รีเซต

รวมโรคในสัตว์ ที่ไม่ได้มีแค่ “โรคลัมปี สกิน” เสี่ยงระบาดหนักในหน้าฝน

รวมโรคในสัตว์ ที่ไม่ได้มีแค่ “โรคลัมปี สกิน” เสี่ยงระบาดหนักในหน้าฝน
Ingonn
11 มิถุนายน 2564 ( 16:47 )
1.6K
รวมโรคในสัตว์ ที่ไม่ได้มีแค่ “โรคลัมปี สกิน” เสี่ยงระบาดหนักในหน้าฝน

 

วิกฤต “โรคลัมปี สกิน” ยังคงระบาดหนัก เนื่องจากมีโค กระบือจำนวนมากกว่า 3,000 ตัว ได้ติดเชื้อแล้ว รวมทั้งหมด 41 จังหวัด ซึ่งได้มีวัคซีนล็อตแรกส่งเข้าสู่เกษตรกรในพื้นที่ระบาดแล้ว 60,000 โดส และจะมีมาเพิ่มอีก 300,000 โดสในสัปดาห์หน้า เรียกได้ว่าเป็นโรคระบาดอีกโรคหนึ่งที่ยังคงรุนแรงตั้งแต่เดือนมีนาคม และยังไม่มีท่าทีลดลงเลย

 

 


แต่เนื่องด้วยตอนนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อสุขภาพสัตว์และเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคในสัตว์ช่วงหน้าฝนได้ จากความชื้นสูง มีผลต่อภูมิคุ้มกันโรคของสัตว์ TrueID จึงได้รวบรวมโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังในสัตว์ช่วงหน้าฝน มาฝากทุกคน เพื่อช่วยกันเฝ้าระวัง

 

 

โรคในสัตว์ที่ไม่ได้มีแค่ “โรคลัมปี สกิน”

 

1. โรคสำคัญในสัตว์ปีก 2 โรค

 


1.1 โรคนิวคาสเซิล (Newcastle) 


เกิดจากเชื้อเอเวียนพารามิกโซไวรัส ซีโรไทป์ 1 มีคุณสมบัติในการจับกลุ่มตกตะกอนกับเม็ดเลือดแดง (hemagglutination) ติดต่อจากการหายใจ การกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน เกิดในไก่ทุกอายุ อาการชนิดรุนแรงจะทำให้ไก่ตายเป็นจำนวนมากทันทีกล้ามเนื้อสั่น หัวสั่น คอบิด ปีกตก อัมพาตก่อนตาย

 

ไม่มีการรักษาโดยตรง อาจให้วิตามินและสารอิเลคโตรไลท์ละลายน้ำให้ไก่กิน ไก่จะฟื้นโรคได้เร็วขึ้นและร่วมกับการให้ยาปฏิชีวนะเช่น ยาซัลฟาละลายน้ำให้กินเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย การป้องกันสามารถทำได้โดยการทำวัคซีน

 

 


1.2 โรคไข้หวัดนก (Avain Influenza )


โรคไข้หวัดนกเป็นโรคระบาดของสัตว์ปีกทุกชนิด แบ่งเป็นชนิดรุนแรงและไม่รุนแรง ชนิดรุนแรงสามารถแพร่ติดต่อถึงคนได้ กลุ่มเสี่ยงได้แก่ เกษตรกรผู้เลี้ยง คนชำแหละสัตว์ปีก และคนที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับสัตว์ปีก โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ การติดต่อเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย การติดต่อเมื่อได้รับเชื้อแล้วถูกขับออกมาทางมูล และแพร่ระบาดต่อไป โดยมีอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก หน้าบวม น้ำตาไหล อาการทางระบบประสาท เช่น ชัก คอบิด ท้องเสีย หรือขนยุ่ง ซึม ไข่รูปร่างผิดปกติ หงอน เหนียงสีคล้ำ หรือหน้าแข้งมีจุดเลือดออก

 

 

ในสัตว์ปีกไม่มีการรักษา เนื่องจากจะเป็นตัวแพร่เชื้อโรคต่อไปได้จึงใช้วิธีทำลาย แต่ป้องกันได้ด้วยการสร้างโรงเรือนแบบปิด หรือใช้มุ้งและตาข่ายคลุม เพื่อป้องกันนกเข้ามากินอาการ ถ่ายมูลและสัมผัสกับสัตว์ปีก หมั่นทำความสะอาดในโรงเรือนหรือเล้า ซึ่งเจ้าของสัตว์ปีกต้องเฝ้าระวังอาการป่วยในสัตว์ปีกที่เลี้ยงอยู่ หากจำเป็นต้องขนย้ายสัตว์ปีกให้ติดต่อขอใบอนุญาตเคลื่อนย้ายจากสัตวแพทย์ท้องที่

 

 

 

 

 

2. โรคสำคัญในสัตว์เคี้ยวเอื้อง 3 โรค

 


2.1 โรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) 


เกิดในสัตว์กีบคู่ ได้แก่ วัว ควาย แพะ แกะ และสุกร จากเชื้อไวรัส โดยการสัมผัสเชื้อโดยตรงและจากยานพาหนะที่ปนเปื้อนเชื้อ สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนซึ่งโรคนี้สามารถติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง โดยเฉพาะกับสัตว์ที่ไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะติดโรคจากสัตว์ที่ป่วยได้โดยง่าย เช่น ได้รับเชื้อที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสัตว์การสัมผัสจากสัตว์ป่วยโดยตรง หรือสิ่งขับถ่ายจากสัตว์ป่วย เช่น น้ำนม น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ ที่สำคัญสามารถแพร่กระจายมาสู่คนได้ ตามหลักการแล้วคนจะติดเชื้อจากโรคนี้ได้ทางผิวหนังที่มีบาดแผล ซึ่งจะติดต่อโดยตรงทางเยื่อบุเมือก หรือการดื่มนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรส์มาก่อน อาการไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

 

 

 

2.2 โรคเฮโมราจิกเซฟติซีเมียหรือโรคคอบวม (Haemorrhagic septicemia) 


การระบาดของโรคจะเกิดขึ้นในสภาวะที่สัตว์เกิดความเครียด เช่น ต้นหรือปลายฤดูฝน การเคลื่อนย้ายสัตว์หรือการใช้แรงงานสัตว์มากเกินไป จะปล่อยเชื้อออกมาปนเปื้อนกับอาหารและน้ำ เมื่อสัตว์ตัวอื่นกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อปนอยู่เข้าไป ก็จะป่วยเป็นโรคนี้และขับเชื้อออกมากับสิ่งขับถ่ายต่างๆ เช่นน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ทำให้โรคแพร่ระบาดต่อไป สัตว์ที่เป็นโรคแบบเฉียบพลันจะมีอาการซึม ไข้สูง และตายภายในเวลาอันรวดเร็วไม่เกิน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นโรคแบบเรื้อรังจะสังเกตเห็นอาการทางระบบหายใจคือ อ้าปากหายใจ หายใจหอบลึก ยืดคอไปข้างหน้า หายใจมีเสียงดัง ลิ้นบวมจุกปาก หน้า คอ หรือบริเวณหน้าอกจะบวมแข็งร้อน รักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ หรือยาซัลฟาต่างๆ เช่น อ๊อกซีเตตาไซคลิน เทอราไมซิน เพนนิซิลิน ซัลฟาไดมิดิน

 

 

 

2.3 โรคไข้ขาดำหรือ Black leg 


เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สัตว์ติดจากกินอาหารปนเปื้อนเข้าไป โรคไข้ขาดำหรือ Black leg ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ การอักเสบของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณต้นขาหลัง บริเวณที่อักเสบจะบวมร้อน มีอาการแทรกอยู่ภายใน เมื่อกดดูจะมีเสียงดังกรอบแกรบ ไข้สูง และเดินขากะเผลก จึงเรียกโรคนี้ว่า "โรคไข้ขา" การรักษาจะได้ผลดีเมื่อทำการรักษาตั้งแต่สัตว์เริ่มแสดงอาการโกยฉีดยาเพนนิซิลลิน (Penicillin) เข้ากล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดการอักเสบ หรือใช้อ๊อกซีเตตราไซคลิน (Oxytetracycline) หรือคลอเตตราไซคลิน (Chlortetracycline) ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน

 

 

 

 

3. โรคสำคัญในสุกร 3 โรค


3.1 โรคพีอาร์อาร์เอส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome , PRRS)


เป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจ อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล ระบบการหมุนเวียนอากาศ และสถานภาพสุขภาพของสุกรในฝูง สุกรพันธุ์ มักพบว่ามีการคลอดก่อนกำหนด แท้งในระยะท้ายของการตั้งท้อง (มากกว่า 100 วัน) ลูกที่คลอดอ่อนแอ อัตราการเกิดมัมมี่และลูกตายแรกคลอดสูง ส่วนสุกรดูดนม สุกรอนุบาล สุกรขุน มักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แคระแกร็น โตช้า และมักพบโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วยความรุนแรงของโรคจะลดลงเมื่อสุกรอายุมากขึ้น เชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ถูกทำลายได้ง่ายในสภาพอากาศร้อน และมีความคงทนต่ำต่อสภาพกรดด่าง เชื้อไวรัสที่แยกได้จากท้องที่เป็นชนิดที่ไม่รุนแรงมาก ประกอบกับการเลี้ยงสุกรในบ้านเราเลี้ยงในโรงเรือนปิด ทำให้ไม่มีการสะสมของเชื้อมากเช่นการเลี้ยงในโรงเรือนปิด ความสูญเสียจึงไม่รุนแรงดังเช่นที่มีรายงานในประเทศทางเขตหนาว

 

 


3.2 โรคอหิวาต์สุกร (CSF) 


เกิดจากเชื้อไวรัส ที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานในสภาพแวดล้อมปกติ เช่น ในโรงเรือน สิ่งปูรอง และมูลสัตว์ เชื้อไวรัสจะถูกทำลายโดยสารจำพวกด่าง เช่น โซดาไฟ และครีซอล ติดต่อโดยตรงจากสุกรป่วยในเล้าเดียวกัน โดนเชื้อไวรัสจะถูกขับปนออกมากับสิ่งขับถ่าย เช่น น้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ และปัสสาวะหรืออาจติดต่อทางอ้อมจากคน สัตว์เลี้ยง นก หนู แมลง และยานพาหนะที่ใช้ในการขนส่งสุกรเข้าออกจากฟาร์ม อาการ สุกรป่วยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ อาการป่วยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อไวรัสและภูมิคุ้มกันโรคในสุกรแต่ละตัว สุกรที่ได้รับเชื้อไวรัสชนิดรุนแรงมากจะแสดงอาการแบบปัจจุบัน โดยมีไข้สูง หนาวสั่น นอนสุมกัน เยื่อตาอักเสบ น้ำมูก น้ำตาไหล โรคนี้ไม่มีวิธีรักษา สัตว์ป่วยควรถูกทำลายแล้วฝังหรือเผาซาก ในประเทศที่ยังมีโรคนี้อยู่จะใช้วัคซีนเชื้อเป็นซึ่งให้ผลดีในการป้องกันความสูญเสียแต่ไม่อาจกำจัดโรคได้

 

 

 

3.3 โรคปากและเท้าเปื่อย 


ลักษณะเดียวกันกับโรคปากและเท้าเปื่อย ใน โค กระบือ แพะ เกิดจากเชื้อไวรัส เอฟ เอ็ม ดี (FMD) ที่พบในประเทศไทยมี 3 ไทป์ คือ โอ (O) เอ (A) และเอเชียวัน (Asia I) เชื้อทั้ง 3 ไทป์นี้ สัตว์ที่เป็นโรคนี้ จะมีไข้ ซึม เบื่ออาหาร หลังจากนั้นจะมีเม็ดตุ่มพอง เกิดที่ริมฝีปากในช่องปาก เช่น เหงือกและลิ้น ทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเกิดเม็ดตุ่มที่ระหว่างช่องกีบ ไรกีบ ทำให้เจ็บมาก เดินกะเผลก สามารถติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ได้ ทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง

 

 

 

 


ข้อมูลจาก สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ , สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง