รีเซต

หมากัด เสี่ยง "โรคพิษสุนัขบ้า" เป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย แต่ป้องกันได้ถ้ารู้ทัน

หมากัด เสี่ยง "โรคพิษสุนัขบ้า" เป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย แต่ป้องกันได้ถ้ารู้ทัน
Ingonn
20 พฤษภาคม 2564 ( 13:42 )
778

หลังจากมีข่าวสะเทือนใจที่ จ.สุรินทร์พบผู้ป่วยหญิงอายุ 39 ปี เป็นโรคพิษสุนัขบ้า จากการเลี้ยงแมวจรจัดที่ป่วยและตาย จนสุดท้ายผู้ป่วยก็เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า สร้างความเศร้าใจแก่ครอบครัวเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่าร้อยรายจากการเข้าตรวจรักษาผู้ป่วยอีกด้วย

 

 


โรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดได้ทุกฤดูกาล แต่กรมควบคุมโรคได้ว่าช่วงอากาศร้อน มีส่วนเพิ่มความเสี่ยงสูง เพราะสัตว์จะหงุดหงิดง่าย วันนี้ TrueID จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้ามาไว้ที่นี่ เพื่อเป็นขั้นตอนให้ได้ป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยก่อนเสี่ยงติดเชื้อ

 

 


HIGHLIGHT

 

  • โรคพิษสุนัขบ้าได้คร่าชีวิตผู้คนสูงถึง 60,000 คนต่อปี ทั้งๆ โรคนี้สามารถป้องกันได้

 

  • ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา คนที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตทุกราย หากไม่ได้รับวัคซีนและรักษาได้ทันท่วงที

 

  • สุนัขเป็นตัวแพร่เชื้อที่สำคัญมากที่สุด กว่า 95% ของผู้เสียชีวิตมีสาเหตุมาจากสุนัข รองมาคือ แมว

 

 

 


รู้จักโรคพิษสุนัขบ้า


โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำเป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์สู่คน มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าจะเสียชีวิตเกือบทุกราย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ในการรักษา แต่ทั้งนี้โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

 

 


พิษสุนัขบ้า ที่ไม่ได้มีแค่สุนัขที่บ้า


โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเชื้อเข้าทางบาดแผล ผ่านทางกัด ข่วน เลีย หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมทุกชนิดที่ติดเชื้อ เช่น สุนัข แมว หนู ลิง ค้างคาว โค กระบือ สัตว์ที่พบเป็นโรคพิษสุนัขบ้าบ่อยที่สุด คือ สุนัข ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ตลอดทั้งปี

 

โรคพิษสุนัขบ้าติดต่อโดยการสัมผัสกับน้ำลายจากการถูกกัด ข่วนหรือเลียบริเวณที่มีบาดแผลรอยถลอกหรือรอยขีดข่วนบาดแผล หรือถูกเลียบริเวณเยื่อบุตา หรือปาก เป็นต้น นอกจากนี้ การชำแหละซากสัตว์หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ดิบจากสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้

 

 


อาการของโรคพิษสุนัขบ้า


หลังได้รับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าผู้ป่วยจะแสดงอาการประมาณ 3 สัปดาห์ ถึง 3 เดือน ในบางรายอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะมีอาการก็ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ถูกกัด ขนาด และความลึกของบาดแผล รวมถึงภูมิต้านทานของคนที่ถูกสัตว์กัด โดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

 

1. ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามตัว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวายนอนไม่หลับ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บ คล้ายเข็มทิ่ม หรือคันอย่างมากบริเวณที่ถูกกัด ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค มีระยะเวลาประมาณ 2-10 วัน

 

 

2. ระยะที่มีอาการทางสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการสับสน วุ่นวาย กระสับกระส่าย อยู่ไม่นิ่ง เกิดอาการปวดเกร็งทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ มีอาการกลัวน้ำ จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "โรคกลัวน้ำ" ไม่อยากกลืนแม้กระทั่งน้ำลาย จึงทำให้น้ำลายไหล คนไข้เพศชายบางรายมีน้ำอสุจิไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว อาการจะมากขึ้นหากมีเสียงดัง หรือถูกสัมผัสเนื้อตัว จากนั้นผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการชักและเป็นอัมพาต ระยะนี้จะมีอาการประมาณ 2-7 วัน

 

 

3. ระยะสุดท้าย ผู้ป่วยอาจมีภาวะหายใจล้มเหลว แน่นหน้าอก หายใจไม่ออกหรืออาจชักเกร็ง  อัมพาต  หมดสติและเสียชีวิตในที่สุด 

 

 


สังเกตุสัตว์เป็นโรคพิษสุนัขบ้า


ส่วนใหญ่สุนัข แมว วัว กระบือ มีระยะพักตัวไม่เกิน 6 เดือน

 

1.ระยะเริ่มแรก  มีอาการประมาณ 2–3 วัน โดยสุนัขจะมีอารมณ์และอุปนิสัยเปลี่ยนไปจากเดิม  เช่น สุนัขจะปลีกตัวออกไปหลบซุกตัวเงียบๆ มีอารมณ์หงุดหงิด ตัวที่เคยกลัวคนก็จะกลับมาคลอเคลีย  เริ่มมีไข้เล็กน้อย ม่านตาขยายกว้างกว่าปกติ การตอบสนองต่อแสงของตาลดลง กินข้าวกินน้ำน้อยลง 

 

 

2.ระยะตื่นเต้น เริ่มมีอาการทางประสาท สุนัขจะกระวนกระวาย ตื่นเต้น หงุดหงิด ไม่อยู่นิ่ง กัดแทะสิ่งของ กัดทุกสิ่งไม่เลือกหน้า ถ้ากักขังหรือล่ามไว้จะกัดกรงหรือโซ่จนเลือดกบปากโดยไม่เจ็บปวด  เสียงเห่าหอนจะเปลี่ยนไป 

 

 

3.ระยะอัมพาต สุนัขจะมีคางห้อยตก ลิ้นมีสีแดงคล้ำห้อยออกนอกปาก น้ำลายไหลและไม่สามารถใช้ลิ้นได้เลย สุนัขอาจแสดงอาการขย้อนคล้ายมีอะไรอยู่ในลำคอ ขาอ่อนเปลี้ยทรงตัวไม่ได้ ล้มลงแล้วลุกไม่ได้ อัมพาตขึ้นทั่วตัวอย่างรวดเร็วและตายในที่สุด 
อาการสุนัขบ้ามีทั้งแบบดุร้ายและแบบซึม

 

 

สุนัขและแมวที่เป็น โรคพิษสุนัขบ้าจะแสดงอาการป่วยจนกระทั้งตายไม่เกิน 10 วัน

 

สุนัข ที่แสดงอาการแบบดุร้าย จะแสดงอาการในระยะตื่นเต้นให้เห็นเด่นชัดและยาวนาน แต่จะแสดงอาการในระยะอัมพาตสั้นมาก ที่แสดงอาการแบบซึม จะแสดงอาการในระยะตื่นเต้นสั้นมากจนไม่ทันสังเกตเห็น แต่จะแสดงอาการในระยะอัมพาตเด่นชัด

 

 

แมว อาการคล้ายสุนัขแต่ไม่ชัดเจน และพบอาการแบบดุร้ายมากกว่าแบบซึม 

 

 


คำแนะนำเมื่อถูกสัตว์กัด


1. รีบล้างแผลให้เร็วที่สุดด้วยน้ำสบู่และน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง นานอย่างน้อย 15 นาที ล้างทุกแผลและล้างให้ลึกถึงก้นแผล แล้วเช็ดแผลให้แห้งด้วยแอลกอฮอล์ เบตาดีน หรือ น้ำเกลือ ที่มีอยู่ที่บ้าน ใส่ยาฆ่าเชื้อบริเวณแผล เช่น ยาโพวิโดนไอโอดีน เป็นต้น

 

 

2. จดจำลักษณะและสังเกตอาการสัตว์ที่กัด รวมทั้งสืบหาเจ้าของ เพื่อสอบถามประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและสังเกตอาการสัตว์ที่กัดเป็นเวลา 10 วัน ถ้าสบายดีไม่น่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า แต่ถ้าสุนัขตายให้นำซากมาตรวจ

 

 

3. ไปพบแพทย์เพื่อรับการป้องกันรักษาที่ถูกต้อง ถ้ามีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้

 

 

 

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (PEP) 


ปัจจุบันมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง ฉีดเพียง 4-5 เข็ม ก็เพียงพอ อาจมีผลข้างเคียง คือ ปวดบริเวณที่ฉีดยาหรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งควรจะหายไปได้เองใน 1-2 วัน 

 

 


แนวทางดูแลสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัยจากพิษสุนัขบ้า


เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียาที่ใช้ในการรักษา และถ้าติดเชื้อจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยมีแนวทางในการป้องกันดังนี้


1.เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน ครั้งแรกเมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดทุกปี  
2.ไม่ปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง  


3.พาสุนัขหรือแมวที่ตนเลี้ยงไปทำหมันเมื่อไม่ต้องการให้มีลูก รวมถึงแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยทำหมันสุนัขหรือแมวที่ไม่มีเจ้าของ


4.ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง

 

 


การยึดหลักคาถา 5 ย. หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกสัตว์กัด


1.อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ  รวมทั้งไม่ยุ่งหรือเข้าใกล้สัตว์ที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ


2.อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่างๆ ตกใจ 


3.อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 


4.อย่าหยิบ ชามข้าวหรือย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร 


5.อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

 

 

 


ข้อมูลจาก สำนักโรคติดต่อทั่วไป , กรมควบคุมโรค , โรงพยาบาลศิริราช

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง