รีเซต

รู้จัก"โรคเพิร์ส"สาเหตุการสังหารหมูยกฟาร์ม 200 ตัว

รู้จัก"โรคเพิร์ส"สาเหตุการสังหารหมูยกฟาร์ม 200 ตัว
TrueID
7 มิถุนายน 2564 ( 09:37 )
4.5K
รู้จัก"โรคเพิร์ส"สาเหตุการสังหารหมูยกฟาร์ม 200 ตัว

จากข่าวเจ้าหน้าที่หลายฝ่าย ในอำเภอหาญใหญ่ สนธิกำลังร่วมกับ ปศุสัตว์ และ ชุดสารวัตรปศุสัตว์ พร้อมด้วย ฝ่ายป้องกันโรคสาธารณสุขเทศบาลเมืองคลองแห ร่วมทำลายซากหมู จำนวน 200 ตัว เนื่องจากพบว่า หมูในฟาร์มแห่งหนึ่ง ใน ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ ติดเชื้อโรคเพิร์ส หรือ PRRS ซึ่งเป็น โรคติดต่ออุบัติใหม่ของหมู ส่งให้ผลระบบทางเดินหายใจหมู บกพร่อง วันนี้ trueID จะพาไปรู้จักกับ"โรคเพิร์ส"ว่าคืออะไร?

 

 

"โรคเพิร์ส" คืออะไร?

 

โรคเพิร์ส หรือ พี อาร์ อาร์ เอส หรือ Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome เป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจ โดยมีรายงานการระบาดเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ.2530 ประเทศเยอรมนีในปี พ.ศ.2533 แล้วแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วทวีปยุโรป ในขณะที่มีการแพร่กระจายของโรค ความรุนแรงและสูญเสียในกลุ่มสุกรพันธุ์ค่อยๆ ลดลง แต่ไปมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจในกลุ่มสุกรอนุบาล และสุกรขุนมากขึ้น

 

ในระยะแรกยังไม่ทราบสาเหตุของโรค จึงมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น Mystery Swine Disease, Swine Infertility and Respiratory Syndrome (SIRS), New Pig Disease, Blue Ear, Porcine Epidemic Abortion and Respiratory Syndrome (PEARS)

 

ต่อมาในปี พ.ศ.2534 นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์สามารถแยกเชื้อซึ่งทำให้สุกรทดลองแสดงอาการเช่นเดียวกับสุกรป่วยได้เป็นผลสำเร็จจึงตั้งชื่อเชื้อไวรัสนี้ว่า "Lelystad virus" ขณะเดียวกันทางอเมริกาก็แยกเชื้อได้เช่นกันโดยตั้งชื่อว่า "VR-2332" หลังจากนั้นจึงมีการศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้อย่างกว้างขวาง

 

มีการพัฒนาการตรวจโรคทั้งด้านซีรั่มวิทยา และวิธีการแยกเชื้อให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว จากการศึกษาด้านซีรั่มวิทยาควบคู่ไปกับการแยกและพิสูจน์เชื้อบ่งชี้ว่าโรค พี อาร์ อาร์ เอส มีการแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในเขตที่มีการเลี้ยงสุกรอย่างหนาแน่น ประเทศเดียวที่ยังปลอดจากโรคนี้คือ ออสเตรเลีย

 

 

สาเหตุของโรค

 

เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Arteriviridae ซึ่งเป็น RNA ไวรัสชนิดสายเดี่ยว ขนาดเล็ก (45-65 nm) มีเปลือกหุ้ม เชื้อถูกทำลายได้ง่ายในสภาพอากาศร้อน (37oC ภายใน 48 ชั่วโมง) และมีความคงทนต่ำในสภาพกรด ด่าง (คงทนที่ pH 5.5-6.5)

 


มีเซลล์เพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถใช้เพาะเลี้ยงเชื้อไวรัสนี้ได้ เซลล์ที่ใช้ได้ดีที่สุดคือเซลล์แม็คโครฟาจที่เตรียมจากปอดลูกสุกรอายุ 4-8 สัปดาห์ เชื้อไวรัสนี้สามารถคงอยู่ในกระแสโลหิตได้เป็นเวลานาน แม้แต่ในระยะเดียวกับที่ตรวจพบแอนติบอดีก็ยังสามารถตรวจะพบเชื้อได้

 

นอกจากนั้นเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส ยังมีความหลากหลายทางด้านแอนติเจน เชื้อที่แยกได้จากอเมริกาเป็นคนละชนิดกันกับทางยุโรป โดยมีคุณสมบัติของแอนติเจนบางส่วนร่วมกันบ้าง แต่ไม่เหมือนกันทั้งหมด และเชื้อที่แยกได้จากทางอเมริกาเองจะมีความหลากหลายมากกว่าเชื้อที่แยกได้จากทางยุโรป

 

 

การแพร่กระจายของเชื้อ

 

- โดยการนำสุกรป่วย หรือสุกรที่เป็นตัวอมโรคเข้าสู่ฝูง


- โดยการแพร่กระจายของเชื้อทางอากาศภายในรัศมี 3 กิโลเมตร (โดยทั่วไปประมาณ 2 กิโลเมตร)


- โดยการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ป่วย เชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส จำนวนมากจะถูกขับออกมาทางลมหายใจและอุจจาระเชื้อจึงแพร่จากสุกรป่วยไปยังสุกรอื่นๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะจากการดมและเลียกัน

 

 

อาการของโรค


อาการและความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ การจัดการฟาร์ม การสุขาภิบาล ระบบการหมุนเวียนอากาศ และสถานภาพสุขภาพของสุกรในฝูง


- สุกรพันธุ์ พบว่ามีการคลอดก่อนกำหนด แท้งในระยะท้ายของการตั้งท้อง (มากกว่า 100 วัน) ลูกที่คลอดอ่อนแอ อัตราการเกิดมัมมี่และลูกตายแรกคลอดสูง


- สุกรดูดนม สุกรอนุบาล สุกรขุน มักมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แคระแกร็น โตช้า และมักพบโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วยความรุนแรงของโรคจะลดลงเมื่อสุกรอายุมากขึ้น สุกรที่อายุมากกว่า 1 เดือน จะแสดงอาการไม่เด่นชัดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อน


หลักจากมีการระบาดของโรคนี้ไประยะหนึ่ง ความรุนแรงของโรคจะค่อยๆ ลดลง ซึ่งอาจเนื่องมาจากมีการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ทำให้สุกรป่วยแสดงอาการไม่รุนแรง หรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงของเชื้อไวรัสทำให้ความรุนแรงลดลง เพื่อให้เชื้อสามารถคงอยู่ในฝูงได้เป็นเวลานานในระยะหลังๆ มีรายงานการตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส พี อาร์ อาร์ เอส แต่มักไม่พบว่ามีความสูญเสียเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด

 

 

มีวัคซีนป้องกันไหม


ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีวัคซีน พี อาร์ อาร์ เอส ออกมาจำหน่ายหลายชนิดทั้งชนิดเชื้อเป็นและเชื้อตาย โดยมีประสิทธิภาพในการคุ้มโรคแตกต่างกันออกไป วัคซีนเชื้อตายให้ผลไม่ดีในแง่ความคุ้มโรคและการลดการสูญเสียเมื่อเทียบกับวัคซีนเชื้อเป็น ความหลากหลายทางด้านแอนติเจนของตัวเชื้อเองก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ถึงแม้ว่าวัคซีนสามารถให้ความคุ้มโรคข้ามสายพันธุ์ได้แต่ความคุ้มโรคที่เกิดขึ้นจะดีกว่า ถ้าวัคซีนที่ใช้มีความใกล้เคียงกับเชื้อที่ระบาดในท้องที่นั้นๆ นอกจากนั้นวัคซีนยังมีราคาค่อนข้างสูงมาก

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง