รีเซต

สธ. แถลงสถานการณ์ โรคแอนแทรกซ์ โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ พร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

สธ. แถลงสถานการณ์ โรคแอนแทรกซ์ โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ พร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
TNN ช่อง16
14 พฤษภาคม 2568 ( 17:49 )
17

วันนี้ (14 พฤษภาคม 2568) แพทย์หญิงจุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย แพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย นายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ แถลงข่าวสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ พร้อมแนะวิธีดูแลตนเองให้ปลอดภัย

โรคแอนแทรกซ์ ปี พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วยยืนยัน 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งผู้ป่วยยืนยันทั้ง 4 ราย เป็นผู้ป่วยจากเหตุการณ์การระบาดเป็นกลุ่มก้อนโรคแอนแทรกซ์ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบเชื้อ Bacillus anthracis ในผู้ป่วยสงสัย 16 ราย และอยู่ระหว่างการรอผลทางห้องปฏิบัติการ 1 ราย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยอีก จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด อาการของผู้ที่ติดเชื้อ คือ 95 - 99% ของผู้ป่วยมักเป็นที่มือ แขน คอ หรือขา เริ่มจากเป็นตุ่มแข็ง เปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส และแตกเป็นแผลหลุมดำคล้ายบุหรี่จี้ อัตราป่วยตาย 5 - 20% หรืออาจมาด้วยอาการทางระบบทางเดินอาหาร กรณีรุนแรงสุด แต่พบไม่บ่อย อาการในช่วงแรกจะคล้ายกับผู้ป่วยทางเดินหายใจตอนบน จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้ จากระบบหายใจล้มเหลว อัตราป่วยตาย 80 - 90% อาการของสัตว์ที่เชื้อ คือ มีไข้สูง ไม่กินหญ้า น้ำลายปนเลือด หายใจลำบาก ยืนโซเซ กล้ามเนื้อกระตุก ชัก เสียชีวิตกระทันหัน มีเลือดไหลออกจากปาก จมูก และรูทวาร อวัยวะเพศ เลือดมีลักษณะเป็นสีดำๆ ไม่แข็งตัว กลิ่นเหม็นคาวจัด ซากสัตว์จะนิ่ม และเน่าอืดเร็ว แนะประชาชน

 1. ห้ามนำสัตว์ป่วยตายหรือสัตว์ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา มาชำแหละ ขาย หรือรับประทาน 

2. สวมอุปกรณ์ป้องกันก่อนสัมผัสสัตว์ และชำระล้างร่างกายทุกครั้งหลังสัมผัสสัตว์ 

3. รับประทานอาหารที่ผ่านการปรุงสุกเท่านั้น ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ 

4. เฝ้าระวังสัตว์ป่วยตายในพื้นที่ เมื่อพบสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคให้แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง เมื่อพบสัตว์ป่วยตายให้รีบแจ้งปศุสัตว์อำเภอ เพื่อทำการตรวจสอบหาสาเหตุ และดำเนินการควบคุมโรค

 5. ห้ามเคลื่อนย้าย ผ่าซาก ชำแหละเนื้อหรือหนังสัตว์ที่ตาย

โรคโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วย 71,067 ราย ผู้เสียชีวิต 19 ราย แนวโน้มผู้ป่วยสูงขึ้น พบการระบาดแบบกลุ่มก้อน จำนวน 2 เหตุการณ์ ทั้งนี้ หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ (สัปดาห์ที่ 16) พบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าในปีนี้ ระหว่างเดือน มกราคม - กุมภาพันธ์ ประเทศไทยพบการระบาดของสายพันธุ์ XEC เพิ่มขึ้น 

 โรคไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 พบผู้ป่วยสะสม 328,103 ราย (อัตราป่วย 500.40 ต่อประชากรแสนคน) เสียชีวิต 33 ราย แนวโน้มผู้ป่วยลดลง แต่ยังสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง พบอัตราป่วยสูงสุดในกลุ่มอายุ 5 - 9 ปี และกลุ่มเด็กเล็ก 0 - 4 ปี ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในเรือนจำเพิ่มขึ้น สายพันธุ์ที่ตรวจพบมากที่สุด เป็น A/H1N1 (pmd09) 42.02% รองลงมาคือ B (Victoria) (32.67%) และ A/H3N2 (25.21%) ตามลำดับ

 คำแนะนำสำหรับโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบทางเดินหายใจ 

1. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก 

2. ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น 

3. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพลานในช่วงที่มีการระบาด หากเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย 

4. เมื่อมีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ต้องสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยูใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว และไปรับการรักษาจากแพทย์

5. หากพบว่าป่วยเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ควรหยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหายเป็นปกติ นอกจากนี้ แนะนำ 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ 

1. หญิงมีครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (โดยหญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี) 

2. เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี ทุกคน 

3. ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย เป็นต้น 

4. ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 

5. ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 

6. โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 

7. ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือ ดัชนีมวลกาย (BMI > 35) ตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 

ควรเข้ารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ทุก ๆ ปี เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยในช่วงเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม มีบริการฟรีที่โรงพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชนที่ร่วมโครงการกับ สปสช. หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง