รีเซต

'หมอยง' เผยความมุ่งมั่นวิจัยฉีดวัคซีนไขว้ชนิด เชื่อการศึกษานี้ฝรั่ง-จีนตามไม่ทัน พ้อหลายครั้งท้อใจให้ความรู้

'หมอยง' เผยความมุ่งมั่นวิจัยฉีดวัคซีนไขว้ชนิด เชื่อการศึกษานี้ฝรั่ง-จีนตามไม่ทัน พ้อหลายครั้งท้อใจให้ความรู้
มติชน
13 กรกฎาคม 2564 ( 07:35 )
67

จากกรณี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ผ่านการไลฟ์สดทางเฟซบุ๊ก วานนี้ (12 กรกฎาคม) โดยที่ประชุม เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิด-19 สลับชนิด เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลต้า โดยโรงพยาบาลต่างๆ สามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสียสละดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง

 

 

ล่าสุด วันนี้ (13 กรกฎาคม) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึง โควิด-19 วัคซีน การศึกษาวิจัยนำไปสู่การปฏิบัติจริง การสลับชนิดของวัคซีน ว่า ทางศูนย์ได้มุ่งมั่นทำการศึกษาวิจัย โดยทีมนักวิทยาศาสตร์และคณะแพทย์มากกว่า 30 ชีวิตที่ทำอยู่ขณะนี้ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่อง Covid-19 Vaccine ที่มีโครงการทำอยู่มากกว่า 5 โครงการ เพื่อนำมาใช้อย่างเร่งด่วนในประเทศไทยให้เหมาะสมกับทรัพยากรที่มีอยู่ การสลับชนิดของวัคซีน เราทำมาโดยตลอด และเห็นว่าการให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัส Vector จะกระตุ้นได้ดีมาก

 

 

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า การให้วัคซีนเชื้อตายที่เป็นทั้งตัวไวรัส เปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายเราเคยติดเชื้อ และมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาระดับหนึ่ง หรือสร้างความคุ้นเคยกับระบบภูมิต้านทาน เมื่อกระตุ้นด้วยต่างชนิดโดยเฉพาะไวรัสเวกเตอร์ จึงเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Booster Effect เหมือนกับคนที่หายแล้วจากโรคโควิด-19 และได้รับวัคซีนเสริมอีก 1 ครั้ง ก็จะมีการกระตุ้นภูมิต้านทานขึ้นได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเราก็ได้ทำการทดลองแล้ว

 

 

“การศึกษานี้เราไม่ได้ทำเฉพาะการตรวจวัดภูมิต้านทานเท่านั้น เรายังได้ทำภาวะขัดขวางไวรัส Inhibition Test ที่สามารถขัดขวางได้ดีมาก เฉลี่ยถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และมีหลายรายถึง 99 เปอร์เซ็นต์ ในทำนองเดียวกันการให้เชื้อตาย 2 เข็ม ยิ่งสอนให้ร่างกายเหมือนกันติดเชื้อจริงแบบเต็มๆ หรือแบบรุนแรง แล้วเมื่อมากระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัส Vector จึงมี Booster Effect ที่สูงมาก

 

 

“การศึกษาวิจัยของเราไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ เรากำลังทำการศึกษากับสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ Delta และระบบภูมิคุ้มกันชนิดที่เรียกว่า T cell หรือ CMIR

 

 

“แน่นอนการศึกษานี้ ฝรั่งไม่ทันแน่นอน เพราะฝรั่งไม่ได้ใช้วัคซีนเชื้อตาย และจีนก็ไม่ได้ใช้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์อย่างกว้างขวางในขณะนี้ ข้อมูลขณะนี้ผมมีเป็นจำนวนมาก มากพอที่จะสรุป เพราะทุกท่านให้ความร่วมมือดีมาก รวมทั้งอาสาสมัครที่อยู่ในการศึกษา เป็นจำนวนมาก ผมต้องขอขอบคุณอย่างยิ่ง” ศ.นพ.ยงกล่าว

 

 

ศ.นพ.ยงกล่าวว่า ข้อดีที่ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขยอมรับ และนำมาปรับใช้ในเชิงนโยบายจากการศึกษานี้ 1.ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้ภูมิต้านทานที่สูงภายในเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเร็วกว่าการให้วัคซีนไวรัสเวกเตอร์ในประเทศไทยที่จะได้ภูมิต้านทานสูง ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ เหมาะสมกับการที่โรคกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ซึ่งเรารอไม่ได้ 2.เป็นการปรับใช้ทรัพยากรที่เรามีอยู่ขณะนี้ที่จำกัดให้ได้ประโยชน์สูงสุด 3.การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Virus Vector สามารถทำได้ให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงมาก โดยไม่ต้องรอวัคซีนชนิดอื่น เพื่อประโยชน์ของบุคลากรทางการแพทย์

 

 

ศ.นพ.ยงกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่ได้ขณะนี้มีเป็นจำนวนมากพอ โดยเฉพาะการฉีดสลับเข็ม ข้อมูลที่ถูกในบันทึกในหมอพร้อมมีมากกว่า 1, 200 ราย โดยที่ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด

 

 

“ผมเองท้อใจหลายครั้งที่ไม่อยากจะมาโพสต์ให้ความรู้ และมีการหยุดเป็นครั้งคราว แต่ก็มีผู้ทักท้วงมาเป็นจำนวนมากว่าถ้าหยุดก็จะเข้าทางของผู้ไม่หวังดี ผมเองมุ่งทำการศึกษาวิจัยมาเกือบ 40 ปี เพื่อให้ความรู้กับชาวโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย เพราะเผยแพร่ในวารสารนานาชาติมาตลอด

 

 

“สังคมไทยในภาวะวิกฤตแบบนี้ แทนที่จะร่วมมือกัน สามัคคี แต่กลับเป็นพยายามที่จะพูดจาถากถาง ดึงเข้าสู่การเมือง ในบางครั้งมีการกล่าวหาที่เลื่อนลอย และไม่เป็นความจริง

 

 

“มีหลายคนเสนอให้กฎหมายเข้ามาจัดการ ผมเองไม่เคยไปสนใจอ่านเลยไม่เดือดร้อน แต่ที่เดือดร้อนมากกลับเป็นลูกศิษย์ที่ยังเคารพอาจารย์ ส่วนลูกศิษย์ที่ไม่เคารพก็ไม่เป็นไรผมไม่เคยถือ และขณะนี้ก็ได้มีการจับแล้ว 1 คน และจะคงมีรายต่อๆ ไป โดยที่ผมจะยุ่งเกี่ยวให้น้อยที่สุด ขอให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมือง เพราะบ้านเมืองมีกฎหมายที่ทุกคนต้องเคารพ และจริยธรรม ที่ต้องให้เกียรติกันและกัน” ศ.นพ.ยงกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง