รีเซต

เจาะ! ประสิทธิภาพวัคซีนสูตรผสมใหม่ เข็มแรก "ซิโนแวค" เข็มต่อไป "แอสตร้าเซนเนก้า"

เจาะ! ประสิทธิภาพวัคซีนสูตรผสมใหม่ เข็มแรก "ซิโนแวค" เข็มต่อไป "แอสตร้าเซนเนก้า"
Ingonn
13 กรกฎาคม 2564 ( 13:02 )
508

 

ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวต่อไปไฟไหม้สบงก็คงสู้ เข็มแรกฉีดซิโนแวค เข็มสองฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไม่ได้ เมื่อมติจากประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน

 

 

จากการฉีดวัคซีนข้ามชนิดนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น ยังมีอีกหลายประเทศเริ่มใช้แนวทางนี้ เพื่อป้องกันสายพันธุ์โควิด-19 ที่กำลังระบาด และเพื่อกระจายวัคซีนให้ประชาชนมากขึ้น ระหว่างกำลังขาดวัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่ง วันนี้ TrueID จึงจะพาไปเจาะลึกประสิทธิภาพการฉีดสองเข็มต่างชนิดกัน

 

 

 

แนวทางการฉีดวัคซีนสลับชนิดของไทย


หากเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค เข็มที่ 2 ให้เป็นวัคซีนแอสตราเซเนกา โดยให้ห่างจากเข็มแรก 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา โดยจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น ใกล้เคียงกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม แต่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า 

 

 

ในกรณีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตราเซเนกา ให้รับเข็ม 2 เป็นแอสตราเซเนกาเช่นเดียวกัน โดยมีระยะห่างระหว่างเข็ม 12 สัปดาห์

 

 

ทั้งนี้ หลังจากมีการประกาศแล้วจะได้มีการจัดเตรียมวัคซีนให้เหมาะสม และมีการนำไปใช้ตามความจำเป็นที่เหมาะสมต่อไป

 

 

 


ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การสลับชนิดของวัคซีน ทีมศูนย์วิจัยได้ทำมาโดยตลอดและเห็นว่า การให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัส Vector จะกระตุ้นได้ดีมาก การให้วัคซีนเชื้อตายที่เป็นทั้งตัวไวรัส เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทาน เมื่อกระตุ้นด้วยต่างชนิดโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์

 

 

การศึกษานี้เราไม่ได้ทำเฉพาะการตรวจวัดภูมิต้านทานเท่านั้น เรายังได้ทำภาวะขัดขวางไวรัส inhibition test ที่สามารถขัดขวางได้ดีมาก เฉลี่ยถึง 95% และมีหลายรายถึง 99%

 

 

ในทำนองเดียวกันการให้เชื้อตาย 2 เข็ม ยิ่งสอนให้ร่างกายเหมือนกันติดเชื้อจริงแบบเต็มๆ หรือแบบรุนแรง แล้วเมื่อมากระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัส Vector  จึงมี Booster effect  ที่สูงมาก

 

 

การศึกษาวิจัยของเราไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรากำลังทำการศึกษากับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ delta และระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่เรียกว่า T cell หรือ CMIR 

 

 

“แน่นอนการศึกษานี้ ฝรั่งไม่ทันแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตาย และจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้”

 

 


ข้อดีของการฉีดวัคซีนสลับชนิด


1.ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานที่สูงภายในเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเร็วกว่าการให้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทยที่จะได้ภูมิต้านทานสูง ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ เหมาะสมกับการที่โรคกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ซึ่งเรารอไม่ได้

 


2.เป็นการปรับใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ขณะนี้ที่จำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด

 


3.การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย virus Vector สามารถทำได้ และเกิดภูมิต้านทานที่สูงมาก โดยไม่ต้องรอวัคซีนชนิดอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคลากรทางการแพทย์

 

 

ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกในบันทึกใน “หมอพร้อม” มีมากกว่า 1,200 ราย โดยที่ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด

 

 


WHO ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนผสม ส่อเกิด Dangerous Trend


โซมญา สวามินาธาน หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ WHO แนะนำว่า ไม่ควรมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผสมสูตรจากผลิตต่างบริษัทให้กับประชาชน เนื่องจากจะเป็นการก่อ “เทรนด์อันตราย” (dangerous trend) เพราะยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพในการดำเนินการดังกล่าว และสถานการณ์ในบางประเทศอาจจะมีความวุ่นวายมากขึ้น หากประชาชนมีโอกาสที่จะเลือกว่าจะฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 ได้เมื่อไหร่ และจะใช้วัคซีนของผู้ผลิตรายใด มันต้องอาศัยหลักฐานและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่บริษัทเอกชนจะประกาศได้เองว่า จำเป็นต้องฉีดวัคซีนของพวกเขาเป็นเข็มกระตุ้นได้

 

 


ประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิดต่างชนิดทั่วโลก


จากการขาดแคลนวัคซีนโควิด และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ เป็นสาเหตุหลักที่หลายประเทศ หันมาทดลองวิธีการฉีดวัคซีนแบบต่างยี่ห้อกัน 2 เข็ม หรือฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อเป็นเข็มที่ 3 แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่ออกมายืนยันถึงประสิทธิภาพของวิธีการนี้อย่างชัดเจน

 

 

1.บาห์เรน


บาห์เรนประกาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้บุคคลที่ผ่านการรับรองจากแพทย์ สามารถรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นจากบริษัท ไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค และซิโนฟาร์มได้ โดยไม่ต้องสนใจว่า ก่อนหน้านั้น จะเคยฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อใดมา

 


2.แคนาดา


คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดา (NACI) ประกาศเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา แนะนำรัฐต่าง ๆ  ของแคนาดาว่า สามารถเปลี่ยนวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นยี่ห้ออื่น ให้กับบุคคลที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก ถ้าหากผู้รับวัคซีนต้องการ

 


3.อิตาลี


องค์การอาหารและยา อิตาลี (AIFA) อนุญาตให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งฉีดวัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก สามารถเลือกรับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นยี่ห้ออื่นได้

 


4.รัสเซีย


กองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงแห่งรัสเซีย (RDIF) เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า จะเริ่มดำเนินการทดลองการฉีดวัคซีนโควิดสลับยี่ห้อ ระหว่างสปุตนิก-วี กับวัคซีนหลายยี่ห้อจากประเทศจีน ในกลุ่มชาติอาหรับ โดยเบื้องต้นไม่พบว่า การฉีดแอสตร้าเซนเนก้า แล้วตามด้วยสปุตนิก-วี จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางลบ

 


5.เกาหลีใต้


เกาหลีใต้ประกาศว่า บุคคลที่ฉีดวัคซีนโควิด ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มแรก จำนวน 760,000 คน จะได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ในเข็มที่ 2 เพราะโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) จัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาล่าช้ากว่ากำหนด

 


6.สเปน


นางคาโรลินา เดไรเอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะอนุญาตให้บุคคลอายุต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งฉีดวัคซีนโควิด ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มแรก สามารถเลือกรับวัคซีนเข็มที่ 2 จากยี่ห้อเดิม หรือเปลี่ยนยี่ห้อเป็นไฟเซอร์/ไบโอเอนเทคก็ได้

 


7.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)


ยูเออี ประกาศจะใช้วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ในการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในบุคคลที่ได้รับวัคซีนจากซิโนฟาร์มของจีนครบ 2 เข็มแล้ว

 


8.อังกฤษ


บริษัท โนวาแว็กซ์ ผู้พัฒนาวัคซีนโปรตีน ซับ-ยูนิต ตัวใหม่จากสหรัฐอเมริกา ประกาศเข้าร่วมโครงการศึกษาการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ (Com-Cov) ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะที่ผลศึกษาล่าสุด พบว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปไฟเซอร์นั้นได้ผลดีกว่าการฉีดแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม

 


9.สหรัฐอเมริกา


สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) ประกาศเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ประกาศเริ่มโครงการทดลองตรวจวัดความปลอดภัย และประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันในบุคคลที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันสลับยี่ห้อจากหลากหลายผู้พัฒนาทั่วโลก

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก กระทรวงสาธารณสุข , เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan , TNN , thebangkokinsight

 

 

 

-------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง