โลกร้อนเผา Great Lakes ร้อนจัด ปลาหาย เห็บบุก ทำชีวิตชาวสหรัฐฯ ปั่นป่วน

24 กรกฎาคม 2568 ( 11:00 )
17
รายงานฉบับใหม่จาก Environmental Law and Policy Center ซึ่งเป็นการอัปเดตจากปี 2019 เผยให้เห็นผลกระทบที่ทวีความรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) ต่อภูมิภาค Great Lakes ในสหรัฐอเมริกา โดยเน้นย้ำว่าแม้พื้นที่นี้เคยถูกมองว่า “ปลอดภัยจากโลกร้อน” แต่ขณะนี้กลับกลายเป็นจุดอ่อนไหว
สำหรับ Great Lakes คือกลุ่มทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนือ ประกอบด้วยทะเลสาบ 5 แห่ง คือทะเลสาบสุพีเรียร์ (Lake Superior) ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก, ทะเลสาบมิชิแกน (Lake Michigan), ทะเลสาบฮูรอน (Lake Huron), ทะเลสาบอีรี (Lake Erie) และทะเลสาบออนแทรีโอ (Lake Ontario)
ทะเลสาบเหล่านี้อยู่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรม เป็นแหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเชื่อมโยงกับระบบนิเวศน์และการขนส่งทางน้ำขนาดใหญ่ของทั้งสองประเทศ
โดยประเด็นสำคัญจากรายงานฉบับล่าสุดพบว่า
1. อุณหภูมิเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตั้งแต่ปี 1951 อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีในภูมิภาคมหาทะเลสาบเพิ่มขึ้นเกือบ 1.7°C แม้ว่าทะเลสาบขนาดใหญ่มักจะช่วยรักษาความเย็นให้ภูมิภาคก็ตาม รายงานระบุว่า 6 ปีหลังสุด ภูมิภาคนี้ร้อนขึ้นเร็วกว่าทุกทศวรรษที่ผ่านมา โดยในเขตเมือง เช่น ชิคาโก คาดว่าภายในทศวรรษ 2030 จะมีช่วงเวลาที่อุณหภูมิพุ่งเกิน 35°C นานกว่า 200 ชั่วโมงต่อปี เทียบกับเพียง 30 ชั่วโมงในอดีต
2. ฝนตกหนักและถี่ขึ้น
ตั้งแต่ปี 1951 ปริมาณฝนรายปีเพิ่มขึ้น 15% และจำนวนวันที่ฝนตกหนัก (มากกว่า 50 มม. ต่อวัน) ก็เพิ่มขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบกับช่วงปี 1901–1960
3. น้ำแข็งลด ระดับน้ำผันผวนรุนแรง
ฤดูหนาวเป็นฤดูที่อุณหภูมิพุ่งสูงที่สุด ทำให้น้ำแข็งในทะเลสาบลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2024 ปริมาณน้ำแข็งโดยเฉลี่ยต่ำที่สุดในรอบกว่า 50 ปี และระดับน้ำในทะเลสาบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ในทะเลสาบมิชิแกนและฮูรอนอาจสูงขึ้นราว 44 เซนติเมตร ภายในกลางศตวรรษนี้
4. น้ำในทะเลสาบอุ่นขึ้น
อุณหภูมิผิวน้ำฤดูร้อนในทะเลสาบเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะทะเลสาบซูพีเรียร์ ซึ่งร้อนขึ้นเกือบ 2.8°C ตั้งแต่ปี 1979 จนถึง 2023 ส่วนทะเลสาบอื่น ๆ ก็ทำสถิติร้อนที่สุดในปี 2024 และยังพบว่าอุณหภูมิในชั้นน้ำลึกเพิ่มสูงที่สุดอย่างต่อเนื่อง
5. ปลาใกล้สูญพันธุ์
ประชากรปลาขาว (lake whitefish) กำลังลดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจสูญพันธุ์จากบางพื้นที่ภายใน 5 ปี แม้จะหยุดจับปลา อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นและน้ำแข็งที่ลดลง ทำให้ไข่ปลาขาดการปกป้อง อีกทั้งยังถูกหอยรุกรานเช่น zebra mussels และ quagga mussels กินลูกปลาไปตั้งแต่ยังไม่โตเต็มวัย
6. เห็บขยายอาณาเขต
โลกร้อนส่งผลให้เห็บขยายถิ่นอาศัย โดยเฉพาะ “เห็บขาดำ” ที่เป็นพาหะโรค Lyme และ “เห็บ lone star” ซึ่งอาจทำให้ผู้ติดเชื้อแพ้เนื้อสัตว์ชนิดรุนแรงได้
7. ป่าเก่าแก่ที่ช่วยดูดซับคาร์บอนแต่ถูกคุกคาม
ข้อมูลจากต้นไม้เก่า 9,000 ต้นในวิสคอนซินเผยว่า ต้นไม้เก่าสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าที่เคยคาดการณ์ การตัดต้นไม้เก่าจึงเป็นภัยต่อการควบคุมภาวะโลกร้อน และการรักษาป่าเก่าคือเครื่องมือสำคัญในการดักจับคาร์บอนจากบรรยากาศ
8. ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสุขภาพขยายวงกว้าง
ชุมชนรอบมหาทะเลสาบ โดยเฉพาะชนพื้นเมืองอย่าง Anishinaabeg (กลุ่ม Ojibwe, Ottawa และ Potawatomi) ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ แหล่งน้ำ อาหาร และพืชพรรณที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม เศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น การประมง กีฬา และการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบจากฤดูหนาวที่สั้นลง น้ำแข็งทะเลสาบลดลง ขณะที่โลจิสติกส์ทางน้ำก็แปรปรวนจากระดับน้ำผันผวน
โรคจากแมลง เช่น ยุงและเห็บ เพิ่มความเสี่ยงด้านสาธารณสุขควบคู่กับคลื่นความร้อนและน้ำท่วมบ่อยขึ้น ทำให้โครงสร้างพื้นฐานและระบบขนส่งในภูมิภาคต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
