใหม่ ( > 10 ปีประเมินตามสภาพ, 9ปี10เดือน - 10 ปี ลด 70%) 

แต่รถเก่า จะนำเข้ามาได้ต้องเป็นเจ้าของมาก่อน 1 ปี 6 เดือน  หากใครอยากซื้อรถนำเข้าก็ลองเอาไปคำนวณกันคร่าวดูได้เลย 

        หลายคนก็คงจะหวังว่าในอนาคตหลังจากที่รัฐส่งเสริมรถประเภทนี้อย่างจริงจัง จะทำให้ราคาลดลงมาให้สามารถจับต้องได้มากขึ้น นโยบายสนับสนุนทั้งลดโลกร้อน หรือลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 ก็อาจจะเห็นผลได้เร็วขึ้นด้วยเช่นกัน 


ที่มา:www.scb.co.th/,บีโอไอ ,www.thaigov.go.th

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง