สำรวจปะการังเทียม "ตู้รถไฟ-เรือรบ" 10 ปีใต้ทะเล พบปะการังลงเกาะ ปลาอาศัยเพียบ
เฟซบุ๊กกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โพสต์ภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ลงพื้นที่ช่วงระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2567 เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตบริเวณปะการังเทียมตู้รถไฟ ที่ถูกนำลงไปจัดวางไว้เมื่อปี 2558 หรือประมาณ 9 ปีก่อน ในพื้นที่เกาะแหวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง
โดยการสำรวจพบการลงเกาะของปะการังชนิดต่าง ๆ อาทิ ปะการังเขากวาง ปะการังดอกไม้ทะเล ปะการังสมองร่องใหญ่ เป็นต้น ขนาดอยู่ระหว่าง 10-30 เซนติเมตร คิดจำนวนเฉลี่ยประมาณ 90-100 โคโลนีต่อตู้รถไฟ
นอกจากนี้ยังพบปลาในบริเวณปะการังเทียม โดยปลาส่วนใหญ่ที่พบ เช่น ปลากะพงเหลืองตาโต ปลากะพงข้างปาน ปลากล้วยแถบเหลือง ปลากระดี่ทะเลครีบดำ ปลาสลิดหินหางพริ้ว ปลาโนรีครีบยาว ปลาสลิดทะเลจุดเหลือง เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่จะมีการนำข้อมูลจัดทำรายงานผลการสำรวจต่อไป
ขณะเดียวกันมีข้อมูลโดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnswasawat หลังลงพื้นที่สำรวจทะเลที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี และ ทะเล จ.ชุมพร ระบุข้อความ
“เป็นภาพใจฟู” จากเรือรบปลดระวาง 2 ลำ คือ เรือปราบ และ เรือสัตกูด ที่นำเรือลงสู่ใต้ทะเล เมื่อปี 2554 หรือ 10 กว่าปีก่อน หลังเกิดปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ในปี 2553 ภายใต้ชื่อโครงการเรือปราบ/สัตกูด ที่ดำเนินโครงการโดย ปตท.สผ. , ม.เกษตรศาสตร์ , กองทัพเรือ , กรมอุทยานฯ (ปราบ) จังหวัดชุมพร/สุราษฎร์ธานี และหน่วยงานอื่นๆ
เพื่อเป็นจุดดำน้ำทางเลือก ช่วยลดความหนาแน่นของนักดำน้ำในแนวปะการัง “ มาถึงวันนี้ สัตว์ทะเลที่ใช้เรือเป็นบ้าน เติบโตอย่างน่าชื่นใจ เช่น ปะการังดำกอใหญ่หายาก และ ยังเป็นจุดดำน้ำช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่กันไป ภูมิใจมากครับ”
สำหรับการวางปะการังเทียม ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล หรือปะการังเทียม ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ทำหน้าที่คล้าย ๆ กับแนวหินหรือแนวปะการังที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ สามารถดึงดูดสัตว์น้ำนานาชนิดให้เข้ามาอยู่อาศัย หลบภัย และแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวน
วิวัฒนาการของวัสดุที่ใช้สร้างปะการังเทียม มีตั้งแต่วัสดุง่าย ๆ หาได้จากธรรมชาติ เช่น ท่อนไม้ ไม้ไผ่ ทางมะพร้าว เปลือกหอย และก้อนหิน รวมถึงวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ได้แก่ รถยนต์เก่า เรือที่ปลดระวาง ตู้รถไฟ ยางรถยนต์ คอนกรีตจากการก่อสร้าง เศษคอนกรีตจากอาคารที่ถูกทำลาย ถนนและสะพาน ตลอดจนวัสดุคอนกรีตรูปทรงต่าง ๆ ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้
ข้อมูลและภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , เฟซบุ๊ก ผศ.ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ Thon Thamrongnswasawat